ศักดิ์สยาม ย้ำ ค่ารถไฟฟ้า 15 บาทตลอดสาย ผมไม่ได้พูด แต่จะพยายามทำให้ได้ แต่ต้องไม่เป็นภาระงบประมาณ คอยดูฝีมือผม รัฐมนตรีช่วยและปลัดกระทรวงจะหาโมเดลทำให้ได้ไม่เกิน 3 เดือนนี้ ซึ่งให้การบ้านหน่วยงานไปแล้ว คิดว่านโยบายนี้เป็นไปได้
ลด ค่ารถไฟฟ้า 15 บาทตลอดสาย ไม่เกิน 3 เดือนนี้รู้ผล
หลังจากเข้ามาทำงานเต็มตัวเพียงไม่กี่วัน ก็มีนโยบายสายฟ้าแลบกลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์กันเลยทีเดียว สำหรับ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เจ้ากระทรวงคมนาคมคนล่าสุด กับนโยบายลดค่าครองชีพฉบับคมนาคม ปรับลดค่าโดยสารขนส่งสาธารณะทุกระบบ รถไฟ รถเมล์ รถไฟฟ้า ล่าสุดเพิ่มทางด่วน มอเตอร์เวย์ โทลล์เวย์ จ่อลด 5-10 บาท โดยเฉพาะนโยบายสุดท้าทาย “ลดค่ารถไฟฟ้า” ที่มีทั้งเสียงฮือฮาและเสียงปรามาส…จะทำได้จริงหรือไม่
“จริง ๆ ผมไม่ได้พูดนะ จนเก็บไปนอนแล้วฝันเรื่องนี้ จะทำให้เป็นจริงขึ้นมาให้ได้ ซึ่ง 15 บาทคงไม่ใช่ ตลอดสาย จะเป็นช่วงเส้นทางสั้น ๆ เช่น สายสีม่วงจากเตาปูน-บางใหญ่ แอร์พอร์ตลิงก์ ส่วนของเอกชนในเส้นทางสายสีน้ำเงินและบีทีเอส ต้องดูสัญญา ถ้าทำแล้วเขาอยู่ได้ไหม”
ยังไม่รู้ว่า “รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” ที่บริหารสายสีม่วงกับสายสีน้ำเงินจะเนรมิตให้ได้อย่างที่หวังหรือไม่ ในเมื่อสายสีม่วงถึงจ้าง “BEM-บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ” เดินรถให้ 30 ปี โดยจ่ายค่าจ้างปีละ 1,500 ล้านบาท แต่ รฟม.ของบฯจากรัฐมาจ่ายปีละ 1,100 ล้านบาท เพราะสายสีม่วงมีผลประกอบการแค่ 400 ล้านต่อปี ทั้งที่เก็บค่าโดยสาร 14-42 บาท ถ้าจะให้ลดราคาลงเหลือ 15 บาทตลอดสาย เท่ากับว่ารัฐต้องอุดหนุนงบประมาณเพิ่ม
ขณะที่สายสีน้ำเงินเป็นสัมปทานของ BEM ซึ่งในสัญญาระบุชัด “รฟม.จะไม่กระทำและจะต้องงดเว้นการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดที่อาจขัดขวางหรือกระทบกระเทือนต่องานหรือการดำเนินการหรือการไหลเวียนของผู้โดยสารเข้าสู่โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หรือการจัดเก็บค่าโดยสารหรืออัตราค่าโดยสารตามสัญญานี้” เว้นแต่ BEM เต็มใจให้การสนับสนุนรัฐ เช่น จัดทำบัตรแบบจำกัดเที่ยว เช่น 20 เที่ยว 300 บาท
