มหาดไทยเตรียมชง ครม.ชี้ขาด จัดเก็บขยะ 170 บาท/ครัวเรือน หวังลดภาระจ่ายงบประมาณปีละ 1.3 หมื่นล้าน กทม.เผยค่าบริหารจัดการขยะปีละ 6.5 พันล้าน เก็บค่าธรรมเนียมได้จิ๊บจ๊อยแค่ 500 ล้าน เผยร่างกฎหมายรักษาความสะอาดฯฉบับใหม่เปิดช่องเอกชนเข้าบริหารจัดการไม่ต้อง เข้า พ.ร.บ.ร่วมทุน
แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทยเปิดเผยว่า เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. ….ให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พิจารณาก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี เสนอเข้าพิจารณาในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มหาดไทย ซึ่งจะเป็นแกนหลักในการแก้ปัญหาขยะตามโรดแมปที่วางไว้ ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ สาธารณสุข อุตสาหกรรม โดยแผนระยะยาวจะแก้ปัญหาขยะทั้งระบบทั่วประเทศ 26 ล้านตัน/ปี กับขยะสะสมรวม 30 ล้านตันให้ลดลงมากที่สุด
ขณะเดียวกันจากที่ได้คำนวณต้นทุนการจัดเก็บพบว่า ต้นทุนการจัดเก็บอยู่ที่ 70 บาท/ครัวเรือน/เดือน ค่าขนขยะที่ 100 บาท/ครัวเรือน/เดือน รวม 170 บาท/ครัวเรือน/เดือน โดยจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชี้ขาดว่า จะจัดเก็บจากครัวเรือนเต็มจำนวนหรือค่อย ๆ จัดเก็บเพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันไดจนครบ 170 บาท จากปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กับเมืองพัทยาจ่ายเงินงบประมาณค่าจัดเก็บและขนขยะปีละกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท และกรุงเทพมหานคร (กทม.) 6 พันล้านบาท แต่ อปท.จัดเก็บค่าธรรมเนียมได้เพียง 2.3 พันล้านบาท กทม.จัดเก็บได้ 500 ล้านบาทเท่านั้น
นอกจากนี้อยู่ระหว่างหาแนวทางการนำขยะดังกล่าวไปใช้ โดยเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนซื้อขยะไปบริหารจัดการ อาทิ ผลิตไฟฟ้า โดยร่างกฎหมายฉบับใหม่จะเปิดให้เอกชนเข้าดำเนินการ โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ
นายกิตตินันท์ ขาวสุทธิ์ รองปลัด กทม. เปิดเผยว่า กทม.ลงทุนบริหารจัดการขยะปีละ 6.5 พันล้านบาท แต่เก็บค่าธรรมเนียมขยะได้ปีละ 500 ล้านบาท ขาดทุนกว่า 6,000 ล้านบาท จึงต้องกลับมาคิดทบทวนว่าจะปฏิบัติอย่างไรให้คุ้มค่า ที่สามารถทำได้คือการเร่งรัดการจัดเก็บขยะ และค่าธรรมเนียม ลดภาระจากที่ กทม.ต้องจ่ายงบฯแต่ละปีจำนวนมาก
นายนพดล แก้วสุพัฒน์ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หลักการจัดเก็บขยะถือเป็นหลักบริการไม่ได้นึกถึงความคุ้มค่าของรัฐ เพราะไม่ใช่เอกชน หรือทำธุรกิจ โดยปกติอัตราจัดเก็บอยู่ที่ 30-40 บาท/เดือน ซึ่งไม่ควรแค่ 40 บาท แต่หากจะจัดเก็บเพิ่มขึ้นเป็น 170 บาท/เดือน ประชาชนจะเดือดร้อน ที่สำคัญแต่ละเขตพื้นที่ไม่เหมือนกัน บางแห่งไม่มีบ่อขยะของตัวเอง ต้องพึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งแต่ละแห่งคิดค่าบริการไม่เท่ากัน อาทิ ตันละ 150 บาท แต่บางแห่งตันละ 400-500 บาท ดังนั้นหากกฎหมายออกมาจะช่วยเรื่องค่าใช้จ่าย แต่ไม่ต้องถึง 170 บาท/เดือน แค่ 60 บาทก็ขอให้ทำให้ได้ก่อน
ขณะที่นายธีรวุฒิ กลิ่นกุสุม นายกเทศมนตรีนครรังสิต กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าขยะเป็นหลังคาเรือนละ 170 บาท/เดือนนั้น ในหลักการแล้วเห็นด้วย เพราะปัจจุบันเทศบาลนครรังสิตมีประชากรตามทะเบียนบ้าน 2 หมื่นคน ประชากรแฝง 200,000 คน ปริมาณขยะ 100-150 ตัน/วัน เสียค่าใช้จ่ายจัดการขยะปีละ 70 ล้านบาท เก็บค่าธรรมเนียมค่าจัดการขยะเดือนละ 40 บาท หรือเหมาจ่ายปีละ 400 บาท ซึ่งไม่เพียงพอ ต้องนำเงินจากส่วนอื่นมาสมทบเพิ่ม
นายชาตรี เชื้อมโนชาญ รองนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ กล่าวในทำนองเดียวกันว่า การบริหารจัดการขยะของเทศบาลนครเชียงใหม่ปัจจุบันขาดทุนทุกปี โดยจัดเก็บได้ราว 100 ล้านบาท ขณะที่ค่าจัดเก็บและฝังกลบที่ต้องจ่ายให้กับเอกชนที่ได้สัมปทานอยู่ที่ 300 ล้านบาท/ปี แต่ถือว่าเป็นบริการสาธารณะและยอมขาดทุน การจะเพิ่มค่าจัดเก็บเป็น 170 บาท/ครัวเรือน/เดือน จึงอาจเป็นไปได้ยาก
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปจาก prachachat.net
สำหรับท่านใดที่สนใจอยากซื้อ ขายบ้าน คอนโด หรือ ทาวน์เฮ้าส์ มือ1 มือ 2 สามารถเข้าดูได้เลยที่ https://www.dotproperty.co.th/