เหมือนจู่โจมไม่ให้ตั้งตัวยังไงก็ไม่รู้สำหรับกฎหมายใหม่ “ พ.ร.ก. แรงงานต่างด้าว 2560 ” ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันศุกร์ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา ว่ากันว่าแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยทุกวันนี้ ถูกกฎหมายครึ่งหนึ่ง ผิดกฎหมายอีกครึ่งหนึ่ง ผลกระทบจึงมหาศาลกว่าที่คิดแน่นอน เพราะสำรวจความคิดเห็นภาคเอกชนแล้ว หลายรายกล่าวสอดคล้องกันว่า บังคับใช้รวดเร็วมาก แบบว่า…เร็วจนตั้งตัวไม่ทัน
โทษหนัก จำคุก-ปรับเป็นล้าน
ต้นสังกัดพระราชกำหนดฉบับนี้ “วรานนท์ ปิติวรรณ” อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ระบุกรมใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3-4 เดือนเดินสายชี้แจงทำความเข้าใจกฎหมายฉบับนี้กับภาคเอกชน จึงมั่นใจว่าผู้ประกอบการรับทราบและเข้าใจข้อกฎหมายเป็นอย่างดี
ทั้งนี้ สรุปสาระสำคัญ พ.ร.ก.ฉบับนี้ อาทิ รับคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต ปรับ 4-8 แสนบาท/ต่างด้าว 1 คน, เลิกจ้างหรือออกจากงานไม่แจ้งอธิบดีกรมการจัดหางาน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท, เรียกรับเงิน, ทรัพย์สินจากคนต่างด้าว จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท, หลอกลวงคนต่างด้าวทำงานโดยเรียกเงิน ทรัพย์สิน-ประโยชน์อื่น ๆ โทษจำคุก 3-10 ปี ปรับ 6 แสน-1 ล้านบาท
ในมุมมองภาครัฐ บทลงโทษเป็นการปรับให้ใกล้เคียงกับกฎหมายอื่น ๆ จึงถือว่าเป็นการปรับให้สอดคล้องกันมากกว่า เช่น กฎหมายประมง โทษปรับสูงสุด 1 ล้านบาท, กฎหมายการค้ามนุษย์-กฎหมายป้องกันการใช้แรงงานเด็ก ปรับสูงสุด 4 แสนบาท เป็นต้น
“เสียงสะท้อนที่ออกมาว่าโทษหนักและรุนแรงเป็นเพราะรัฐต้องการป้องปรามไม่ให้ทำผิดกฎหมาย เพราะที่ผ่านมาโทษปรับสูงสุดแค่ 2 หมื่นบาทเท่านั้น ผู้ฝ่าฝืนจึงไม่เกรงกลัว”
แนะรัฐตั้ง One Stop Service
ย้อนกลับมาโฟกัสความคิดเห็นรัว ๆ ของภาคเอกชนกันบ้าง“อธิป พีชานนท์” นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ระบุว่า หน่วยงานรัฐมีการประชุมร่วมกับภาคเอกชนจริง แต่การประกาศให้มีผลบังคับใช้รวดเร็วและฉับพลันมาก จึงมีข้อเสนอแนะว่าควรให้มีเวลากลับไปแก้ไข ปรับปรุงทั้งฝั่งรัฐและเอกชน โดยเฉพาะฝั่งภาครัฐต้องกลับไปจัดทำในด้านอำนวยความสะดวก เช่น จัดให้มีศูนย์ในการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้เพียงพอ และมีความสะดวก
ที่สำคัญ ถ้าเป็นไปได้อยากให้ขอความร่วมมือประเทศต้นทาง เช่น เมียนมา กัมพูชา ลาว ให้มีเจ้าหน้าที่ของเขามาอยู่ในศูนย์ด้วยในรูปแบบบริการเบ็ดเสร็จในจุดเดียวหรือ วัน สต็อป เซอร์วิส ไม่ใช่ให้แรงงานต่างด้าวต้องเดินทางกลับไปกลับมา (เหมือนในปัจจุบัน)
รวมทั้งรัฐควรจัดให้มีจำนวนศูนย์ให้เพียงพอ เน้นพื้นที่มีแรงงานต่างด้าวหนาแน่น เช่น กรุงเทพฯ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ นครปฐม นนทบุรี รวมถึงพระนครศรีอยุธยา ชลบุรี และในเขตอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพราะเป็นพื้นที่ใกล้แหล่งงานของแรงงานต่างด้าว
“หน่วยงานราชการต้องเอื้อมมือเข้ามาด้วยไม่ใช่ให้เขากระเสือกกระสนมาเองการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวต้องทำให้ครบวงจรแต่ถ้าทำแบบทุกวันนี้สวนทางกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 แต่เป็น ไทยแลนด์ 0.0 ไปเลย”
