กลายเป็นหนังชีวิตเรื่องยาวภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา สืบเนื่องจากนโยบายหาเสียงว่าด้วย “ ค่าแรงขั้นต่ำ ” ที่พรรคการเมืองใหญ่เทหมดหน้าตัก ประกาศกันโครมครามจะปรับรวดเดียวจากปัจจุบันวันละ 320 บาท เบิ้ลให้เป็นวันละ 400-425 บาท จากผลสำรวจ ของประชาชาติโพล จากความคิดเห็นต่อนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งจะกลายเป็นนโยบายหลักในการบริหารประเทศในอนาคตอันใกล้นี้ จุดโฟกัสอยู่ที่ 2 พรรคการเมืองใหญ่ประกอบด้วย “พรรคเพื่อไทย” หาเสียงค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท กับ “พรรคพลังประชารัฐ” ทดราคาให้เป็นวันละ 400-425 บาท
เตรียมตัวหาก ค่าแรงขั้นต่ำ เพิ่ม 400 บาท บ้านและคอนโดฯขยับแพงขึ้น 8-10% แน่นอน
จากกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการ 8 รายในวงการอสังหาริมทรัพย์ให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า ไม่เห็นด้วยกับนโยบายหาเสียงดังกล่าว เนื่องจากเป็นการเพิ่มต้นทุนที่สูงเกินไปภายในเวลาจำกัด ฝืนธรรมชาติการทำธุรกิจเพราะเป็นต้นทุนที่ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้า ผลกระทบที่น่าสนใจมองข้ามชอตไปถึงการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ ไม่ได้ครอบคลุมไปถึงเกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ ซึ่งรายได้ไม่ได้อิงกับค่าแรงขั้นต่ำ และไม่ใช่ผู้ได้รับอานิสงส์ทางตรง แต่กลับเป็นกลุ่มได้รับผลกระทบทางอ้อม เนื่องจากโมเดลการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ส่งผลกระทบทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นในขณะที่รายได้เท่าเดิม รวมทั้งผลกระทบภาพใหญ่สำหรับธุรกิจที่อยู่อาศัย นโยบายหาเสียงค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท ทำให้ต้นทุนค่าแรงที่แฝงอยู่ในค่าพัฒนาโครงการสูงขึ้น กระทบบรรทัดสุดท้ายในราคาบ้านและคอนโดมิเนียมแพงขึ้น 8-10% ซึ่งแน่นอนว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้นกะทันหันแบบนี้ดีเวลอปเปอร์จะส่งต่อไปยังราคาสินค้า หรือผู้ซื้ออสังหาฯรับภาระไปเต็ม ๆ
วิโรจน์ เจริญตรา กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรีบิลท์ จำกัด (มหาชน)
“รับไม่ได้…ถ้าขึ้นแบบนี้จริง ๆ เศรษฐกิจแย่เลยนะ เพราะ 1.ต้นทุนสูงขึ้นเยอะ 2.ค่าแรงงานคิดเป็น 30% ของต้นทุนรวม มีค่าแรงแฝงในค่าวัสดุ ทุกอย่างแพงขึ้น ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นแน่ 3.แรงงานต่างด้าวได้ประโยชน์เพราะ 80% ของแรงงานก่อสร้างเป็นต่างด้าวหมด คนไทยส่วนใหญ่เป็นค่าแรงมีฝีมือ สมมุติ (แรงงานไร้ฝีมือ) กรรมกรขึ้น 100 บาท เป็นวันละ 400 บาท แรงงานฝีมืออาจต้องขึ้นอีก 50-60 บาท”
“รัฐบาลในอดีตขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ วันละ 300 บาท รับเหมาก็เหนื่อยมารอบหนึ่งแล้ว ยังไม่ทันฟื้นตัวก็เอาอีกแล้ว”
