สวัสดีค่ะวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับ กองทุนอสังหา สำหรับเพื่อเป็น ทางเลือกสำหรับนักลงทุนเริ่มต้น ที่แม้ว่าจะมีกระบวนการขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์เพื่อการเริ่มต้น แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถกระทำกันได้ง่ายๆ เมื่อใดก็ได้ที่ใจอยาก อันเป็นที่มาของ ‘กองทุนอสังหาริมทรัพย์’ ที่เพิ่มเข้ามาเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้เริ่มต้น เพื่อไม่เป็นการเสียเวลาเราไปชมกันเลย
กองทุนอสังหาริมทรัพย์ คืออะไร?
ลองนึกภาพตามว่า นาย A ต้องการเงินทุนเพื่อไปเปิดกิจการร้านขายของ แต่มีเงินไม่เพียงพอ จึงมาขอระดมทุน (Crowdfunding) จากญาติสนิทมิตรสหาย โดยให้คำสัญญาว่า จะเจียดแบ่งรายได้ให้กับทุกคนที่ร่วมทุน ขอแค่เพียงอย่างเดียวคือ นาย A ยังคงมีอำนาจบริหารและตัดสินใจทิศทางของร้านได้ทุกประการ
ทุกคนเห็นดีเห็นงาม ร่วมลงขันให้นาย A ไปเปิดร้าน และรอรับเงินส่วนแบ่งปันผลในช่วงสิ้นแต่ละไตรมาสทีนี้ ลองเปลี่ยนจากนาย A มาเป็นกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ และร้านขายของเป็นห้างเมกะสโตร์ คุณก็จะได้ ‘กองทุนอสังหาริมทรัพย์’ (รายละเอียดอาจจะแตกต่างกันไปตามประเภท แต่โดยเนื้อหาสาระหลักแล้ว ไม่ต่างกัน)…
นั่นเพราะการสร้างหรือพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยทั่วไป พูดกันถึงเงินหลักร้อยล้านเป็นขั้นต่ำ และการระดมทุน ส่วนหนึ่งก็เพื่อลดภาระของผู้เริ่มต้นโครงการ และสามารถกำหนดทิศทางการบริหารงานได้ตามที่เห็นสมควร ผู้ร่วมลงทุนก็จะได้ส่วนแบ่งที่สมน้ำสมเนื้อ โดยที่ไม่ต้องกระโจนลงปากเหวเสียเอง
เหตุใดกองทุนอสังหาริมทรัพย์จึง ‘น่าเล่น’
ถ้าให้แจกแจงความน่าสนใจของกองทุนอสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้เริ่มต้นการลงทุนแล้วนั้น จะพบว่ามีข้อดีหลายประการ คือ
-ใช้เงินลงทุนน้อย เมื่อเทียบกับการลงทุนประเภทอื่นๆ (รวมถึงการลงทุนซื้ออสังหาฯ ด้วยตนเอง)
-ไม่ต้องยุ่งยากกับขั้นตอนการบริหารงานอสังหาฯ เพราะมีคนคอยดำเนินการให้เสร็จสรรพ
-กระจายความเสี่ยง เพราะผู้พัฒนาอสังหาฯ ย่อมไม่ลงทุนแค่เพียงที่ใดที่หนึ่งเพียงอย่างเดียว
-สภาพคล่องที่สูง หากไม่พึงพอใจผลประกอบการ ก็สามารถปล่อยขายออกไปได้ทันที
-ผลตอบแทนที่คุ้มค่า แม้ไม่พุ่งเท่าหุ้นตอนช่วงตลาดกระทิงดุ แต่มั่นใจว่าจะไม่แกว่งจนต้องหัวใจวายเฉียบพลัน
ข้อควรจำในการลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์
กองทุนอสังหาริมทรัพย์ กล่าวโดยนัยหนึ่ง ก็คือการที่ผู้ลงทุนฝากให้บริษัทที่มีความพร้อมทั้งในด้านการดำเนินการ ขั้นตอน และประสบการณ์ ช่วยลงทุนและรับความเสี่ยง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณในฐานะผู้ร่วมทุนจะสามารถนั่งนิ่งอย่างไร้กังวลได้ และควรอย่างยิ่ง ที่จะพิจารณาองค์ประกอบต่อไปนี้ควบคู่กันไป
-อสังหาริมทรัพย์ที่ผ่านมาของกองทุนฯ ลงทุนไปนั้น เป็นประเภทใด สามารถให้ผลตอบแทนได้อย่างสม่ำเสมอ หรือเป็นสาธารณูปโภคที่ขาดไม่ได้หรือไม่ (เช่น บางกองทุนฯ จะลงทุนในกิจการอย่างเช่นโรงพยาบาล หรือโรงแรม เป็นต้น)
-เปอร์เซ็นต์ผู้เช่าสูง และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (เช่น โครงการคอนโดมิเนียมใจกลางเมือง หรือ Community Mall ที่มีโอกาสเติบโต)
-ค่าเช่ามีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างคงตัว หรือมากขึ้นในระดับที่รับได้ (เพราะจำไว้ว่า ค่าเงินในวันนี้ อาจจะไม่เท่ากับในอนาคต)
