คมนาคมดันเมกะโปรเจ็กต์ทะลวงเส้นทางสู่ภาคใต้ งบก้อนโตกว่า 3.5 แสนล้าน จากโครงการ ‘มอเตอร์เวย์-ไฮสปีดเทรน-รถไฟทางคู่’ ครม. อนุมัติ พ.ร.ฎ.เวนคืน แล้ว และถนนเลียบชายฝั่งทะเล 4 โครงการงบกว่าพันล้านบาท
ครม. อัด 3.5 แสนล้าน! เดินหน้า อภิโปรเจ็กต์
นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในปีงบประมาณ 2561-2562 อยู่ระหว่างการเร่งพัฒนาโครงการต่าง ๆ ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม โดยเฉพาะหน่วยงานหลัก ๆ อย่างกรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในเส้นทางสู่พื้นที่ภาคใต้ ซึ่งมีหลายโครงการ คิดเป็นวงเงินลงทุนไม่น้อยกว่า 3.5 แสนล้านบาท
โดยบางโครงการอยู่ในกระบวนการ พร้อมนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ อีกหลายโครงการอยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก่อนจะเร่งนำเสนอ ครม. อนุมัติต่อเนื่องกันไป
นายชาติชาย ระบุว่า “มอเตอร์เวย์ เส้นทางบางปะอิน นครราชสีมา และบางใหญ่-กาญจนบุรี รัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐานงานโยธา ส่วนระบบบริหารจัดการ งานระบบและซ่อมบำรุง จะเปิดให้ร่วมทุนพีพีพี แต่เส้นทางนครปฐม-ชะอำ เป็นการเปิดให้มีการร่วมลงทุนพีพีพีทั้งระบบ และโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สคร. ซึ่งคาดว่าจะเร่งลงนามสัญญาให้ได้ภายในปีนี้ ส่วนรถไฟทางคู่เฟส 2 ร.ฟ.ท. ส่งเรื่องมาที่กระทรวงคมนาคมครบทั้งหมดแล้ว ก่อนเร่งเสนอ สศช. กลั่นกรอง แล้วจึงส่งกลับมาที่หน่วยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ก่อนเสนอ ครม. ต่อไป”
นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า อยู่ระหว่างการเร่งนำเสนอโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) เส้นทางนครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 109 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 6.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเชื่อมต่อกับมอเตอร์เวย์เส้นทางหมายเลข 81 (บางใหญ่-กาญจนบุรี) ของพื้นที่โซนภาคตะวันตก ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สคร. ก่อนจะนำเสนอ ครม. ขออนุมัติเพิ่มกรอบวงเงินค่าเวนคืนอีกราว 1.4 หมื่นล้านบาท และเร่งส่งมอบพื้นที่ตามที่ได้ตัวผู้รับจ้างในแต่ละสัญญาครบแล้ว เพื่อเร่งงานโยธาให้สำเร็จตามแผนต่อไป
นอกจากนั้น ยังมีโครงการทางยกระดับบนถนนหมายเลข 35 (ธนบุรี-ปากท่อ) พร้อมงานปรับปรุงขยายทั้ง 2 ฝั่ง วงเงินรวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเชื่อมต่อจากทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตกของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) อีกทั้งยังมีโครงการส่วนต่อขยายทางยกระดับปิ่นเกล้า-นครชัยศรี และขยายถนนเส้นทางหมายเลข 338 ระยะทาง 21 กิโลเมตร วงเงินประมาณ 6,000 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 เส้นทางนี้ จะช่วยให้ถนนพระราม 2 และถนนบรมราชชนนีลงสู่พื้นที่ภาคใต้ได้อย่างสะดวกรวดเร็วขึ้น
คมนาคมเร่งเดินหน้าถนนเลียบอ่าวไทย
ด้าน นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า ในปี 2561 มีโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทางแยกเส้น ทล.37 (บายพาสหัวหิน) จ.ประจวบคีรีขันธ์ วงเงินประมาณ 400 ล้านบาท โดยจะลงนามสัญญาภายในวันที่ 31 มี.ค. นี้ นอกนั้นเป็นโครงการก่อสร้างและซ่อมบำรุงขนาดเล็ก สำหรับถนนเลียบชายฝั่งทะเลภาคใต้ (รอยัล โคสต์) ในปีนี้มี 1 โครงการ ส่วนปี 2562 มี 3 โครงการ รวมทั้ง 4 โครงการ เป็นวงเงินลงทุน 1,094 ล้านบาท โดยลงนามสัญญาครบทั้งหมดแล้ว ขณะนี้ผู้รับเหมาได้เริ่มเข้าเคลียร์พื้นที่ เพื่อเตรียมงานก่อสร้างบางส่วน
สำหรับนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงคมนาคม และรักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า อยู่ระหว่างการผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 211 กิโลเมตร วงเงินลงทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) อยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม
นอกจากนั้น ยังมีโครงการรถไฟทางคู่ เส้นทางนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กิโลเมตร วงเงินลงทุนประมาณ 2 หมื่นล้านบาท เส้นทางหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 90 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 1 หมื่นล้านบาท และเส้นทางประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 1.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้ ได้ตัวผู้รับจ้างไปดำเนินการครบทั้งหมดแล้ว อยู่ระหว่างการเร่งเข้าพื้นที่ก่อสร้างโครงการ
ส่วนในระยะต่อไป ยังมีโครงการเส้นทางชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 2.4 หมื่นล้านบาท และเส้นทางสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 5.7 หมื่นล้านบาท อีกทั้งยังมีเส้นทางชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 8,000 ล้านบาท และเส้นทางสุราษฎร์ธานี-พังงา-ภูเก็ต ระยะทาง 158 กิโลเมตร วงเงินลงทุนประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียดก่อนที่จะส่งมอบให้ ร.ฟ.ท. ดำเนินการต่อไปอีกด้วย
ที่มา หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,353