DotProperty.co.th

อัพเดท รถไฟฟ้าใหม่ 10 สาย พลิกโฉมประเทศไทย

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ภายในเดือนเม.ย.นี้ คาดว่าจะเสนอ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติโครงการ รถไฟฟ้า ทางคู่สายใหม่ บ้านไผ่-นครพนม ระยะทาง 355 วงเงิน 6.7 หมื่นล้านบาท และโครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 (รันเวย์ 3) ของสนามบินสุวรรณภูมิวงเงินประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาทได้ เนื่องจากคณะกรรมการ (บอร์ด) สภาพัฒน์ฯ ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว

โดยในส่วนของทางคู่สายบ้านไผ่-นครพนม นั้น เป็นรถไฟสายใหม่ ยังไม่มีเขตทางรถไฟเดิม จึงต้องเวนคืน ซึ่งพบว่า บางช่วงต้องใช้พื้นที่ เขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม ประมาณ 33 ไร่ ซึ่งทางกรมธนารักษ์ได้นำออกประมูลให้เอกชนไปแล้ว ดังนั้น จะเร่งหารือกับกรมธนารักษ์เพื่อเจรจาในการขอใช้พื้นที่ต่อไป

“เบื้องต้นได้หารือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อขอ เสนอ ครม.ก่อน  แบบมีเงื่อนไขในเรื่องพื้นที่ทับซ้อนเพื่อไม่ให้โครงการล่าช้า ซึ่งรถไฟทางคู่ ขอใช้พื้นที่ไม่มากประมาณ 2%จากพื้นที่ทั้งหมด 1,000 ไร่ ที่สำคัญ เขต ศก.พิเศษจะได้ประโยชน์เมื่อมีรถไฟทางคู่ เป็นการมองผลประโยชน์ในภาพรวมร่วมกัน”

 

3 โครงการ PPP มูลค่า 2.66 แสนล้าน เข้าคิวรอ คสช.

สำหรับโครงการร่วมลงทุนกับเอกชน (PPP) ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการ PPP และเตรียมเสนอครม.อนุมัติ มีอย่างน้อย 3 โครงการ ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ มูลค่า 1.1 แสนล้านบาท, มอเตอร์เวย์สาย นครปฐม-ชะอำ มูลค่า 7.9 หมื่นล้านบาท และรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพ-หัวหิน มูลค่า 7.7 หมื่นล้านบาท

ต่อแถม ค้างเติ่ง รอ บอร์ด สศช.อีกเพียบ

ส่วนรถไฟทางคู่อีก 7 โครงการ มูลค่ากว่า 2.14 แสนล้านบาท อยู่ในขั้นตอนจัดทำรายละเอียดเสนอบอร์ด กสศช.พิจารณา รวมถึงโครงจัดหาฝูงบินใหม่ จำนวน 38 ลำ วงเงิน 1.6 แสนล้านบาท ของบริษัท การบินไทยจำกัด (มหาชน) ที่เข้าคิวรอบอร์ด สศช.พิจารณา

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้ทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยในปี 2558-2565 ระยะเวลา 8 ปี และได้ทำเป็นโครงการเร่งด่วนรายปี เป็นแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ด้วย โดยใน Action Planปี 2562 มีทั้งสิ้น 21 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 1.29 ล้านล้านบาท ที่ต้องขับเคลื่อนต่อเนื่อง และหวังว่ารัฐบาลใหม่จะให้ความสำคัญและผลักดันเพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมาย

ย้อนถอยไปเกือบ 20 ปี  ประเทศไทย มีรถไฟฟ้าให้บริการเพียง 3 สาย นับจากปี 2542 ที่รถไฟฟ้าบีทีเอสเปิดให้บริการ ต้องรออีก 5 ปี ถึงได้ใช้รถไฟฟ้าสายเฉลิมมหานคร (สีน้ำเงิน) (เปิดปี 2547) ปี 2553 เปิด รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์  เปิดสวนทางกับปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะรถยนต์ส่วนตัวจาก “นโยบายรถคันแรก” กทม.จึงกลายเป็นเมืองหลวงที่รถติด เบอร์ต้นๆ ของโลก

