การรณรงค์ให้แยกขยะก่อนทิ้งในประเทศไทยมีมาเกือบ 10 ปีแล้ว แต่…. ไม่ได้ผลในทางปฏิบัติเลย เรายังทิ้งขยะรวมกันในถังเดียว แต่คนส่วนหนึ่งชอบเรียกร้องให้รัฐบาลทำแบบประเทศนั้นสิ ทำเหมือนประเทศนี้สิ แต่คนในประเทศขาดวินัยไปแล้ว ต่อให้ทีมบริหารประเทศวางโปรเจคดีแค่ไหนก็ดับได้เหมือนกัน ดังนั้นคุณต้องเริ่มที่ตัวเองก่อน หากได้ทราบแล้วว่า ถังขยะแยกประเภท สีใด เพื่อขยะชนิดใด การไปเที่ยวต่างประเทศก็ไม่ยากเลยจริง ๆ โดยทั่วไปถังขยะแยกประเภทในประเทศไทยแบ่งได้ 4 สี ดังนี้
- ถังขยะแยกประเภทสีเหลือง ใช้สำหรับรองรับขยะที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้หรือขยะแห้ง เช่น แก้ว กระดาษ โลหะ พลาสติก เศษผ้า เป็นต้น
- ถังขยะแยกประเภทสีเขียว ใช้สำหรับรองรับขยะที่ย่อยสลายได้ อินทรียวัตถุที่ย่อยสลายเน่าเปื่อยได้ง่าย สามารถนำมาทำเป็นปุ๋ยได้ หรือขยะเปียก เช่น เปลือกผลไม้ เศษอาหาร พืช ผัก ใบไม้ เป็นต้น
- ถังขยะแยกประเภทสีน้ำเงิน ใช้รองรับขยะมูลฝอยที่ย่อยสลายไม่ได้ รีไซเคิลยากแต่ไม่เป็นพิษ เช่น พลาสติกห่ออาหารต่าง ๆ ถุงพลาสติก โฟม ฟอย์ลเปื้อนเศษอาหาร หรือกล่องโฟม
- ถังขยะแยกประเภทสีแดง ใช้สำหรับรองรับขยะที่มีอันตราย หรือขยะที่มีพิษต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม เช่น ขวดยา หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ กระป๋องสีสเปรย์ กระป๋องยาฆ่าแมลง และยาปราบศัตรูพืช ภาชนะใส่น้ำยาทำความสะอาด ภาชนะใส่น้ำมันเครื่อง ฯลฯ
แต่คนไทยส่วนหนึ่งมักนำขยะมารวมกันในถุงเดียว และทิ้งลงถังขยะ ถังขยะแยกประเภท สีเขียวและเหลืองมากกว่า บางพื้นที่มีแค่สีเดียวเท่านั้น แม้ว่าบางครัวเรือนจะแยกขยะไว้เรียบร้อยแล้วต้องเจอหน่วยงานภาครัฐที่ไม่ใส่ใจเรื่องเหล่านี้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ ต่อโลกของเรา สุดท้ายแล้วการเริ่มที่ตัวเราจะดีที่สุด เช่น ขยะที่รีไซเคิลได้อย่างขวดพลาสติกก็ล้างทำความสะอาดให้เรียบร้อย (ล้างคราบน้ำหวานด้วยน้ำเปล่าก็พอ) เหยียบให้แบนเพื่อจัดเก็บไว้ขาย
ส่วนขยะที่สามารถทิ้งลงถังขยะแยกประเภทสีเขียวนั้น ก็เปลี่ยนให้เป็นปุ๋ยของต้นไม้ได้ โดยการขุดหลุมในพื้นที่สวน นำเศษอาหารหรือเศษผักและผลไม้ทิ้งลงหลุม เมื่อใกล้จะเต็มก็กลบให้มิดชิด รอให้จุลินทรีย์ในดินและไส้เดือนทำการย่อยสลายตามธรรมชาติดีกว่า ส่วนถังขยะแยกประเภทสีแดง หากเป็นขยะจากคลินิกต่าง ๆ ต้องติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมารับขยะไปกำจัดโดยเฉพาะ ส่วนของใช้ภายในบ้านอย่างถ่านไฟฉายก็เก็บแยกเอาไว้รอการกำจัดอย่างถูกต้อง
สำหรับหน่วยงานต่าง ๆ ก็ควรเริ่มที่จะกระจายถังขยะแยกประเภทให้ทั่วถึงทั้งหน่วยงาน และรณรงค์ภายในองค์กรให้ดีเสียก่อน ส่วนการเก็บขยะก็ดำเนินการให้เหมาะสมกับประเภทของมัน