DotProperty.co.th

กฎหมายค้ำประกันใหม่…ใครได้ประโยชน์


หลายคนยังงงกับกฎหมายค้ำประกันที่รัฐบาลเพิ่มอนุมัติใหม่ใช้กันในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ มีหลายคนตั้งคำถามว่า แล้วมันมีข้อดี ข้อเสียยังไง แล้วใครกันที่ได้ประโยชน์

จากข่าวต่างๆที่ประโคมกันอยู่ในช่วงนี้ อ่านดูแล้วก็เหมือนกับว่า กฎหมายคุ้มครองผู้ค้ำประกันมากขึ้น ในเรื่องของภาระหน้าที่การรับผิดชอบที่เป็นไปตามการระบุไว้ในสัญญาที่ทำไว้ร่วมกันเท่านั้น และยกเลิกข้อตกลงที่กำหนดให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกันกับลูกหนี้ร่วม และเมื่อลูกหนี้ผิดนัด ให้เจ้าหนี้ทำหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด และไม่สามารถเรียกเก็บค่าใดๆหรือตัดสิทธิ์ใดๆก่อนกำหนด แต่เจ้าหนี้สามารถเรียกเก็บเงินกับสถาบันทางการเงินได้เหมือนกับเรียกเก็บจากลูกหนี้

ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นหมายถึงการให้ความคุ้มครองกับผู้ค้ำประกัน…ใช่มั้ยล่ะคะ

แต่…ปัญหาที่ตามมาคือ ความกระทบกระเทือนต่อสถาบันทางการเงินและผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งได้รับผลกระทบเต็มๆจากกฎหมายดังกล่าวนี้

เริ่มจากธุรกิจรายย่อยหรือ SMEs ซึ่งไม่ได้มีทรัพย์สินมากมายเพื่อค้ำประกัน จึงต้องพึ่งพาบุคคลที่มีทรัพย์สินมูลค่าสูงมาเพื่อค้ำประกันให้ แต่กฎหมายใหม่ระบุไว้ว่า ให้ยกเลิกข้อตกลงกำหนดให้ผู้ค้ำประกันรับผิดชอบอย่างเดียวกันกับลูกหนี้ร่วม จึงทำให้เกิดปัญหาเรื่องสถาบันการเงินหรือธนาคารอนุมัติกู้เงินยากขึ้น ไม่เว้นแม้กระทั่งกลุ่มบุคคลธรรมดาที่จะกู้เงินได้ยากขึ้นด้วย

สำหรับกลุ่มของธนาคารนั้น ก็เรียกได้ว่าได้รับผลกระทบมากเช่นกัน โดยเฉพาะในเรื่องความเสี่ยงของการปล่อยกู้ ที่อาจก่อให้เกิดหนี้เสียหรือ NPL ที่สูงขึ้น เพราะไม่สามารถเรียกเก็บเงินจากผู้ค้ำประกันได้ ทั้งนี้ความน่าเชื่อถือของการให้บริการด้านหนังสือค้ำประกันของสถาบันทางการเงินก็จะไม่เกิดความหมาย เนื่องจากกฎหมายใหม่ได้ระบุไว้ว่า การที่สถาบันทางการเงินจะเรียกเงินจากลูกหนี้ได้ก็ต่อเมื่อฟ้องร้องชนะคดีความก่อน ดังนั้นผลก็เท่ากับว่าหนังสือค้ำประกันไม่มีความสำคัญและจะไม่ศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไป และทำให้ธนาคารเสียรายได้ในส่วนนี้ไปในที่สุด

เห็นทีคงต้องหารือเรื่องกฎหมายใหม่นี้กันอีกยาว ข้อสรุปอยู่ที่ไหน…ยังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจน ทั้งภาครัฐบาลและเอกชน คงจะต้องพูดคุยหาทางแก้ไขถึงผลกระทบต่อภาคส่วนต่างๆที่ไม่ใช่แค่การให้ประโยชน์ผู้ค้ำประกันเพียงฝ่ายเดียว