หลังคาดการณ์ว่า กฎกระทรวงผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 จะมีผลบังคับใช้ราวปลายปี 2562 และถือเป็นการพลิกโฉมหน้าการพัฒนาเมืองครั้งสำคัญควบคู่กับรถไฟฟ้าขณะเสียงสะท้อนของภาคเอกชนยังมีอยู่เนืองๆ ทั้งข้อดีข้อเสีย ทั้งนี้เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือ การกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ
นายวิวัฒน์ เลาหพูนรังสี ประธานกรรมการอาวุโส บริษัท อารียา พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์โครงการแนวราบและคอนโดมิเนียมใจกลางเมือง กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงข้อเสนอแนะต่อการจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพฯ-ปริมณฑลฉบับใหม่ คาดว่าจะมีผลอย่างมากต่อแผนพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชนในอนาคต
ทั้งนี้ผังเมืองดังกล่าว จะมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายในช่วงปลายปี 2562 นั้น มีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยเป้าหมายสูงสุดคือ เพื่อกำหนดแนวนโยบายถึงทิศทางการพัฒนาประเทศ ซึ่งในฐานะเอกชนเห็นด้วยกับหลักการ โดยเฉพาะขยายการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณรถไฟฟ้าทุกเส้นทางที่เปิดใช้บริการในปัจจุบัน จาก 500 เมตร เป็น 800-1,000 เมตร ทั้ง 2 ฝั่งจากสถานี เพื่อรองรับการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามการเพิ่มขึ้นของแหล่งงานและประชากรกระจุกตัวในเมือง
โดยซัพพลายที่เพิ่มขึ้นหลากหลาย จะส่งผลให้มีราคาถูกลง แตกต่างจากปัจจุบันที่การพัฒนามีข้อจำกัด ต้นทุนที่ดินสูง ส่งผลให้ต้องทำโปรดักต์ราคาแพงเพื่อให้คุ้มค่า ซึ่งผลที่ตามมา คือทำให้คนมีรายได้ปานกลาง-น้อยเข้าไม่ถึง เกิดความเหลื่อมลํ้า
ส่วนสิ่งที่อยากให้รัฐแก้ไขในการร่างผังเมืองฉบับนี้ คือต้อง การให้หันกลับไปทบทวนบทเรียนในอดีต ถึงการออกข้อกำหนดต่างๆ โดยที่ขั้นตอนปฏิบัติไม่สามารถกระทำได้จริง เช่น เคยกำหนดหลักการให้มี “แนวถนน” มากกว่า 136 สาย ซึ่งปัจจุบันไม่ได้ดำเนินการก่อสร้างหรือขยายถนนตามแผน ทำให้ประชาชนเจ้าของที่เดิมเสียประโยชน์ ขณะที่ผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินการใดๆได้กลัวบุกรุก ซึ่งหากรัฐยังเห็นว่าเป็นประโยชน์ต้องการคงไว้ ก็ควรกำหนดเป็นแผนและขั้นตอนพร้อมปฏิบัติทันที มากกว่าการออกเพียงแนวนโยบายดั่งในอดีต เพื่อเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย
“ผังเมืองใหม่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา และไม่ได้ซํ้าเติมปัญหา แต่อะไรที่คิดแล้ว ทำไม่ได้ ต้องรื้อให้จบ ถ้ารัฐต้องการให้มีแนวถนนหวังแก้ปัญหาจราจรในอนาคต ก็ต้องกำหนดแผนให้ชัดเจนเป็นรูปธรรม เช่น รีบออก พ.ร.บ.เวนคืนก่อน ส่วนงบประมาณไม่มีก็ว่าไป ขออย่ามีแต่แนว แต่ไม่ทำอะไรสักที ประชาชนเขาเดือดร้อน เอกชนก็ทำไม่ถูก”
ทั้งนี้ การร่างผังเมืองรวมกรุงเทพฯ และ 6 จังหวัดปริมณฑล ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทร ปราการ สมุทรสาคร นครปฐม และฉะเชิงเทรา จะถูกวางโดยการนำโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆของภาครัฐมาเป็นองค์ประกอบในการกำหนดรายละเอียด เช่น โครงการรถไฟฟ้าเส้นทางใหม่ๆ โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง เป็นต้น เพื่อให้การพัฒนาเมืองมีความเชื่อมโยงเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ขณะที่ปัจจุบันสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลขยายตัวเพิ่มมากขึ้นกว่า 2 พันตารางกิโลเมตร มีจำนวนประชากรอาศัยกระจุกตัวมากกว่า 16.7 ล้านคน ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่า อีกไม่เกิน 20 ปีข้างหน้า จะเพิ่มสูงขึ้นถึงเกือบ 20 ล้านคน เนื่องจากความเป็นเมืองและเขตอุตสาหกรรมขยายตัวเติบโต โดยการกำหนดโครงข่ายถนนในผังเมือง เพื่อหวังแก้ปัญหาการจราจร
ด้านนายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ระบุว่า ปัจจุบันขั้นตอนการยกร่างผังเมืองรวมกทม.ฉบับใหม่ ยังมีอีกหลายขั้นตอน ดังนั้นการกำหนดเงื่อนไขการพัฒนา ต่างๆน่าจะยังไม่ชัดเจน เช่น ที่ว่า โซนไหนทำอะไรได้มาก โซนไหนพัฒนาได้น้อย ทั้งนี้หากการซื้อที่ดินเกิดความคาดหวัง แต่กลับ ไม่ตรงตามที่คิด อาจไม่คุ้มทุน เพราะทุกอย่างอยู่ในชั้นพิจารณา อาจมีการแก้ไขปรับเปลี่ยนได้ แต่ภาพรวมเข้าใจว่าน่าจะพัฒนาได้มากขึ้น
ที่มา หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