ข้อกังวลยังรวมถึงในช่วงรอยต่อของการบังคับใช้กฎหมายใหม่ อาจมีผลทำให้ไซต์ก่อสร้างมีการหยุดชะงัก จนกลายสภาพเป็นอัมพาตในระบบเศรษฐกิจ เพียงแต่ผลกระทบไม่รู้ว่าจะนานแค่ไหน
ทำใจรับมือต้นทุนเพิ่มขึ้น
อีกมุมมองของ “ดร.สุริยา พูลวรลักษณ์” กรรมการผู้จัดการ บมจ.เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ บอกว่าผลกระทบหลักอยู่กับผู้รับเหมาโดยตรง เพราะประกาศเร็วไปหน่อย ไม่มีช่วงระยะเวลาผ่อนผัน ดังนั้นไซต์ก่อสร้างทุกไซต์ต้องเจอเหมือนกัน เมื่อเอกซเรย์ลงไปดูจะพบว่าผู้รับเหมาหลักเป็นกลุ่มที่ใช้แรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายอยู่แล้วเป็นห่วงแต่ผู้รับเหมาช่วงหรือซับคอนแทร็กเตอร์จะมีปัญหามากที่สุดเพราะไม่มีศักยภาพนำเข้าแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายเหมือนบริษัทใหญ่
“ไซต์ก่อสร้างไหนที่มีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายคงต้องใช้เวลาปรับปรุงแก้ไขปัญหาก่อนจะมีผลกระทบทำให้ส่งมอบงานไม่เป็นไปตามกำหนดงานจะดีเลย์ออกไปอีก ส่วนในระยะยาวน่าจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น เพราะผู้รับเหมาต้องมีการแย่งงานกันอีก ทั้งแรงงานไทยและต่างด้าวให้ราคาสูงไปเลย 330-340 บาท เป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการ”
สถานการณ์ในไซต์ก่อสร้าง แรงงานไทยส่วนใหญ่เป็นแรงงานฝีมือ เช่น ช่างทาสี ปูกระเบื้อง ฉาบ ส่วนแรงงานต่างด้าวไม่ใช่แรงงานฝีมือ ส่วนมากเป็นงานผูกเหล็ก ขนปูน หรืองานที่ไม่ต้องใช้ทักษะฝีมือมากนัก ผลกระทบยังรวมถึงแนวโน้มราคาอสังหาฯ แพงขึ้นจากต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม โครงการที่เปิดตัวในปีนี้ส่วนใหญ่มีการทำสัญญารับเหมาก่อสร้างไว้หมดแล้ว ผลกระทบจึงเป็นโครงการในปีหน้าหรือโครงการใหม่ ๆ ในขณะเดียวกัน ถ้ามีปัญหาขาดแคลนแรงงานอาจมีผลทำให้ผู้รับเหมาขอปรับราคา ประเมินว่าไม่น่าเกิน 5%
“เลเบอร์เป็นคอสต์ที่สูงและตายตัว เช่น การซื้อวัสดุก่อสร้างถ้าซื้อลอตใหญ่จะมีส่วนลดเพิ่มหรือมีล่ำซำ แต่ค่าจ้างแรงงานไม่มีส่วนลด จ้าง 10 หัวจ่ายราคา 10 หัว จ้าง 100 หัวก็จ่ายราคา 100 หัว”
ขอเวลาปรับตัว 3 เดือน
ข้อมูลลงรายละเอียดยังมีอีกสารพัดประเด็น เช่น การย้ายพื้นที่ทำงาน ปกติแรงงานต่างด้าวจะต้องมีการขอเอกสารอย่างน้อย 3 รายการ 1.ต้องมีพาสปอร์ต 2.วีซ่า 3.ใบอนุญาตทำงานหรือเวิร์กเพอร์มิต ระบุชัดเจนว่าทำงานอะไรได้ ผู้ว่าจ้างเป็นใคร และทำงานในพื้นที่ไหน
“แรงงานต่างด้าวจะทำงานข้ามพื้นที่ก็ไม่ได้นะ เขาจะเข้มงวด (ความมั่นคง) ซึ่งเราก็เข้าใจ ทุกวันนี้มีใบสีชมพูที่เป็นใบอนุญาตทำงานชั่วคราวที่ คสช.ออกให้ เรียกว่าบัตรชมพู”
ข้อเสนอแนะ ผู้ประกอบการขอแค่เวลาปรับตัวก็พอ บอกล่วงหน้าถึงเงื่อนไขเวลาที่จะมีผลบังคับใช้ ให้เวลาผ่อนถ่ายแรงงานไปทำให้ถูกต้อง ให้เวลาผู้ประกอบการหายใจ เพราะแรงงานมีขั้นตอนในการทำงาน บางคนมีใบอนุญาตแต่ไม่ได้ทำในพื้นที่เดิมก็ต้องใช้เวลาในการขอย้ายพื้นที่
“รัฐบาลควรมีบทเฉพาะกาลให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัวโดยขยายเวลาบังคับใช้ 3 เดือน ผมว่าก็โอเคแล้ว”
ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ขอขอบคุณข้อมูลจาก prachachat.net
ต้องการซื้อ-เช่า !!!คอนโดมือสอง บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ที่ดินทั่วไทยมากกว่า 300,000 รายการคลิ๊กที่นี่
ลงประกาศขาย-ให้เช่า ฟรี !!! คอนโดมือสอง บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ที่ดินกับ Dot Property ขายง่าย ขายไว ไม่มีค่าใช้จ่ายลงประกาศเลย