สวัสดีค่ะกลับมาอีกครั้งกลับบทความการ รีโนเวทบ้านเก่า ให้กลับมาน่าอยู่อีกครั้งโดยเรื่องราวครั้งนี้เป็นของคุณ มัณฑนากรน้อย สมาชิกของเว็บ Pantip.com โดยเป็นการรีโนเวทตึกเก่าที่ไม่น่าจะอยู่ได้ให้กลับมาสวยอีกครั้งเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาเราไปชมกันเลยค่ะ
รีโนเวทบ้านเก่า ด้วยการรื้อวัสดุบ้านเก่านำมา DIY ใหม่ โดย คุณ มัณฑนากรน้อย ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ฝันอยากจะมีบ้านตามที่เราวาดฝันเอาไว้ ถึงแม้ตัวเองจะมีอาชีพออกแบบภายใน ทำบ้านให้ผู้ว่าจ้างมานับไม่ถ้วน แต่ก็ยังไม่มีโอกาสดี ๆ สักที จนเมื่อปลายปี 2554 มาเจอบ้านหลังนี้ ด้วยที่ตั้ง ภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อมโดยรอบ มันถูกใจซะเหลือเกิน จึงตัดสินใจกับครอบครัวว่า เอาล่ะเราจะเป็นหนี้ก้อนนี้แหละ หลังจากเรื่องธุรกรรมเสร็จสิ้น คราวนี้ก็เริ่มวางแผนในการฟื้นฟูบ้านใหม่
เริ่มจากวางผังใหม่ทั้งหมดตามที่เคยวาดฝันไว้ พอมานั่งคำนวณดูคร่าว ๆ บานครับบานปลายมาก ๆ เนื่องจากพื้นที่ที่จะทำการปรับปรุงนั้น พื้นที่ใช้สอยที่ผมต้องการเพิ่มจากเดิมหลายเท่ามาก ก็แสดงว่ามันใช้เงินจำนวนมากเช่นกัน รออะไรอยู่ล่ะครับ รื้อความคิดเดิม ตัดเหลือแค่ส่วนที่ตัวเองต้องการจริง ๆ ออกมา แต่สุดท้ายความต้องการก็ยังเกินกว่ากำลังทรัพย์ที่ตั้งไว้
แปลนเดิมชั้นล่าง
แปลนเดิมชั้น 2 และชั้น 3
จนในที่สุดผมก็นั่งแยกค่าการรีโนเวทออกมาเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ
ส่วนแรกคือ ค่ารื้อถอน ค่างานในการก่อสร้าง (งานก่อฉาบ งานระบบสุขาภิบาล งานปูกระเบื้อง ประตู หน้าต่าง)
ส่วนที่สอง งานไฟฟ้า ระบบแอร์ ปลั๊กไฟต่าง ๆ
ส่วนสุดท้ายคืองานตกแต่งภายใน ซึ่งส่วนนี้เป็นอาชีพผมครับถนัดที่สุด
การแบ่งส่วนของงาน 3 ส่วนของผมไม่ใช้หลักการสากลทั่วไปนะครับ ที่ผมแบ่งแบบนี้เพราะผมต้องการไล่ความสำคัญของสิ่งที่ตัดออกไม่ได้กับสิ่งที่พอปรับลดได้ ยกตัวอย่างเช่น การก่ออิฐฉาบปูนลดไม่ได้ถ้ายังต้องการห้องต่าง ๆ ที่เรากำหนด แต่ไฟฟ้าแสงสว่างพอจะลดตัดทอนลงได้ เช่น