รัฐ จ่อหารือธปท. ปลดล็อกมาตรการคุมสินเชื่อกู้บ้าน ธอส.ได้รับผลกระทบจากมาตรการแอลทีวีค่อนข้างรุนแรง พร้อมหารือกับธปท.ให้ผ่อนผันเงื่อนไขการปล่อยกู้บ้านกับธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เพื่อเป็นการช่วยเหลือให้กับผู้มีรายได้น้อย กู้บ้านได้ง่ายขึ้น
ปลดล็อกมาตรการคุมสินเชื่อกู้บ้าน
นาย ลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค.อยู่ระหว่างติดตามผลกระทบมาตรการคุมสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ หรือแอลทีวี ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือธปท. ที่เกิดขึ้นกับธนาคารของรัฐว่า มีผลต่อการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยลดลงต่อเนื่องหรือไม่ เนื่องจากก่อนมาตรการมีผลบังคับใช้ได้มีการเร่งโอนที่อยู่อาศัยกันจำนวนมาก ทำให้ยอดการโอนในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาลดลง ซึ่งต้องดูต่อไปอีกระยะหนึ่งว่าเป็นการลดลงชั่วคราวหรือเป็นการลดลงถาวรทุกเดือน เพื่อจะหารือกับธปท. ได้อย่างถูกต้อง
“ที่ผ่านมา ธปท.ให้เหตุผลว่า มาตรการแอลทีวีไม่กระทบกับการปล่อยกู้บ้านหลังแรก เป็นมาตรการคุมการปล่อยกู้บ้านหลังที่ 2 และ 3 เพื่อไม่ให้เกิดการซื้อบ้านเพื่อเก็งกำไร และการปล่อยกู้บ้านแบบมีเงินถอน เพราะธปท.พบว่าธนาคารพาณิชย์บางแห่งปล่อยกู้ซื้อบ้านให้กับผู้กู้ถึง 110-115% ของราคาประเมิน จึงต้องออกมาตรการนี้มาเพื่อดูแลเรื่องเสถียรภาพ จึงต้องรอดูผลของมาตรการนี้อย่างแท้จริงอีกระยะหนึ่ง
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า สศค. ได้เรียกธอส.และ ธนาคารออมสิน มาให้ข้อมูลผลกระทบจากมาตรการแอลทีวี เพื่อที่จะหารือกับธปท.ให้ผ่อนผันเงื่อนไขการปล่อยกู้บ้านกับธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เพื่อเป็นการช่วยเหลือให้กับผู้มีรายได้น้อยซึ่งส่วนใหญ่เป็นการปล่อยกู้บ้านหลังแรกให้ได้เข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น
ธอส. โดยผลกระทบจากมาตรการแอลทีวี แบบเต็มๆ
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า หลังจากเดือน มี.ค.นี้ ธนาคารมียอด ปล่อยสินเชื่อบ้านลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากมาตรการแอลทีวีของธปท. รวมถึงลูกค้ามีการเร่งโอนก่อนมีมาตรการจำนวนมาก ซึ่งยอมรับว่ามาตรการที่ออกมาทำให้กำลังซื้อของคนที่ต้องการมีบ้านลดลงไป เช่น ถ้าบ้านราคา 1 ล้านบาท เดิมมีเงินดาวน์แค่ 5 หมื่นบาท เพิ่มเป็น 2 แสนบาทถึงจะซื้อได้ อีกทั้งยังได้รับรายงานจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ว่า ลูกค้าถูกปฏิเสธการของกู้จากธนาคารพาณิชย์มากด้วย
ทั้งนี้ในต้นเดือน มิ.ย. 62 ออมสินจะมีการประเมินผลกระทบ พร้อมออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ต้องการซื้อบ้าน 2-3 มาตรการ ซึ่งจะต้อง ไม่ทำให้ธนาคารต้องรับความเสี่ยง อาทิ การเปิดให้ลูกค้าออมก่อนและถึงขอสินเชื่อได้ หรือทำรูปแบบเช่าซื้อ เช่น ให้เช่าซื้อแล้วเข้าไปอยู่ได้ แต่ยังไม่โอน ซึ่งระหว่างนี้ถ้ามีประวัติการผ่อนดีไม่ผิดนัดชำระ 2 ปี จึงค่อยโอนเป็นกรรมสิทธิ์ให้ทั้งปี 62 มีเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งปีที่ 6-7 หมื่นล้านบาท เติบโต 6-7%
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์