หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ…. เมื่อ 7 มิ.ย. 59 กลายเป็นจุด “คิกออฟ” ให้กับวงการอสังหาริมทรัพย์ “ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจความเห็นสมาคมอสังหาฯ พบว่า ร่างกฎหมายฉบับล่าสุดถือเป็นผลดีกับภาคอสังหาฯ มากกว่าผลเสีย
โดย “อธิป พีชานนท์” นายกสมาคมธุรกิจ บ้านจัดสรร ระบุว่า ผลดี คือ อัตราภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่า เริ่มต้น 1% สูงสุด 5% ปรับขึ้นตามระยะเวลาถือครอง เป็นตัวบีบให้เจ้าของที่ดินยอมขายที่ดินมากขึ้น เพราะเงินภาษีจ่ายต่อปีค่อนข้างสูง เป็นผลดีต่อธุรกิจอสังหาฯ มีตัวเลือกที่ดินมากขึ้น และคาดหวังราคาที่ดินอาจชะลอการเติบโตด้วย
ส่วนผลกระทบเชิงลบน่าจะอยู่ที่ภาษีที่ดินฯ ประเภทที่อยู่อาศัย หากเป็นบ้านหลังแรกยกเว้นสำหรับบ้านราคาไม่ถึง 50 ล้านบาท จึงแทบไม่กระทบเลย ในขณะที่ “บ้านหลังที่ 2” เป็นต้นไป ถูกเก็บตั้งแต่บาทแรก ตั้งแต่ 0.03-0.3% หรือตั้งแต่ล้านละ 300 จนถึงล้านละ 3 พันบาท ขึ้นกับมูลค่าทรัพย์สิน
ขณะที่ประเภทพาณิชยกรรมเริ่มต้นเก็บ 0.3-1.5% หรือล้านละ 3 พันบาทจนถึงล้านละ 1.5 หมื่นบาท กลายเป็นประเด็นขึ้นมานิดหน่อยเพราะถ้าซื้อบ้านแล้วอยู่เอง เสียภาษีเริ่มต้นล้านละ 300 บาทต่อปี แต่ถ้านำมาปล่อยเช่าเมื่อไหร่ถูกตีความเป็นพาณิชยกรรมต้องจ่ายภาษีเริ่มต้นล้านละ 3 พันบาททันที
จึงคาดว่าทำให้ลูกค้าซื้อเป็นบ้านหลังที่ 2 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคอนโดมิเนียมอาจเกิดความลังเลตัดสินใจซื้อ หรือขายห้องชุดออกมา โดยเฉพาะกลุ่มราคา 1-4 ล้านบาทที่ไม่ได้มีกำลังซื้อมาก กรณีผู้ซื้อระดับบน 10 ล้านบาท/ยูนิตขึ้นไปไม่น่าห่วงอะไรเพราะจ่ายได้
ส่วนประเด็นอื่น ๆ มองว่ารัฐบาลได้ให้สิทธิตามที่สมาคมชี้แจงและร้องขอไป 2 เรื่องหลัก 1.ยกเว้นภาษีสำหรับพื้นที่ส่วนกลางและที่ดินเพื่อสาธารณูปโภคในโครงการจัดสรร 2.ลดหย่อนภาษีที่ดินเหลือ 0.05% สำหรับในช่วงพัฒนาโครงการ 3 ปีแรก
“ที่ดินอยู่ระหว่างพัฒนาโครงการเราร้องขอไป 0% ผลออกมาก็ยังถูกเก็บภาษีแต่เบาบางมาก 0.05% ถือว่าไม่มีผลอะไรมากนัก อาจจะส่งผลต่อราคาบ้านปรับเพิ่มบ้าง แต่ก็คงน้อยมาก ๆ กฎหมายนี้ไจึงออกมาในแนวทางที่เรารับได้”
สอดคล้องกับ “พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์” นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวตรงกันว่า ผลดีทำให้แลนด์ลอร์ดยอมปล่อยขายที่ดินมากขึ้น โดยเฉพาะที่ดินมรดกตกทอดเก่าแก่ มีเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมหลายคน ในอนาคตถ้าบังคับใช้ได้จริง เชื่อว่าภาษีที่ดินจะเป็นแรงกดดันให้ตัดสินใจขายเร็วขึ้น
มีเรื่องที่อดกังวลไม่ได้ว่า กฎหมาย ภาษีที่ดิน ต้องมีความรอบคอบรัดกุม ควบคุมไม่ให้แลนด์ลอร์ดเลี่ยงปลูก “สวนกล้วย” กลางเมืองเพื่ออ้างเป็นที่ดินเกษตรกรรม เสียภาษีที่ดินเริ่มต้น 0.05% หรือล้านละ 500 บาท รัฐจึงควรมีนิยามที่ดินเกษตรกรรมที่ชัดเจน
ด้านการพัฒนาโครงการที่ถูกจำกัดลดภาษี 3 ปีแรก เชื่อว่ากระทบบ้างต่อผู้ประกอบการบางราย ที่ใช้เวลาพัฒนาโครงการยาวนับ 10 ปีต่อแปลง หลังจากนี้ก็ต้องพิจารณาความคุ้มค่าที่จะซื้อที่ดินแปลงใหญ่มาลงทุน หากต้องจ่ายภาษีที่ดินสูง 1-3%
ขอขอบคุณข้อมูลและรูป prachachat.net
สำหรับท่านใดที่สนใจอยากซื้อ ขายบ้าน คอนโด หรือ ทาวน์เฮ้าส์ มือ1 มือ 2 สามารถเข้าดูได้เลยที่ https://www.dotproperty.co.th/