ห้องนอนก็วางไฟจำนวนน้อยลง เพราะใช้ในการพักผ่อนไม่จำเป็นต้องใช้แสงสว่างมาก ๆ) ซึ่งหลังจากแบ่งสัดส่วนออกมาก็จะเห็นงบประมาณคร่าว ๆ ก็ยังเกินงบครับ ขอบอกก่อนว่าเพราะสิ่งที่ผมต้องการต่อเติมนั้นค่อนข้างมากจริง ๆ มันจึงเป็นเรื่องยากที่จะให้อยู่ในงบประมาณแต่ทำไงได้เราหวังสูง ผมไม่ได้มีฐานะร่ำรวย ก็คนปกติทั่วไปที่ฝันใหญ่เกินตัวไปหน่อย
แปลนใหม่ชั้นล่าง พื้นที่มากกว่าเดิม
มาถึงตรงนี้แล้วจะไม่ถอย เลยลองหาวิธีการใหม่ ผมนั่งดูงานที่แบ่งไว้ 3 ส่วน ส่วนของการตกแต่งภายในถ้าตัดทิ้งก็จะพอสำหรับการรีโนเวทบ้านหลังนี้และยังได้ฟังก์ชั่นห้องต่าง ๆ ครบเหมือนเดิม งั้นก็ตัดส่วนตกแต่งภายในออกซะ บ้านถ้ามีไฟฟ้า มีห้องต่าง ๆ และมีห้องน้ำเราก็อยู่ได้ แล้วก็เอาเฟอร์นิเจอร์เดิมทั้งหมดที่มีอยู่ไปใช้ แต่ด้วยอาชีพที่ทำอยู่ก็อยากจะดีไซน์อะไรใหม่ ๆ ลงไปบ้าง ผมก็เลยนึกถึงการ DIY ซึ่งเป็นเรื่องที่สนใจก่อนหน้านี้อยู่แล้ว ก็เลยคุ้ยข้อมูลตามโซเชียลต่าง ๆ แล้วลองเลือกมาปรับใช้ในส่วนที่เราชอบ วัสดุต่าง ๆ ที่รื้อจากบ้านหลังนี้ออกมา ก็คิดหาวิธีนำกลับมาใหม่ ผลที่ได้กลับมาก็เกินคาดครับผมได้ของใช้ใหม่ ๆ แถมบางชิ้นทำเล่น ๆ กลับทำรายได้ให้ผมแม้มันจะไม่มากมายก็ตาม นอกจากเรื่องตกแต่งภายในที่ตัดออก ผมก็ลดรายจ่ายเพิ่มอีก เมื่อพูดคุยกับผู้รับเหมาเรียบร้อยก็ขอร้องที่จะเป็นผู้ซื้อวัสดุบางอย่างให้เอง คุมงานเอง ถึงผมจะทำอาชีพออกแบบแต่ก็ไม่ได้รับเหมา ต้องจ้างผู้รับเหมามาทำให้เหมือนทุก ๆ ท่านครับ เพียงแต่คุยกับผู้รับเหมาให้ชัดเจนว่าวัสดุบางตัวที่รื้อออกมา ผมอาจต้องให้ช่วยเหลือเรื่องการจ้างค่าแรงเพิ่ม เพราะการรื้อวัสดุเก่ามาใช้ไม่เหมือนของใหม่ที่ใช้ได้เลย ดังนั้นต้องมีการตกลงให้ชัดเจนครับว่าเรามีเนื้องานตรงนี้ที่จะต้องให้ทำด้วย
ป.ล. รูปต่าง ๆ ที่เอามาลง ผมถ่ายในเวลาต่างกันอาจไม่ได้เรียงลำดับก่อนหลังนะครับ ไม่ถูกใจท่านใดก็ขออภัยมา ณ ตรงนี้ด้วยนะครับ แค่หวังเพียงเป็นส่วนเล็ก ๆ ที่แบ่งปันแนวคิดให้กับผู้ที่สนใจ เผื่อดูไว้เป็นแนวทางครับ
บริเวณหน้าบ้าน
ภายในบ้านบางส่วนครับ