“รัฐบาลใหม่ถ้ารักษาสัจจะก็ควรทำแบบค่อย ๆ ปรับ อย่างน้อยขอให้มีเวลาปรับตัว เพราะรับเหมาก่อสร้างอาคารทำสัญญาล่วงหน้า 18 เดือน ในขณะที่รับเหมางานเอกชนไม่มีค่าเค (ค่าต้นทุนผันแปร) เหมือนกับงานรับเหมาภาครัฐ ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเราต้องรับภาระเต็ม ๆ กดดันให้เราจ้างคนน้อยลง ใช้เครื่องจักรทดแทน ผลิตทุกอย่างในโรงงาน ใช้คนลดลง 30% กระทบคนตกงาน หางานยากขึ้น ภาพรวมทุกธุรกิจต้องใช้แรงงานน้อยลง เป็นการทำร้ายผู้ใช้แรงงาน”
วงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มพัฒนาธุรกิจ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน)
“การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจาก 300 บาท เป็น 400 บาทสูงเกินไป ข้อดีผู้ใช้แรงงานจะมีรายได้มากขึ้น แต่ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ที่มันสูงขนาดนี้ เท่ากับเพิ่มขึ้น 1 ใน 3 หรือสูงขึ้น 33-40% ในแง่ของผู้ประกอบการผมว่ามีช็อกอยู่เหมือนกัน เทียบกับยุคที่ปรับค่าแรง 300 บาท ตอนนั้นในวงการก่อสร้างมีผลกระทบตลาดช็อกไป 6 เดือน เพราะค่าแรงสูงขึ้นทั้งทางตรงกับทางอ้อม”
“โดยปกติแล้วค่าแรงขั้นต่ำน่าจะเพิ่มไม่มากกว่าอัตราการเพิ่มของ GDP growth อยู่ที่ 4% กว่า สมมุติค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มปีละ 5% ก็จะสอดคล้องกัน ฝั่งผู้ใช้แรงงานก็อาจจะชอบเพราะได้ค่าแรงขั้นต่ำที่สูงขึ้น แต่เขาต้องเจอกับเงินเฟ้อ ราคาสินค้าจะสูงขึ้นทันที เพราะฉะนั้น เบ็ดเสร็จผู้ใช้แรงงานก็ได้ไม่มาก แต่ฝั่งผู้ประกอบการต้นทุนสูงขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม สุดท้ายแล้วก็ต้องไปลงที่ราคาสินค้าเพราะไปไหนไม่ได้ ผู้ซื้อบ้านก็ต้องซื้อแพงขึ้น”
“สัดส่วนค่าแรงอยู่ที่ 30% ของราคาสินค้า ถ้าค่าแรงขั้นต่ำเพิ่ม 1 ใน 3 ต้นทุนค่าก่อสร้างโดยรวมน่าจะเพิ่ม 10-12% แล้วแต่ว่าเป็นอาคารประเภทไหน ถ้าราคาบ้าน 1 ล้านบาท ค่าแรงบวกกันเบ็ดเสร็จ 3 แสนบาท เพราะฉะนั้น ราคาสินค้าน่าจะเพิ่มขึ้นไปที่ 8-9%”
ธีรพล วรนิธิพงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
“การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำโดยหลักการควรจะค่อยเป็นค่อยไป ต้องค่อย ๆ ปรับไปตามอัตราเงินเฟ้อ คือเงินมันเฟ้อขึ้นทุกปี ถ้าคนค่าแรงเท่าเดิมรายได้เขาก็ลดลง เหมือนระบบปรับเงินเดือนพนักงานก็ต้องปรับขึ้นทุกปีเพื่อให้ cover กับค่าครองชีพที่สูงขึ้น เพราะฉะนั้น รายได้เขาควรปรับเพิ่มขึ้นอย่างน้อยเท่ากับเงินเฟ้อเพื่อไม่ให้เงินเขาลดลง เงินเฟ้อปีหนึ่ง 1% กว่า ๆ ซึ่งการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจาก 300 เป็น 400 บาท ตกก็ประมาณ 30% กว่า ถ้าปรับเร็วก็ดูเหมือนสูง”
“ที่ผ่านมาทุกครั้งที่ค่าแรงขั้นต่ำขึ้น ค่าก่อสร้างก็ขึ้น แต่ไม่ได้สะท้อนภาพเป็นบัญญัติไตรยางศ์เพราะค่าแรงไม่ใช่ต้นทุนทั้งหมด เราก็พยายามใช้แรงงานให้น้อยลง ถ้าเป็นในอดีตที่ใช้แรงงานเยอะเวลาขึ้นทีก็มีผลกระทบเยอะ ปัจจุบันมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยใช้คนน้อยลง ผมคิดว่าถ้าค่าแรงขึ้นก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบอะไรมากขนาดนั้น”
