ที่ดินมักมีมูลค่าขยับขึ้นทุกปี แต่เชื่อหรือไม่ว่ายังมี ที่ดิน ทำเลใกล้กรุงเทพมหานครกลับติดหล่มราคาไม่ขยับมากว่า 25 ปี
ที่ดิน ลำลูกกา 25 ปี ราคายังเท่าเดิม
จากการสำรวจของ นายโสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซีฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส พบว่า มีที่ดินบางแห่งราคาไม่ขยับ แถมบางบริเวณยังตกตํ่าลงเสียอีก เริ่มจาก “เลียบคลอง 13 ลำลูกกา” จ.ปทุมธานี ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ที่ขนาด 4 ไร่ (หน้ากว้าง 40 เมตร ลึก 160 เมตร) ปี 2537 ตร.ว.ละ 4,000 บาท หรือ ไร่ละ 1.2 ล้านบาท ปัจจุบัน เหลือ ตร.ว. ละ 2,800 บาท หรือ ไร่ละ 1.12 ล้านบาท เนื่องจากไม่มีสาธารณูปโภค ทำนองเดียวกับ “ทำเลตรงข้ามศูนย์ศิลปาชีพฯ” ปัจจุบัน ตร.ว. ละ 6,250 บาท หรือ ไร่ละ 2.5 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ปี 2552 ราคาตกตํ่าลงถึง 4,500 บาทต่อ ตร.ว. หรือ ไร่ละ 1.8 ล้านบาท ลดลงไปถึง 26% เพราะมีการออกข้อกำหนดห้ามก่อสร้างบริเวณโดยรอบศูนย์ศิลปาชีพฯ เพื่อไม่ให้บดบังทัศนียภาพ ขยับมาที่ ย่านรังสิต-นครนายก (คลอง 14) จากการสำรวจพบว่า บริเวณนี้แต่เดิมเป็นแนวในการขยายตัวของเมืองจากคลองรังสิตช่วงต้น ๆ ออกมาตามคลองต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม แต่ละคลองรังสิตจะมีระยะห่างกัน 2.4 กม. บริเวณที่ดินที่อยู่ห่างไกลออกไปจึงมักจะมีราคาตํ่ากว่า โดยในบริเวณนี้มีราคา ตร.ว. ละ 1.1 หมื่นบาท หรือ ไร่ละ 4.4 ล้านบาท และเคยขึ้นสูงสุดถึง 1.25 หมื่นบาทต่อ ตร.ว. หรือ ไร่ละ 5 ล้านบาท ในช่วงปี 2559 แต่หลังจากนั้นมาราคาที่ดินก็ตกตํ่ามาตลอด
ห่างจากศูนย์กลางความเจริญไม่มากนัก ก็ไม่ช่วยให้ราคาเพิ่มขึ้นได้
ทั้งนี้ ในปี 2544 ตกตํ่าลงเหลือเพียง 7,700 บาทต่อ ตร.ว. หรือ 3.08 ล้านบาทต่อไร่ และหลังปี 2559 เป็นต้นมา ราคาก็เพิ่มขึ้น ตร.ว. ละ 1.1 หมื่นล้านบาท เท่าปี 2537 เนื่องจากห่างไกลความเจริญ ทั้งนี้ ความเจริญตาม “ถนนรังสิต-นครนายก” มักมาไกลไม่เกินคลอง 6 หรือ ก่อนถึง ถนนกาญจนาภิเษก (วงแหวนรอบนอก) อนาคตหากถนนวงแหวนรอบนอกรอบที่ 3 เกิด จะส่งผลบวกต่อทำเลนี้
อย่างไรก็ตาม “ถนนวงแหวนรอบฯ 3” จะผ่านพื้นที่ใกล้เคียงกับแปลงที่ดินที่ “ไกลปืนเที่ยง” ทั้ง 3 แปลงข้างต้น คือ แปลงถนนเลียบคลอง 13 กม. 5 แปลงตรงข้ามศูนย์ศิลปาชีพบางไทร และแปลงถนนรังสิต-นครนายก กม. 37 (คลอง 14) อย่างไรก็ตาม การวางแผนสร้างถนนสายนี้ คาดว่าจะกินเวลาอีกนับสิบปีกว่าจะสำเร็จ ดังนั้น ราคาที่ดินจึงขึ้นไม่มาก บทเรียนสำคัญในการซื้อที่ดินจากกรณีศึกษา 3 แปลงนี้ ก็คือ การซื้อที่ดินรอบนอกที่ยังไม่มีศักยภาพที่ชัดเจน แม้จะตั้งอยู่ติดถนนใหญ่ (ไม่ใช่ซอยย่อย) ตั้งอยู่ห่างจากศูนย์กลางความเจริญไม่มากนัก ก็ไม่ช่วยให้ราคาเพิ่มขึ้นได้ เพราะศักยภาพที่จำกัด เนื่องจากเมืองยังขยายตัวไปไม่ถึง ยิ่งหากมีข้อกำหนดห้ามก่อสร้าง เช่น กรณีศูนย์ศิลปาชีพฯ ก็ยิ่งทำให้เจ้าของที่ดินเสียประโยชน์มหาศาล
ที่มา thansettakij.com