เปิดแม่บทพัฒนาอากาศยาน กพท. เผยอีก 10 ปีสร้างใหม่ที่ภาคใต้และภาคเหนือ ทอท.เคาะ เวนคืนที่ดิน บ้านธิ 7 พันไร่ กว้านซื้อที่ดิน ต.โคกกลอย 7 พันไร่ สร้าง “เชียงใหม่-ภูเก็ต” แห่งที่ 2 ค่าก่อสร้าง 1.26 แสนล้าน รอรัฐบาลใหม่เคาะเดินหน้า คาดภูเก็ตสร้างได้เร็วกว่า กรมท่าอากาศยานปักหมุดบางเลน-นครชัยศรี 3,500 ไร่ รับเที่ยวบินอาเซียน
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผย ว่า แผนแม่บทท่าอากาศยานที่ กพท.ศึกษาระยะเวลา 20 ปี (2561-2580) เพื่อเป็นแนวทางพัฒนาสนามบินใน 38 แห่ง ให้สนามบินที่มีอยู่ในปัจจุบันมีการพัฒนา airside (พื้นที่เขตการบิน) และ landside (พื้นที่นอกการบิน) รองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
เวนคืนที่ดิน กว้านซื้อที่ 1.4 หมื่นไร่
พื้นที่เหมาะสมของ จ.เชียงใหม่อยู่ ต.ห้วยยาบ อ.บ้านธิ จ.ลำพูน เพราะสภาพพื้นที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างรันเวย์ จะใช้พื้นที่ 7,000 ไร่ เวนคืนที่ดินกว่า 5,000 โฉนด เนื่องจากพื้นที่มีจุดอ่อนไหว เช่น มีวัด ชุมชน โรงพยาบาล ส่วนสนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2 ตั้งอยู่ ต.โคกกลอย ต.หล่อยูง อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา พื้นที่ 7,000 ไร่ โฉนดกว่า 200-300 แปลง มีเจ้าของที่ดินหลัก 10 ราย จะซื้อขายง่ายกว่าการเวนคืนที่ดิน
“หลัง ครม.อนุมัติ ทอท.จะไปเร่งจัดหาที่ดินเพื่อประเมินราคา มีทั้งซื้อและเวนคืน ดูแล้วการหาที่ดินสร้างสนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2 จะเร็วกว่าสนามบินเชียงใหม่แห่ง 2 หลังได้ที่ดินจะต้องทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หากผ่านทุกขั้นตอนถึงจะเปิดประมูลใช้เวลาสร้าง 4 ปี”
จากการประมาณการณ์สนามบินเชียงใหม่และภูเก็ตแห่งที่ 2 คาดว่าจะมีปริมาณจราจรทางอากาศสูงขึ้นต่อเนื่องในปี 2581 สนามบินเชียงใหม่คาดการณ์จะมีผู้โดยสาร 23.33 ล้านคน และเที่ยวบิน 137,790 เที่ยวบิน ซึ่งจากแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินแห่งใหม่จะสามารถพัฒนาจนเต็มศักยภาพในปี 2568 มีความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้ 20 ล้านคนต่อปี ส่วนสนามบินภูเก็ตแห่งใหม่ในปี 2581 คาดมีผู้โดยสาร 42.42 ล้านคน เที่ยวบิน 211,150 เที่ยวบิน จากแผนแม่บทพัฒนาจะพัฒนาจนเต็มศักยภาพในปี 2565 รองรับผู้โดยสารที่ 18 ล้านคนต่อปี
คาดมีสนามบินใหม่ 2 แห่ง
ส่วนสนามบินที่จะสร้างแห่งใหม่ในแผนแม่บทระบุว่ามี 2 แห่ง ภาคใต้ที่ จ.ภูเก็ต จะสร้างแห่งที่ 2 มีพื้นที่เหมาะสมที่ ต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา และภาคเหนือที่ จ.เชียงใหม่ สร้างบนพื้นที่รอยต่อเชื่อมกับลำพูน พื้นที่เหมาะสมอยู่ อ.สันกำแพง และ อ.บ้านธิ โดย บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) จะเป็นผู้ศึกษารายละเอียดและลงทุน
“เราทำแผนแม่บท จะดูพื้นที่เหมาะสมอยู่ตรงไหน ใน 10 ปีนี้จะมีการสร้างใหม่ที่เชียงใหม่กับภูเก็ตเท่านั้น ส่วนพื้นที่อื่นยังรับได้อยู่ไม่ต้องสร้างเพิ่ม เช่น ภาคอีสานไม่พบว่าจะต้องมีสนามบินแห่งใหม่ แต่เจ้าของหน่วยงานทั้งกรมท่าอากาศยาน และ ทอท.ก็สามารถขยายในพื้นที่เดิมได้หากดีมานด์เกินขีดความสามารถแล้ว เช่น สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ส่วนสนามบินนครปฐมทางกรมท่าอากาศยานกำลังศึกษา”
ขณะที่สนามบินอู่ตะเภาของกองทัพเรือในแผนแม่บทระบุว่า สามารถขยายได้ แต่อาจจะมีนโยบายที่เปลี่ยนไป เพราะรัฐบาลมีนโยบายพัฒนาเป็นเมืองการบิน เป็นกิจกรรมพิเศษ รองรับสนามบินสุวรรณภูมิ รัฐจึงสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะทำให้การเดินทางสะดวกและรวดเร็วขึ้น
ที่มา prachachat.net