“ระบบขนส่งมวลชนเท่านั้น ที่จะช่วยได้ แต่การก่อสร้างไม่ต่อเนื่อง เพราะนอกจากปัญหาอุปสรรค ด้านงบประมาณ การต่อต้าน ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ฯลฯ แล้ว ความไม่แน่นอนของฝ่ายนโยบาย การเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย  เป็นปัญหาใหญ่แผนงานสะดุด”

 

รัวประมูล-ระดมตอกเข็ม…”รับเหมา” งานล้นมือ

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล “คสช.” แต่เพราะ ! รถไฟฟ้า ต้องใช้เงินมหาศาล การใช้งบประมาณอย่างเดียวยากที่จะสำเร็จได้ รัฐบาลจึงมุ่งใช้ รูปแบบเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) เพื่อลดภาระการลงทุนภาครัฐ ซึ่งหากเกิดการลงทุนโครงการใหญ่ จะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ได้อีกด้วย

โดยในปี 2559 มีการเร่งรัดเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสีม่วง ช่วงบางใหญ่เตาปูน ต่อด้วยการเชื่อมต่อ 1 สถานี ช่วงเตาปูน-บางซื่อ เมื่อ 11 ส.ค. 2560 เปิดเดินรถสายสีเขียว 1 สถานี ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ เมื่อ 3 เม.ย.2560 และวิ่งตลอดสาย จากแบริ่ง-สมุทรปราการ เมื่อ 6 ธ.ค.2561

ส่วนโครงการที่กำลังเร่งก่อสร้าง เช่น สีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต- สะพานใหม่-คูคต, สีน้ำเงินช่วง หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ, สีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี (สุวินทวงศ์), สีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-รังสิต, สีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี,สีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง

เตรียมประมูลอีก 4 สาย ได้แก่ สีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ 25.9 กม., สีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มธ.รังสิต 6.5 พันล้านบาท, สีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช 16.6 พันล้านบาท และช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา 1.02 หมื่นล้านบาท

 

ช่วงของการปลดล็อก ! แผนแม่บทรถไฟฟ้า 10 สาย ทำได้จริง… และเตรียมเปิดให้บริการรายปี

ปี 2562 – เปิดสีน้ำเงินต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค ภายใน ส.ค. 2562 และ สายสีเขียวใต้ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ทยอยเปิด เดือน ส.ค. 2562 เปิดบริการจากสถานีหมอชิต-ห้าแยกลาดพร้าว และในเดือน ธ.ค. 2562 เปิดต่ออีก 4 สถานี จากห้าแยกลาดพร้าว-แยกเกษตร

 

ปี 2563 – เปิด สายสีน้ำเงินต่อขยาย ช่วงเตาปูน-ท่าพระ 30 มี.ค. 2563

ขณะที่ สายสีเขียวเหนือจะเปิดต่อจากแยกเกษตร ถึงคูคต ได้ราวสิ้นปี 2563

 

ปี 2564 – เปิดสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-รังสิต

 

ปี 2565 – เปิดสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มธ.ศูนย์รังสิต

 

ปี 2566 – เปิดสายสีส้ม ด้านตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ- มีนบุรี

 

ปี 2567 – เปิดสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ

 

และ ปี 2568 – เปิดสายสีส้ม ด้านตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์

 

อีก 6 ปี กรุงเทพฯจะพลิกโฉม ! หากไม่สะดุด… ติดกับดัก… ปัญหาเดิมๆ

 

ที่มา : ผู้จัดการรายวัน 360 องศา

สินเชื่อ ” บ้านแลกเงิน ” แข่งเดือด แบงก์ย้ายสมรภูมิหลบมาตรการ LTV

 

นั่ง BTS ฟรี! ไม่มีกำหนดเก็บเงิน แบริ่ง-สมุทรปราการ

 

 

สนใจข้อมูลข่าวสารเด่นๆ คอนเทนท์ร้อน ที่เรานำมาเสิร์ฟให้คุณผู้อ่านในทุกๆวันจาก Dotproperty คลิ๊ก