นับถอยหลัง คนไทย เตรียมขึ้นอันดับ 1 “สังคมคนแก่” เร็วสุดในอาเซียน

ผู้สูงอายุ

จากการสำรวจสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. 2513, 2533, 2553 และ 2583 โดยสำนักงานสถิติ พบว่า ในปี พ.ศ. 2553 สัดส่วนประชากรวัยเด็ก ซึ่งเคยมีจำนวนมากที่สุดถึงร้อยละ 45 ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 19 ส่งผลให้ฐานพีระมิด ซึ่งเคยปรากฏเป็นสัดส่วนที่กว้างที่สุด เริ่มแคบลง ในขณะที่ สัดส่วนของประชากร ผู้สูงอายุ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สัดส่วนสังคม ผู้สูงอายุ เพิ่มขึ้นเร็วสุดในอาเซียน

“นัยทางสังคมและเศรษฐกิจของปรากฏการณ์นี้ ลึกซึ้ง กว้างไกล เกินขอบเขตของผู้สูงอายุคนหนึ่งและครอบครัวที่ใกล้ชิด ส่งผลต่อสังคมวงกว้างและประชาคมโลกแบบไม่เคยมีมาก่อน”

ส่วนหนึ่งของคำกล่าวโดย นายบัน คีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ ในรายงาน “สูงวัยในศตวรรษที่ 21 : การเฉลิมฉลองและความท้าทาย (Aging in the Twenty-First Century : A Celebration and A Challenge)” ชี้ให้เห็นภาพใหญ่ของยุคปัจจุบัน ที่ซ้อนทับภายใต้การให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรที่ ‘เจเนอเรชัน’ เข้ามามีส่วนในการพัฒนาทรัพยากรบุคคล รวมถึงการกำหนดวิสัยทัศน์ให้สนองตอบความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง อันเป็นผลกระทบจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้อย่างทันท่วงที

การพัฒนาและการแข่งกันเพื่อไปถึงเป้าหมาย ทำให้ประชากรที่มีอายุระหว่าง 20-30 ปี มุ่งตอบสนองความต้องการในชีวิตด้านหน้าที่การงานมากกว่าการแต่งงานและการมีบุตร ด้วยเหตุนี้ เมื่อเวลาล่วงเลยไป อายุที่มากขึ้นทำให้ภาวะการมีบุตรยากมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ประกอบกับ เทคโนโลยีทางการแพทย์และการดูแลรักษาตัวเองที่ดีขึ้นในกลุ่มของผู้สูงอายุ ระยะห่างจำนวนประชากรแต่ละช่วงวัยที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ จากโครงสร้างประชากรไทยช่วงต้นปี 2500 ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปทรงพีระมิดฐานกว้าง อันบ่งชี้ว่า มีสัดส่วนของประชากรวัยเด็กที่มีจำนวนมากที่สุด ขณะที่ วัยทำงานช่วงวัยแรงงานที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นส่วนแกนกลางของพีระมิด และมีกลุ่มประชากรผู้สูงอายุ ซึ่งมีสัดส่วนน้อยที่สุดเป็นส่วนยอดแหลม

ผู้สูงอายุ

อย่างไรก็ตาม  จากปัจจัยและบริบทแวดล้อมที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้คนไทยมีอายุคาดเฉลี่ยยืนยาวขึ้นและอัตราการเกิดมีแนวโน้มลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อพิจารณาจากการแบ่งระดับสังคมผู้สูงอายุในแต่ละประเทศ โดยสหประชาชาติใน 3 ระดับ คือ

  • ระดับการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) คือ ประเทศที่มีประชากรอายุ 60 มากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรอายุ 65 เพิ่มเป็นร้อยละ 7 ของประชากรทั้งประเทศ
  • ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) คือ ประเทศที่ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรอายุ 65 เพิ่มเป็นร้อยละ 14 ของประชากรทั้งประเทศ
  • ระดับสังคมผู้สูงอายุรับสุดยอด (Super-aged Society หรือ Hyper-aged Society) คือ การเพิ่มขึ้นของประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ

ผู้สูงอายุ

จากระดับดังกล่าวและการคาดการณ์ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ประเทศไทยได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2567-2568 เมื่อพิจารณาร่วมกับรายงานการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบเชิงนโยบายต่อการพัฒนาประเทศจากผลการคาดประมาณประชากรของไทย พ.ศ. 2553-2583 โดยคณะอนุกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งเผยแพร่ในปี 2556 ว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-aged Society) ในปี 2575 เป็นประเทศที่ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุที่เร็วที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สอดคล้องกับการศึกษาขององค์กร Help Age International ที่เข้าไปศึกษาและบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับสังคมผู้สูงอายุในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่พบว่า ประเทศไทยมีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยคาดว่า ในปี 2583 (ค.ศ. 2040) จะมีประชากรผู้สูงอายุมากถึง 17 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 25 ของประชากรทั้งหมด

การเร่งเตรียมความพร้อมรับมือกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นและเร่งด่วนอย่างยิ่ง ในฐานะปรากฏการณ์ที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ผลกระทบในระดับมหภาค ทั้งผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) รายได้ประชากร การออม และการลงทุน การกำหนดงบประมาณของรัฐบาลในการจ้างงานและการเพิ่มศักยภาพของแรงงานในระบบปฃ การกำหนดนโยบายของรัฐบาลในการเร่งสนับสนุนเรื่องการมีบุตรอย่างเหมาะสม ไม่รวมถึงผลกระทบในระดับจุลภาค อย่าง ผลต่อตลาดผู้บริโภค ทั้งในด้านของการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และการบริการ ซึ่งมาตรการ นโยบาย และแนวทางการรับมือเหล่านี้ ต่างต้องใช้เวลาในการวางแผนและการดำเนินการอย่างรอบคอบ รวดเร็ว และเร่งด่วน เพื่อให้สัมฤทธิผลอย่างทันท่วงที ต่อแนวโน้มผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นในทุก ๆ ปี

 

ที่มา หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,352

 

สนใจข้อมูลข่าวสารอื่นๆเพิ่มเติมจาก Dotproperty คลิ๊ก …