รถไฟฟ้า เปลี่ยนภูมิทัศน์ ปี”63 เปิด “สีน้ำเงิน-สีเขียว-สีทอง” บูมคลองสาน ท่องเที่ยว การค้าเยาวราช-วังบูรพา “สะพานใหม่-มีนบุรี” เมืองใหม่โซนเหนือ-ตะวันออก สีแดงหนุน “สถานีกลางบางซื่อ” ฮับระบบราง รังสิตเกตเวย์กรุงเทพฯ “ตลิ่งชัน-ศิริราช” ศูนย์ใหญ่ สีส้มเสริม “พระราม 9-รัชดาฯ-มักกะสัน” ซีบีดีใหม่ โมโนเรลสีชมพู-เหลืองพลิกโฉม “โชคชัย 4-บางกะปิ-รามอินทรา-ลาดพร้าว” จ่อลุยประมูล 2.7 แสนล้าน อีก 5 สาย รถไฟฟ้าสารพัดสี 14 เส้นทาง ตามแผนแม่บท 557.56 กม. รวม 386 สถานี ที่รัฐบาลทุ่มลงทุน 1 ล้านล้านบาท เชื่อมการเดินทางกรุงเทพฯและปริมณฑล ได้ทยอยเปิดปี 2563 และจะเปิดเพิ่ม 3 เส้นทางอีก 47.5 กม.
รถไฟฟ้าใหม่เปิดหวูด
ได้แก่ สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายวิ่งครบลูปหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ เชื่อมใจกลางเมืองกับฝั่งธนบุรี ในวันที่ 30 มี.ค. 2563 สายสีเขียวส่วนต่อขยาย “หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต” กลางปี 2563 จะเปิดถึงสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ และในเดือน ธ.ค.จะเปิดถึงคูคตสายสีทองเป็นระบบไร้คนขับ จะเชื่อมจากบีทีเอสกรุงธนบุรี-สำนักงานเขตคลองสาน หน้าศูนย์การค้าไอคอนสยาม จะเร่งเปิดใช้ในเดือน มิ.ย.นี้
สีส้มตะวันออกขยับไปปี”67
ที่กำลังสร้าง 3 เส้นทาง 87.4 กม. 70 สถานี นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สายสีส้มช่วงศูนย์วัฒธรรม-มีนบุรี 22.50 กม. 17 สถานี วงเงิน 109,021 ล้านบาท การเปิดบริการจะขยับจากปี 2566 เป็นปี 2567
ขณะที่โมโนเรล 2 เส้นทาง สายสีชมพูแคราย-มีนบุรี 34.5 กม. 30 สถานี วงเงิน 50,340 ล้านบาท คืบ 43.21% เปิดบริการเดือน ต.ค. 2564 พร้อมสายสีเหลืองลาดพร้าว-สำโรง 30.4 กม. 23 สถานี วงเงิน 47,558 ล้านบาท สร้างคืบหน้า 42.81%
ส่วนต่อขยายจะเริ่มสร้างปี 2563 สายสีชมพูสร้างต่อจากสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี 3 กม. มี 2 สถานี สายสีเหลืองแยกรัชดาฯ-ลาดพร้าว-รัชโยธิน 2.60 กม. 2 สถานี รอสรุปผลกระทบต่อสายสีน้ำเงินกับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ทั้ง 2 ช่วงจะเปิดบริการในปี 2565
เร่งประมูล 5 เส้นทาง
นายภคพงศ์กล่าวว่า ปี 2563 จะเปิดประมูล PPP net cost 30 ปี สายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ ก่อสร้างและเดินรถตลอดสาย สัญญาเดียว 122,067 ล้านบาท อยู่ระหว่างเสนอ ครม.อนุมัติ จะเริ่มสร้างปี 2564 เปิดบริการปี 2568 และสายสีม่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ 23.6 กม. 124,959 ล้านบาท เริ่มสร้างปี 2564 เสร็จปี 2569 และปี 2564 จะเปิด PPP สีน้ำตาลแคราย-ลำสาลี 48,577 ล้านบาท
นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ม.ค. 2564 จะเปิดสายสีแดงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต 41.56 กม. 15 สถานี จะเชื่อมโซนตะวันตก-โซนเหนือของกรุงเทพฯ ส่วนสายสีแดงส่วนต่อขยาย 3 เส้น ครม.อนุมัติแล้ว วงเงิน 24,241 ล้านบาท จะเปิดประมูลปี 2563 ได้แก่ ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช จะใช้เวลาสร้าง 3 ปี แล้วเสร็จเปิดปี 2565 ส่วนต่อขยายสายสีเขียวคูคต-ลำลูกกา 6.5 กม. และสมุทรปราการ-บางปู 9.5 กม.
