ทิศทางเศรษฐกิจกับธุรกิจอสังหาฯ: อ่านให้ขาด ไม่พลาดการลงทุน (ตอนที่ 2)

ในตอนที่แล้ว ที่เราได้กล่าวถึงเหตุและผล รวมถึงปัจจัยเบื้องต้นของทิศทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกับธุรกิจอสังหาฯ แน่นอนว่าเหล่านั้น เป็นเพียงปัจจัยชี้วัดเบื้องต้นในการพิจารณาความเหมาะสมของจังหวะการลงทุนหนึ่งๆ ที่ผู้สนใจควรให้ความสำคัญอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

Credits: Cyprussbusinessmail.com

แต่ทั้งนี้ มันยังมีปัจจัยอื่นๆ ทางด้านเศรษฐกิจที่จะต้องถูกนำมาพิจารณาเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถวิเคราห์ภาพรวมที่จะเกิดขึ้นกับการลงทุนในธุรกิจอสังหาฯ ที่น่าสนใจและน่าศึกษาเพิ่มเติม ดังที่จะกล่าวในบทตอนนี้

//บริบทของภูมิภาคและท้องถิ่น

ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ทำเลที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ (ที่ยังคงความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ อย่างไม่อาจมองข้าม) แต่มันมีปัจจัยด้านบริบทของภูมิภาคและท้องถิ่นที่ต้องถูกนำมารวมในสมการคิดเพื่อพิจารณาทิศทางเศรษฐกิจดังต่อไปนี้

Credits: nnmredi.org

-ทรัพยากรธรรมชาติที่เหมาะแก่การแปรรูป หรือเปลี่ยนเป็นผลิตผลในพื้นที่นั้นๆ มีมากน้อยเพียงใด

-รายได้ต่อหัวของคนในท้องถิ่นเป็นไปในอัตราใด (ส่งผลต่อการพัฒนาและขยายตัวของพื้นที่นั้นๆ)

-สภาพตลาดของท้องถิ่นนั้นๆ (จะเป็นตัวบอกว่าอสังหาฯ แบบใดที่เหมาะสมกับพื้นที่)

-แนวโน้มการขยายตัว (พื้นที่ที่มีแนวโน้มจะขยายตัว มีความน่าดึงดูดทางด้านอสังหาริมทรัพย์ที่สูง)

-เศรษฐกิจรากฐานของพื้นที่โดยรอบนั้น เป็นอย่างไร (มีผลต่ออัตราจ้างงาน และการขยายตัวของคนในพื้นที่)

-ทัศนคติในการอยู่อาศัยของคนในพื้นที่ (พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงได้มากน้อยเพียงใด มีลักษณะปิดหรือเปิด)

//ดูทิศทางลม ชมทิศทางตลาด

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าทิศทางเศรษฐกิจจะเป็นไปในทางบวก มีกำลังซื้อที่สูง หรือมีแนวโน้มที่จะปรับตัวไปในทางที่ดี แต่อสังหาริมทรัพย์ก็ยังคงเป็นเรื่องของการซื้อขาย ซึ่งการพิจารณาตลาดเพื่อจังหวะที่เหมาะสมสำหรับการลงทุน ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ และมีจุดที่เราอาจจะใช้เพื่อจับสังเกตได้คร่าวๆ ดังต่อไปนี้

Credits: realestatearea.org

-ลักษณะของตลาดในขณะนั้นเป็นอย่างใด (อสังหาฯ แบบใดที่กำลังเป็นที่ต้องการ, ตลาดเป็นแบบผูกขาดหรือเปิดเสรี)

-ความต้องการภายในตลาดขณะนั้นเป็นไปในทิศทางใด (แนวโน้มจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ ความต้องการที่เกิดขึ้นจริงจะดำรงอยู่ได้เพียงใด)

-ปัจจัยทางด้านราคาของตลาดในขณะนั้น (ทิศทางเศรษฐกิจ จะเป็นตัวกำหนดราคาอสังหาฯ ด้วยในส่วนหนึ่ง)

ทั้งหมดที่กล่าวไป เป็นส่วนประกอบเสริมเพิ่มเติมในการพิจารณาทิศทางเศรษฐกิจที่จะส่งผลต่อธุรกิจอสังหาฯ ซึ่งถ้าพิจารณากันดีๆ แล้วจะพบว่า ไม่ได้เป็นสิ่งที่พิสดารหรือต่างไปจากความเข้าใจโดยทั่วๆ ไปตามความรู้สึกและกฎทางด้านเศรษฐกิจมากนัก และแม้ว่าจะไม่ใช่ทั้งหมดของการดูทิศทางเศรษฐกิจ (ที่ยังมากหลายด้วยปัจจัยปลีกย่อย) แต่ก็หวังอย่างยิ่งว่า หัวข้อเหล่านี้ จะช่วยให้ผู้สนใจ สามารถเริ่มต้น และต่อยอดไปสู่สิ่งที่ลึกขึ้นไปอีกขั้น เพื่อการลงทุนที่มีประสิทธิผลอย่างยั่งยืนในอนาคตต่อๆ ไป