ตั้งแต่ในช่วงกลางปี 2563 เป็นต้นมา ทั้งผู้พัฒนาอสังหาฯ รวมไปถึงนักลงทุนในตลาดบ้าน ต่างก็ออกมาบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ตลาดบ้านจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้งตั้งแต่ในช่วงปลายปี 2563 เป็นต้นไป จากทั้งปัจจัยการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางภาครัฐรวมไปถึงอัตราการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ลดลงจากช่วงกลางปี 2563
แต่หลังจากที่ได้มีรายงานการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนรวมกว่า 300 ชีวิต ในช่วงต้นเดือนมกราคม ปี 2564 ที่ผ่านมา ก็ได้เริ่มทำให้ธุรกิจวงการอสังหาฯ กลับมาสั่นสะเทือนอย่างหนักอีกครั้ง เนื่องจากการที่เชื้อไวรัสโควิด-19 ได้กลับมาแพร่ระบาดอีกนี้ เป็นผลทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มมีการกลับมาชะลอตัว ซึ่งก็ส่งผลให้กลุ่มผู้บริโภคในตลาดบ้านทั้งกลุ่มที่ซื้อเพื่อการลงทุนและกลุ่มผู้ซื้อเพื่อการอยู่อาศัยจริง ล้วนแล้วแต่ขาดกำลังในการซื้อรวมถึงชะลอการซื้อโครงการต่าง ๆ ไปเพื่อที่จะรักษาเงินสดสำหรับใช้จ่ายยามฉุกเฉินไว้ก่อน
โดยศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ได้ระบุว่า ทิศทางของตลาดบ้านในช่วงปี 2564 นั้น จะขึ้นอยู่กับปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ถ้าหากภาพรวมของเศรษฐกิจทั้งระบบมีแนวโน้มที่ดีขึ้นก็จะเป็นการสร้างรายได้และกำลังการซื้อของผู้บริโภคกลุ่มเรียลดีมานด์ให้กลับมาสู่ตลาดบ้านอีกครั้ง จากการคาดการณ์ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) กล่าวว่าหากไม่มีปัจจัยลบต่าง ๆ มาเพิ่ม เศรษฐกิจไทยในปี 2564 ก็จะฟื้นตัวกลับมาเป็นบวกที่ 4% จากฐานเดิมที่ติดลบ 6% ในช่วงปี 2563 ได้
ทางด้านตลาดบ้านเองนั้น นายวิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ได้คาดการณ์ว่าตลาดบ้านจะค่อย ๆ ฟื้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 โดยให้สมมุติฐานภายใต้ปัจจัยที่ว่าไม่มีสถานการณ์ลบทางการเมืองเข้ามากระทบ
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าสำหรับช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 นี้ มีปัจจัยที่น่าติดตามหลาย ๆ ปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยเรื่องของเศรษฐกิจที่ทางผู้พัฒนาเองก็ยังคงรอมาตรการจากภาครัฐที่จะช่วยสนับสนุนกำลังซื้อของผู้บริโภค รวมไปถึงในเรื่องของวัคซีนโควิด-19 ว่าสุดท้ายแล้วจะเป็นอย่างไร จะมีการซื้อวัคซีนสำหรับชาวไทยทั้งประเทศหรือไม่ ตลอดจนในเรื่องของปัจจัยด้านการเมืองที่ถ้าหากว่าไม่มีมาตรการป้องกันโควิด-19 แล้ว จะมีการประท้วงที่รุนแรงกลับมาอีกหรือไม่ และทางรัฐบาลจะมีท่าทีอย่างไร ซึ่งปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้ล้วนแต่ส่งผลอย่างมากต่อตลาดอสังหาฯ ทั้งสิ้น