เช่นเดียวกับสายสีเขียวที่บีทีเอสเดินรถให้ในเส้นทางหลัก ระยะทาง 23.5 กม. คงเข้าไปแตะได้ยาก ยกเว้นเสียแต่มีจัดโปรโมชั่น ขณะที่ส่วนต่อขยายใหม่ทั้งแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-คูคต อาจจะมีลุ้นเพราะ กทม.เป็นเจ้าของโครงการ
“สุรพงษ์ เลาหะอัญญา” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) กล่าวว่า รัฐยังไม่มีนโยบายมาถึงบริษัท แต่พร้อมจะให้ความร่วมมือเสมอ ถ้าวิน-วิน ซึ่งรัฐอาจจะมีวิธีที่จะทำให้ค่าโดยสารถูกลงเพื่อลดภาระค่าครองชีพประชาชน รอดูนโยบายก่อน ทั้งนี้บริษัทกำลังเจรจากับกรุงเทพมหานคร (กทม.) จะเก็บค่าโดยสารบีทีเอสและส่วนต่อขยายใหม่เป็นตามระยะทางสูงสุดไม่เกิน 65 บาท
รายงานข่าววิเคราะห์ว่า ลดค่ารถไฟฟ้าจะ 15-20-25-30 บาทตลอดสาย ต้องอยู่บนหลักการรัฐต้องซับซิดี้ เพราะการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าไม่ใช่คอมมิวนิตี้ คนจะใช้บริการต่อเมื่อมีความจำเป็นและยอมจ่ายค่าโดยสารจะกี่บาทก็ตาม ซึ่งกลไกด้านราคาไม่ได้ทำให้ปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นมากในระยะยาว แต่จะช่วยได้ช่วงระยะสั้น ๆ เพราะสุดท้ายคนที่ใช้บริการก็จะเป็นกลุ่มเดิม
ถัดจากลดค่าโดยสารไม่กี่วันก็มีนโยบายที่เรียกเสียงว้าว ! จากสังคมและขาซิ่ง กับการปรับสปีดเพิ่มความเร็วมาแก้ปัญหาจราจร นำร่องถนน 4 เลนขึ้นไป อาทิ ถนนมิตรภาพ สุขุมวิท เพชรเกษม พหลโยธิน จะกำหนดความเร็ว เช่น ซ้ายสุดไม่ต่ำกว่า 60 กม./ชม. เลนที่ 2 ความเร็ว 80 กม./ชม. เลนที่ 3 ความเร็ว 100 กม./ชม. และขวาสุด ความเร็ว 120 กม./ชม. ทำให้รถแต่ละเลนมีความเร็วในระดับเดียวกันวิ่งโดยไม่ติดขัด ไม่เปลี่ยนเลน
โดยใช้โมเดล “ออโตบาห์น” ถนนที่ไม่จำกัดความเร็วจากประเทศเยอรมนีเป็นต้นแบบดำเนินการ
“นโยบายนี้จะบังคับเฉพาะรถบุคคล รถสาธารณะและรถบรรทุกก็ทำตามกฎหมายเดิม นโยบายจะกลับข้างกัน
เมื่อก่อนจับรถเร็ว มาเป็นจับรถช้า จะมีการทำป้ายประชาสัมพันธ์แจ้งให้ประชาชนที่ใช้ทางได้รับทราบเป็นระยะๆ” นายศักดิ์สยามกล่าวและว่า
มอบให้ปลัดกระทรวงคมนาคม กรมทางหลวง กรมการขนส่งทางบก สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ร่วมกันศึกษารายละเอียดให้ได้ข้อสรุปในเดือน ส.ค.นี้ เพื่อเสนอให้คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) พิจารณาอนุมัติ ก่อนกำหนดเป็นมาตรการต่อไป
ที่มา prachachat.net
คนใช้รถทำใจ…เส้นพระราม 2 การจราจร แน่น 3 ปี รับด่วนใหม่ 2 เส้น
5 ทำเล คอนโด แนวรถไฟฟ้ายอดแย่ ยอดขายต่ำติดดิน ดูทรงแป้กยาว