ครม. เคาะกฎหมายระบบรางเดือนมิถุนา “กรมราง” มาแน่ปลายปี 64 นี้

หนึ่งในดัชนีชี้วัดความก้าวหน้าของประเทศที่เป็นที่ยอดรับในระดับสากลก็คือการมีระบบขนส่งระบบราง และหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบโดยตรง หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “กรมราง” ที่มีมาตรฐานและได้ประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกล่าวถึงข้อได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์ของประเทศไทยนั้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นหนึ่งในทำเลยุทธศาสตร์ที่ดีที่สุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลยก็ว่าได้ เพราะตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ได้เปรียบทางเศรษฐกิจ การเคลื่อนไหวทางการค้าที่สำคัญในกลุ่มประเทศที่มีมูลค่าสูงของภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น สาธารณรัฐประชาชนจีน มาเลเซีย สิงคโปร์ จำเป็นต้องใช้ระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ผ่านประเทศไทยแทบทั้งสิ้น

แถมยังไม่นับรวมถึงการเป็นจุดตัดของเส้นทางการค้าระหว่างประเทศเพื่อบ้านไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม พม่า ลาว และกัมพูชา ซึ่งต่างก็มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเพื่อนบ้านนั้นก็จำเป็นต้องอาศัยระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ผ่านประเทศไทยด้วยเช่นกัน และนั่นจึงเป็นที่มาของ กฎหมายขนส่งทางราง ฉบับใหม่ ที่จะก่อกำเนิด “กรมราง” ที่คาดว่าจะได้รับการเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในเดือนมิถุนายนนี้ และจะมีผลบังคับภายในสิ้นปี 2564

Image credit : posttoday.com
Image credit : posttoday.com

กฎหมายขนส่งทางราง ฉบับใหม่ ก่อกำเนิด “กรมราง” คาดมีผลบังคับภายในสิ้นปี 2564

สาระสำคัญ ในพ.ร.บ.การขนส่งทางราง ฉบับล่าสุดนี้ จะเป็นการวางกรอบนโยบายการทำงานภารกิจของ กรมการขนส่งทาง (ขร.)ในการกำกับดูแล เสนอแนะ นโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนการพัฒนาด้านการขนส่งทางราง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรางให้มีโครงข่ายที่สมบูรณ์ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ เชื่อมต่อกับการขนส่งระบบอื่น และประเทศเพื่อนบ้าน กำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัย การบำรุงทาง และการประกอบกิจการเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว ประหยัด และปลอดภัย ในการเดินทาง ภายใต้หน่วยงาน“กรมราง”ที่กำลังจะเกิดขึ้นตามมา

ในระหว่างนี้ทางกระทรวงคมนาคมก็ได้มอบหมายให้กรมการขนส่งทาง (ขร.) เตรียมความพร้อมกฎหมายลำดับรองประเภท ร่างกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศต่างๆ ที่ต้องใช้ดำเนินการตามร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง คู่ขนานกับการเสนอร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางรางด้วย เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าในการบังคับใช้กฎหมายตามที่กำหนดไว้

โดยหนึ่งในสิ่งที่จะเกิดเป็นรูปธรรมตามนโยบายดังกล่าวก็คือ สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง หรือ “กรมราง” ซึ่งบทบาทสำคัญของ กรมราง คือ หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีระบบรางของประเทศ ผลิตวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง รวมถึงเป็นหน่วยงานในการประสานให้ความร่วมมือกับองค์กรต่างๆทั้งในและต่างประเทศในการพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง และบทบาทสำคัญอีกประการของ กรมราง คือ การพัฒนาบุคลากรด้านระบบราง รวมถึงการจัดทำฐานข้อมูลด้านเทคโนโลยีระบบรางสำหรับใช้เป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงในโครงการต่างๆในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างรถไฟทางคู่ และโครงการรถไฟความเร็วสูง (High Speed Train) รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ซึ่งถือเป็นเส้นทางแห่งโอกาสการพัฒนาเศรษฐกิจไทยที่สำคัญที่สุดในตอนนี้

โดยเป้าหมายเร่งด่วนของสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง หรือ กรมราง คือ การวิจัยชิ้นส่วนในระบบราง เพื่อให้สามารถผลิตรถไฟในประเทศ (Local Content) ได้ตามนโยบาย Thai First รวมทั้งการวิจัยเพื่อสร้างรถไฟ EV มาใช้ในประเทศไทย โดยฝีมือนักประดิษฐ์คนไทย การเร่งสร้างบุคลากรผู้ที่มีความรู้ความสามารถในสายงานระบบรางโดยตรง โดยเฉพาะนักวิชาการและสถาบันการศึกษาในพื้นที่ โดยมอบหมายให้ทางเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนทำงานประสานบูรณาการร่วมกับอาจารย์มหาวิทยาลัยท้องถิ่นที่มีโครงการขนส่งมวลชนขนาดรองในเมืองภูมิภาคเพื่อให้ได้เข้าถึงปัญหาและรูปแบบในการแก้ไขที่เหมาะสมกับบริบทในแต่ละพื้นที่อย่างแท้จริง นอกจากนี้ได้มอบให้ กรมการขนส่งทาง (ขร.) พิจารณามอบทุนสนับสนุน เพิ่มเติม และรวมถึงการติดต่อขอความร่วมมือจากประเทศที่ได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือ เช่น ประเทศเยอรมนี ญี่ปุ่น เกาหลี ฝรั่งเศส เป็นต้น ส่งผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัยในระดับนานาชาติมาช่วยจัดตั้ง “กรมราง” เพราะถือว่าเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ผ่านมาแล้ว ซึ่งจะทำให้การจัดตั้งสถาบันบรรลุผลสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ซึ่งแผนการก่อตั้ง “กรมราง”ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ก็เพื่อการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งและเศรษฐกิจของภูมิภาค ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยี อุตสาหกรรม และการเชื่อมโยงการค้าระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศในวงกว้าง พร้อมกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน คือ ระบบการสื่อสาร ระบบการเงิน และระบบการขนส่งเพื่อสนับสนุนโอกาสทางการค้าและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย รวมถึงเพื่อกระจายโอกาสและความเจริญให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ นำไปสู่การเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจของประเทศไทยและเศรษฐกิจในระดับสากลต่อไป

ที่มา : https://www.dailynews.co.th/economic/844521