และปัจจัยที่สำคัญอย่างสุดท้ายที่ถือเป็นปัจจัยบวกอย่างมากต่อผู้บริโภค ก็คือปัจจัยในเรื่องของดอกเบี้ยที่อยู่ที่ 0.50% ต่อปี โดยถือเป็นอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับที่ต่ำมากซึ่งจะเป็นแรงสนับสนุนในการขอสินเชื่อของผู้บริโภค ซึ่งกรณีที่เป็นผลดีที่สุดที่ตลาดอาจขยายตัวนั้น อาจขยายได้ถึง 10.2% เลยทีเดียว ทำให้ในแง่มูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์จะอยู่ที่ราว 9.5 แสนล้านบาท หรือหากไม่เป็นไปตามคาดการณ์ และมีปัจจัยลบอื่น ๆ เข้ามาเพิ่มเติมนั้นก็คาดการณ์ว่ากรณีที่เลวร้ายที่สุดก็คือตลาดจะยังคงติดลบอยู่ที่ 8.6% ขณะที่มูลค่าการโอนฯ จะอยู่ที่ประมาณ 7.8 แสนล้านบาทเท่านั้น
ทั้งนี้คาดว่าสินค้าในกลุ่มบ้านแฝด 2 ชั้น จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นกว่าสินค้าในกลุ่มอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการคอนโดมิเนียม หรือบ้านเดี่ยว เนื่องจากทิศทางการโอนกรรมสิทธิ์ของโครงการบ้านแฝดในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 เป็นไปในทางบวก และคาดว่าจะยังคงบวกต่อเนื่องไปจนถึงช่วงปลายปี 2564 เนื่องจากมีปัจจัยในเรื่องของการ Work From Home รวมถึงในด้านกำลังซื้อของผู้บริโภคที่จะยังไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นมากนักเข้ามาเสริม จึงทำให้โครงการบ้านแฝดถือเป็นหนึ่งในทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับการซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยในปี 2564 นี้ โดยนอกจากโครงการบ้านแฝดแล้วคาดว่าโครงการกลุ่มทาวน์เฮาส์ ก็จะได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในปี 2564 เช่นกัน
ส่วนทำเลที่ตั้ง 3 โซนที่โดดเด่น ได้แก่
1. ย่านสมุทรปราการ ทั้ง 2 ฝั่ง เนื่องจากการเปิดโรงงานอุตสาหกรรมใหม่ๆ ยังไปได้ อีกทั้งการจ้างงานก็ไม่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งมีรถไฟฟ้าเส้นหลัก
2. ย่านนนทบุรี โดยเฉพาะในย่านบางบัวทองที่จะถือว่าเป็นทำเลที่มีศักยภาพแห่งใหม่ จากการเชื่อมต่อของรถไฟฟ้าสายสีม่วง สีชมพู และสีแดง ซึ่งเป็นโอกาสทำให้ผู้พัฒนาอสังหาฯ สามารถเข้าไปลงทุนในโครงการบ้านแนวราบได้ง่ายมากขึ้น อย่างไรก็ตามในย่านนนทบุรีนี้ ยังคงต้องติดตามในเรื่องของการประกาศใช้ผังเมืองรวมฉบับใหม่ ที่จะมีข้อกำหนดต่าง ๆ ให้ผู้พัฒนานำไปปรับใช้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ อัตราส่วนพื้นที่อาคารต่อพื้นที่ดิน หรืออัตราพื้นที่ว่างต่อพื้นที่อาคารรวม เนื่องจากจะต้องมีการจัดระเบียบและพัฒนาพื้นที่เพื่อให้รถไฟฟ้าสามารถพาดผ่านได้
3.โซนสมุทรสาคร ย่านตลิ่งชัน สาย 4 กำลังจะมีรถไฟฟ้าเข้ามาทำให้เกิดความสะดวกสบายมากขึ้นจึงทำให้ความต้องการด้านที่อยู่อาศัยใหม่ๆ มีเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง
โดยนอกจากในเรื่องของปัจจัยต่าง ๆ ที่ทางผู้พัฒนายังคงรอให้ปรับตัวดีขึ้นแล้ว ทางตัวผู้พัฒนาโครงการเองก็ได้มีการพยายามที่จะกระตุ้นยอดขายให้เพิ่มมากขึ้นจากเดิม โดยการปรับตัวให้เข้ากับกำลังซื้อของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการลด แลก แจก แถม หรือการลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้กับลูกค้า โดยไม่จำเป็นต้องรอความหวังจากรัฐบาลหรือปัจจัยต่าง ๆ เพียงอย่างเดียว เพื่อที่จะรอดพ้นจากวิกฤตในครั้งนี้ไปให้ได้
อ้างอิง
https://www.reic.or.th/News/RealEstate/442824