รุ่งรัตน์ ลิ่มทองแท่ง กรรมการผู้จัดการ ซื่อตรงกรุ๊ป
“น่าจะเป็นปัญหาใหญ่ เพราะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้น 5-10% จาก 300 เป็น 400 บาทมันขึ้นค่อนข้างเยอะ ราคาขายอาจจะเพิ่มขึ้น 10% ไม่ใช่เพียงแค่ธุรกิจอสังหาฯที่ได้รับผลกระทบ ผมว่ามันกระทบไปในทุก ๆ ธุรกิจ เพราะค่าแรงถือเป็นส่วนสำคัญ ข้าวของทั่วไปก็ต้องขึ้นราคา ร้านโชห่วย ร้านเซเว่นฯ ร้านข้าวแกง”
“ผมคิดว่านโยบายของแต่ละพรรคการเมืองเวลาหาเสียงจะทำเพื่อให้มันเว่อร์ไว้ก่อน แต่แนวทางการปฏิบัติจริงคงไม่ก้าวกระโดดถึงขนาดนั้น ไม่ว่าจะได้รัฐบาลไหนยังไงก็ต้องมาหารือกับภาคเอกชนก่อน ไม่ว่าจะเป็นสภาหอการค้าหรือสภาอุตสาหกรรมฯ ถึงจะมีแนวโน้มในการขึ้นเพื่อให้ต้นทุนมันสมดุลกัน คงไม่อยู่ดี ๆ มาขึ้นค่าแรงจาก 300 เป็น 400 บาทเลย”
“ในแง่บวกยังมองไม่เห็น เพราะจะบอกว่าคนได้เงินมากขึ้นผมว่ามันไม่จริง เพราะได้เงินมากขึ้นแต่ราคาสินค้ามันก็ขยับเพิ่มขึ้น เพิ่มมากกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นด้วยซ้ำไป ถ้ามองในอีกแง่หนึ่งสำหรับคนที่ไม่มีรายได้จะลำบาก เพราะค่าครองชีพไม่ได้เพิ่มขึ้นแค่คนที่มีรายได้ แต่มันเพิ่มขึ้นทั้งประเทศ เพราะฉะนั้น ที่ไม่มีรายได้อยู่แล้วหรือชาวไร่ชาวนาที่ใช้ชีวิตไม่ได้ขึ้นกับค่าแรง เขาก็ทำพออยู่พอกิน ถ้าค่าครองชีพขึ้นทำให้ต้นทุนของคนเหล่านี้เพิ่มขึ้น”
อุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)
“มองตามหลักเศรษฐศาสตร์ในแง่ของการที่ไปผลักค่าแรงขึ้นมาเรียกว่า cost push ทันที แต่เดิมกฎหมายระบุไว้ 320 บาท เปลี่ยนเป็น 420 บาท เพิ่ม 100 บาท เพิ่มขึ้น 30% เพราะฉะนั้น ค่าแรงก่อสร้างปกติเมืองไทยอยู่ที่ 30% ค่าของ 70% ถ้าเพิ่มขึ้นมา 30% ของ 30% มันคือเพิ่มต้นทุนค่าก่อสร้างขึ้นมาทันที 10% ในแง่อสังหาฯถ้าต้นทุนก่อสร้างเพิ่มขึ้น 10% แสดงว่าสิ่งเหล่านี้จะถูกผลักเข้าไปในราคาลงไปสู่ผู้บริโภคทันที ราคาสินค้าจะสูงขึ้น 8-10%”
“นโยบายเรื่องนี้ไม่แน่ใจตอนที่เขาหาเสียงได้ทำการศึกษาหรือเปล่า เพราะก่อนหน้านี้เราไม่เคยได้ยินมาก่อนว่าจะมีการปรับเปลี่ยนค่าแรงจากเดิม ความคิดผมมันต้องมานั่งดูวิธียาว ๆ…”
“ผมคิดว่าทุกคนโดนเหมือนกันหมด คราวนี้ก็ต้องมานั่งดูว่าวิธีการที่จะทำให้ตัวเอง safe หรือวิธีการทำยังไงให้ product ขายได้ สมมุติว่าอำนาจในการซื้อของคนยังเท่าเดิม เศรษฐกิจคงไม่ได้เปลี่ยนให้ดีได้ในวันรุ่งขึ้น เราก็ต้องมาหาวิธีทำยังไงให้โปรดักต์เรามีราคาที่ลูกค้ายังคงสามารถซื้อได้อยู่ เช่น ตอนนี้ราคา 10 ล้านบาท พอ cost เพิ่ม 10% ทำให้ราคาขายเพิ่มขึ้น 8% ก็ต้องหาวิธีแต่เดิมที่ขาย 10 ล้านบาท ต้องมาขาย 10 ล้านบาท กับ 8 แสนบาท ผมอาจต้องลด size บ้านลงมาเพื่อทำให้ขนาดเล็กลงมาหน่อย แล้วทำให้ราคาขายยังเป็น 10 ล้านบาทอยู่ แม้ต้นทุนจะเพิ่มขึ้น 10% ก็ตาม”
อิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ กานดา พร็อพเพอร์ตี้
“เลือกตั้งรอบนี้ไม่มีพรรคไหนมีนโยบายชัดเจนด้านที่อยู่อาศัย มีแต่พลังประชารัฐที่ทำบ้านล้านหลัง”
“นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ นโยบายพรรคก็มีความเห็นแตกต่างกัน บางพรรคบอกว่าสตาร์ตแตกต่างกัน ถ้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยขึ้นค่าแรงอย่างเดียวคงไม่ใช่ แต่จริง ๆ ก็ไม่เชื่อว่ารัฐบาลไหนจะกล้าทำ (ขึ้นเป็น 400 บาท)”
“นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ ผมมีความเห็น 2 ข้อ 1.ใช้กลไกคณะกรรมการค่าจ้าง หลักคือการปรับค่าแรงต้องไม่กระทบกับธุรกิจ 2.อยากให้มีมาตรฐานวิชาชีพฝีมือแรงงาน ถ้าไม่มีมาตรฐานจะไม่เกิดการพัฒนาทักษะแรงงาน เช่น สมมุติเว่อร์ ๆ ไปเลยค่าแรงขั้นต่ำ 800 บาท จับกังก็ได้ ก็ไม่ต้องทำอะไรสิ แรงงานไม่ต้องมีฝีมือยังไงก็ได้ค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งไม่น่าจะถูกต้อง นโยบายที่ดีที่สุดให้ธุรกิจอยู่ได้ และแรงงานมีมาตรฐานวิชาชีพด้วย”
ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย
“คิดว่าผู้ประกอบการรายเล็กทั้งหมดเตรียมตัวตายได้เลย รายใหญ่ยังปรับตัวได้แต่รายเล็กรายน้อยมีลูกจ้าง 3-8 คน ปัจจุบันจ่าย 300 กว่าบาทเขาก็แย่แล้ว ถ้าต้องมาจ่ายวันละ 400 กว่าบาท คิดว่าตัวเขาเองคงต้องกลับไปเป็นลูกจ้างคนอื่น (หัวเราะ)”
“(ผลกระทบราคาบ้าน-คอนโดฯ)…แน่นอนอยู่แล้วค่าแรงเป็น 30% ของต้นทุนรวมค่าก่อสร้าง รอบที่แล้วขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เท่ากับขึ้น 80 บาท (เดิม 225 บาท เป็น 300 บาท) ตอนนี้กระโดดขึ้นไปอีก 100 บาท ก็คงมีผลโดยทางตรงเพราะเป็น direct cost และส่งผลถึงค่าจ้างพนักงานรายเดือน ค่าตอบแทนทั้งระบบจะขึ้นหมดยกแผง ทั้งหมดต้องแพงขึ้น และต้องส่งให้ผู้ซื้อบ้าน end user แบกภาระ”
อนันตกร อมรวาที กรรมการผู้จัดการ บริษัท มาสเตอร์แปลน 101 จำกัด
“เราเจาะตลาดสร้างบ้านราคา 20-200 ล้านบาท เฉลี่ยต้นทุนก่อสร้าง 3.5-4.5 หมื่นบาท/ตารางเมตร กำลังซื้อลูกค้ากลุ่มนี้อาจกระทบน้อยกว่าตลาดกลาง-ล่าง แต่ก็มีผลต่อการขึ้นราคา เพราะหนีไม่พ้นต้องสูงขึ้น 3-5% จากปัจจุบันตรึงราคานี้มา 2-3 ปีแล้ว”
“แรงงานก่อสร้างตกไซต์ละ 20-30 คน แบ่งเป็นต่างด้าวกับคนไทยอย่างละครึ่ง/ครึ่ง ทุกวันนี้มีต้นทุนค่าแรงงานเกินกฎหมายกำหนด กรณีกรรมกร 330-350 บาท แรงงานฝีมือ 500-800 บาท ถ้าขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก็ต้องขึ้นค่าแรงเป็นขั้นบันได ปีนี้ไม่น่าจะขึ้นได้เพราะปรับตัวไม่ทัน”
“ธุรกิจรับสร้างบ้านยังใช้ระบบก่ออิฐฉาบปูน หรือ conventional 70% มีเพียง 30% ที่ใช้ระบบโครงสร้างสำเร็จรูปเข้ามาช่วยได้บ้าง แต่ก็ยังต้องพึ่งการใช้แรงงานเข้มข้น แต่ละหลังใช้เวลาสร้าง 1 ปีครึ่ง-3 ปี การขึ้นค่าแรงควรพิจารณาจาก 1.ค่าครองชีพ 2.เงินเฟ้อ 3.ทักษะฝีมือแรงงาน เท่ากับปรับขึ้นปีละ 5-10%”
ที่มา prachachat.net