-สภาพคล่องของกองทุนอยู่ในลักษณะใด มีการจ่ายปันผลต่อเนื่องหรือไม่ (จำเอาไว้ว่า คุณกำลังวางแผนรับผลประโยชน์ระยะยาว ไม่ใช่เล่นหุ้นแบบสวิงช่วงกระทิงดุ…)
-นักลงทุนให้ความสนใจ (เป็นตัวบ่งชี้ศักยภาพของกองทุนได้เป็นอย่างดี)
-ทำเลที่ดี (เพราะนี่คืออสังหาริมทรัพย์ จำเอาไว้ว่า ทำเล ทำเล และทำเลคือทุกสิ่ง)
แน่นอนว่าคงไม่ใช่ทุกกองทุนที่จะสามารถลงล็อคได้ตาม Checklist ที่กำหนดไว้ แต่อย่างน้อย ถ้ามันมีคุณสมบัติเกินครึ่ง ก็น่าจะประกันความปลอดภัยของเงินทุนและการปันผลที่จะตามมาได้บ้าง
Freehold หรือ Leasehold
อย่างไรก็ดี การลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ก็มีประเภทปลีกย่อยที่ควรให้ความสนใจอยู่อีกส่วนหนึ่งนั่นคือ Freehold หรือ Leasehold ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ Freehold คือการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้จัดตั้งกองทุนเป็นเจ้าของอสังหาฯ นั้น ‘เต็มร้อย’ และก่อให้เกิดประโยชน์ในระยะยาว แต่ Leasehold นั้น คือการลงทุนที่กองทุนดำเนินการในพื้นที่ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของเต็มร้อย และดำเนินการด้วยระยะเวลาจำกัด (ประมาณ 30 ปี) และมูลค่าของพื้นที่นั้นจะลดลงเรื่อยๆ พร้อมกับผลประโยชน์ที่ผู้ลงทุนจะได้รับ
เช่นนั้นแล้ว เราควรเลือกแต่ Freehold หรือไม่? คำตอบอาจจะขึ้นกับว่า โครงการอสังหาฯ ที่กองทุนนั้นดำเนินการลงทุน มีศักยภาพและความคุ้มค่าเพียงใด และให้ผลตอบแทนที่ดีพอสำหรับการลงทุนหรือไม่ เช่น โครงการห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ หรือคอนโดมิเนียมกลางเมือง แม้จะเป็น Leasehold แต่ผลตอบแทนก็สามารถแซงหน้าอัตราเสื่อมได้อย่างสบายๆ ก็ยังจัดได้ว่าเป็นหนึ่งในการลงทุนที่น่าลอง
กองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่น่าสนใจ
ถัดจากนี้ เป็นรายนามของกองทุนอสังหาริมทรัพย์บางส่วนที่น่าสนใจ สำหรับผู้ที่คิดเริ่มต้นอยากจะลงทุนในแนวทางดังกล่าว
–QHPF : Quality House Leasehold Property Fund เจ้าของอาคารสำนักงานสามแห่งย่านใจกลางเมือง อัตราผู้เช่าสูง ปันผลต่อเนื่อง เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจ
–CPNRF : CPN Retail Growth Leasehold Property Fund กลุ่มกองทุนอสังหาริมทรัพย์ของเครือเซ็นทรัลพัฒนา (CPN) เรื่องโครงการไม่ต้องพูดถึง เปิดหนึ่งแห่งอัตราการจองพื้นที่ข้ามปี เติบโตต่อเนื่อง ปันผลดี และทำเลที่ยอดเยี่ยมแบบวางหมากรุกลงจุดยุทธศาสตร์
–LHSC : LH Shopping Centers Leasehold Real Estate Investment Trust กลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์เจ้าของห้างสรรพสินค้า Terminal 21 แม้จะอ่อนอายุ แต่ทำเลที่สุดยอดติดหัวมุมแยกอโศก เติบโตต่อเนื่อง เป็นอีกหนึ่งกองทุนที่น่าจับตา
–Digital Telecommunications Infrastructure Fund (DIF) [ชื่อเดิม True Telecommunications Growth Infrastructure Fund: TRUEIF] หนึ่งในสามผู้นำด้านโทรคมนาคม เน้นการลงทุนในสาธารณูปโภคด้านการสื่อสารเป็นหลัก อันเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในยุคปัจจุบัน ประกอบกับล่าสุดสามารถประมูลคลื่นความถี่ 4G ได้สำเร็จ การลงทุนกับค่ายนี้น่าจะเป็นทางเลือกที่หอมหวานอยู่ไม่น้อย
ลงประกาศฟรี !!! ไม่มีค่าใช้จ่ายลงประกาศเลย คลิ๊ก …
ขายคอนโดมือสอง บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ที่ดิน กับ Dot Property ขายง่าย ขายไว หรือต้องการซื้อ-เช่า !!! คอนโดมือสอง บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ที่ดินทั่วไทยมากกว่า 300,000 รายการคลิ๊กที่นี่