ล่าสุด กทม.ชะลอไว้ก่อน ขณะที่ รฟม.ชะลอแผนลงทุนส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 รอประเมินผู้โดยสารจากสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายที่เพิ่งเปิดบริการก่อน
พลิกโฉมชานเมือง
นางชูขวัญ นิลศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานวางผังเมือง สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเปิดรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายใหม่จะพลิกโฉมย่านชานเมือง และสถานีที่เป็นจุดตัดรถไฟฟ้า 53 สถานี จะเกิดการพัฒนาใหม่ ๆ รองรับการขยายตัวที่จะกระจายมาจากพื้นที่ในเมือง
“ปัจจุบันศูนย์กลางธุรกิจหรือย่านซีบีดี อยู่แนวรถไฟฟ้าบีทีเอสและใต้ดิน ย่านสีลม สาทร พระราม 4 ปทุมวัน เพลินจิต ต่อเนื่องไปถึงรัชดาฯ พระราม 9 มักกะสัน เมื่อสายสีส้มเปิดจะหนุนให้รัชดาฯและพระราม 9 เป็นทำเลซีบีดีมีศักยภาพมากขึ้น”
บูมลาดพร้าว-สะพานใหม่
นางชูขวัญกล่าวว่า หากลงลึกรายละเอียดแต่ละเส้นทาง ในส่วนของสายสีเขียวหมอชิต-คูคต สร้างบนถนนพหลโยธิน จะเห็นการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ห้าแยกลาดพร้าว-รัชโยธิน และรัชดาฯ-ลาดพร้าวที่เชื่อมสายสีน้ำเงิน เกิดที่อยู่อาศัยหนาแน่นประเภทไฮเอนด์รับศูนย์กลางธุรกิจและการคมนาคมสถานีกลางบางซื่อ และสายสีเหลืองต่อขยายรัชดาฯ-ลาดพร้าว-รัชโยธิน เพราะเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกัน และโซนสะพานใหม่ที่เป็นตลาดสดและย่านการค้าเก่า จะอัพเกรดเป็นศูนย์พาณิชยกรรม เมือง และย่านอยู่อาศัยทางโซนเหนือเพราะอยู่ใกล้สายสีแดงและสถานีวัดพระศรีมหาธาตุเป็นจุดตัดกับสายสีชมพู
“ทำเลพหลโยธินจะมีโอกาสพัฒนามากขึ้น เพราะสายสีเขียวเป็นเส้นทางหลักวิ่งเข้าในเมือง ซึ่งเอื้อต่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะในซอย ถึงจะมีข้อจำกัดเป็นที่ดินทหาร และถูกคุมความสูงเพราะอยู่ในเขตการบินก็ตาม”
สายสีเหลืองในผังเมืองใหม่ปรับการใช้ประโยชน์ที่ดินถนนลาดพร้าวตลอดสายยาวถึงบางกะปิจากสีเหลือง (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย) เป็นสีส้ม (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง) พัฒนาได้ทั้งที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรม แต่จุดจะพลิกโฉมมี “ตลาดบางกะปิ-ลำสาลี” ซึ่งเชื่อมต่อกับสายสีส้ม จะเปลี่ยนจากย่านพาณิชยกรรมเดิมไปสู่รูปแบบใหม่ ซึ่งบางกะปิยังถูกกำหนดเป็นศูนย์ชุมชนเมือง
ยังมี “ตลาดโชคชัย 4” จะพัฒนาย่านที่อยู่อาศัย เพราะในซอยโชคชัย 4 มีหมู่บ้านเก่าอยู่มาก อีกจุด “ศรีนครินทร์-บางนา-สำโรง” จะพัฒนาเป็นศูนย์ชุมชนเมืองและพาณิชยกรรม เพราะมีสถานีเชื่อมกับแอร์พอร์ตลิงก์ ทำให้เดินทางไปสนามบินสุวรรณภูมิและพญาไทที่เป็นทำเลในเมืองสะดวก และสายสีเขียวที่สำโรง ยังแวดล้อมด้วยศูนย์การค้า เช่น เมกาบางนา เซ็นทรัล ศูนย์ความบันเทิงของเดอะมอลล์ ซึ่ง กทม.ได้ขยายพื้นที่พาณิชยกรรมเพื่อรองรับแล้ว
สายสีชมพูจะเปลี่ยนถนนรามอินทราเป็นทำเลมีศักยภาพมากขึ้น ตั้งแต่ “เซ็นทรัล-มีนบุรี” เพราะตลอดแนวถนน ผังเมืองใหม่เปิดให้พัฒนาอาคารสูงและพาณิชยกรรมได้ จากเดิมสีเหลืองเป็นสีส้ม แต่จุดใหญ่อยู่ที่ “มีนบุรี” สถานีปลายทาง ซึ่งเป็นจุดตัดกับสายสีส้ม จะเป็นศูนย์ชุมชนเมืองขนาดใหญ่ของโซนตะวันออก รองรับคนอยู่อาศัยย่านหนองจอก คลองสามวา ลาดกระบัง นอกจากนี้ ถนนแจ้งวัฒนะจากแยกหลักสี่ถึงคลองประปาได้ขยายพื้นที่สีส้มเพิ่ม
“สายสีทองจะทำให้เกิดการพัฒนาใหม่ ๆ 2 ฝั่งเจ้าพระยาคึกคักมากขึ้น ในย่านคลองสานและศูนย์การค้าไอคอนสยาม รองรับการเป็นศูนย์กลางพาณิชยกรรมและย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์”
จับตา CBD ใหม่
สายสีส้ม เนื่องจากถนนรามคำแหงการพัฒนาหนาแน่น แม้จะมีรีโนเวตศูนย์การค้าเดอะมอลล์ แต่ศูนย์กลางธุรกิจจะอยู่พระราม 9 รัชดาฯ ศูนย์วัฒนธรรมฯที่เป็นจุดตัดกับสายสีน้ำเงิน และจะต่อเนื่องไปถึงมักกะสัน จากปัจจุบันเป็นย่านสำนักงาน พาณิชยกรรมอยู่แล้ว จะหนุนทำเลให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น สายสีน้ำเงินต่อขยายไปฝั่งธนบุรี จะบูมย่านบางแคใกล้กับสถานีปลายทางที่หลักสอง และย่านบางหว้าจุดเชื่อมต่อกับบีทีเอส เป็นศูนย์ชุมชนเมือง ย่านที่อยู่อาศัย และพาณิชยกรรม
ขณะที่สถานีเตาปูนจุดเชื่อมกับสีม่วง (เตาปูน-คลองบางไผ่) เป็นย่านที่มีโอกาสจะพลิกโฉมเป็นย่านพาณิชยกรรมเก่ารูปแบบตึกแถวรองรับคอนโดมิเนียมที่อยู่โดยรอบ ส่วนเยาวราช สนามไชย วังบูรพา จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และเชิงพาณิชย์ตึกแถวแบบมีเอกลักษณ์ เช่น เวิ้งนาครเขษม สายสีแดงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ทำให้ย่านบางซื่อจะเป็นศูนย์กลางธุรกิจและการคมนาคม, ย่านตลิ่งชันจุดตัดสายสีส้มและสีเขียวจะสร้างจากบางหว้า-ตลิ่งชัน จะมีการพัฒนาพาณิชยกรรมมากขึ้น, ย่านรังสิตจะเป็นเกตเวย์ของกรุงเทพฯรองรับคนเดินทางเข้าเมือง และย่านศิริราชเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพ มีการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัย ศูนย์พักฟื้นผู้ป่วย
ที่มา : ประชาชาติ
รฟม. ลดค่าโดยสาร MRT สายสีม่วง สูงสุด 20 บาทตลอดสาย ถึง 31 มี.ค. 63
คอนโดให้เช่า เฮ การคลัง-มหาดไทย แจง จ้ายเท่าอยู่จริง