ชั้นล่างของบ้าน บ้านหลังนี้ออกแบบมาให้ใช้พื้นที่บนชั้น 2 ครับ ชั้นล่างส่วนใหญ่เป็นใต้ถุนโล่ง ๆ
เริ่มรื้อถอนและทุบผนัง
บ้านนี้มีบันไดขึ้นชั้น 2 อยู่ 2 ทางคือในบ้านกับหน้าบ้าน แต่ไม่ได้ใช้เลยทุบออกทำเป็นทางเข้าบ้านชั้นล่างแทนครับ
ทุบผนังข้างและเทพื้นวางโครงสร้างเสา เป็นทางเดินมาส่วนออฟฟิศไว้สำหรับทำงานที่ต่อเติมเพิ่มออกมาครับ
ขึ้นโครงหลังคาออฟฟิศไว้สำหรับทำงาน
ไม้จากที่รื้อระเบียงรอบบ้านออกมา เอาไปจ้างโรงไม้รีดมาใหม่ได้ไม้มากองใหญ่ครับ
กระจกรื้อมาจากบานประตูหน้าต่าง หลังจากที่เริ่มรื้อถอนก็ได้วัสดุบางอย่างมาใช้ต่อ เช่น ไม้จากระเบียง กระจกใสจากประตูหน้าต่างเอากองเก็บไว้ก่อนครับ จากนั้นก็ให้ผู้รับเหมาเริ่มก่อและฉาบในส่วนต่าง ๆ
ภาพจากระเบียงด้านหลังของห้องชั้น 2 ซึ่งบ้านนี้มีระเบียงด้านหน้าและหลัง ผมเลยเอาพื้นที่ระเบียงหลังมาก่อเพื่อทำเป็นห้องน้ำใหญ่ของห้องนอนนี้ เนื่องจากมีระเบียงด้านหน้าก็เพียงพอแล้ว การเอาระเบียงมาทำห้องน้ำข้อดีคือพื้นมีความต่างระดับอยู่แล้วและมีท่อน้ำ ทิ้งรองรับทำให้เหมาะกับการต่อเติม ในส่วนชั้นล่างที่ตรงกับตำแหน่งระเบียงก็อยู่ส่วนนอกบ้าน ถ้าเกิดกรณีรั่วซึมก็ยังแก้ไขได้ง่ายเพราะไม่อยู่ในส่วนของพื้นที่ภายในชั้น ล่างบ้านครับ
บริเวณชั้นล่างของบ้านทุบและก่อห้องน้ำขึ้นมาใหม่ได้ 2 ห้องสำหรับใช้ในส่วนของพักอาศัยและใช้ในส่วนของออฟฟิศทำงานครับ แต่เดิมพื้นที่ชั้นล่างแทบจะไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรเพราะบ้านหลังนี้ออกแบบมาให้ขึ้นไปใช้ชั้นที่ 2 ครับ เลยเปรียบเหมือนใต้ถุนบ้านที่อาจไม่สูงสักเท่าไรนัก
บริเวณด้านหน้าของตัวบ้านทางซ้ายก็ปรับเป็นซุ้มเพื่อทำประตูทางเข้าบ้านเป็นทางหลักครับ
ระเบียงด้านหน้าของห้องนอนจากที่รื้อไม้ของเก่าออกมาก็ใช้ราวระเบียงเหล็กแทนครับ เพราะที่ภูเก็ตมีฝนมากและความชื้นค่อนข้างสูง ผมจึงเลี่ยงการใช้ไม้ภายนอกอาคาร รวมถึงประตูหน้าต่างของบ้านด้วยครับ ปรับใช้อะลูมิเนียมทั้งหมด
ส่วนของเคาน์เตอร์รูปบนเป็นเคาน์เตอร์ที่ก่อบริเวณใกล้ห้องน้ำชั้นล่างไว้ใช้ในส่วนของออฟฟิศครับ ส่วนรูปล่างก่อเป็นเคาน์เตอร์ครัวภายในบ้าน ข้อดีของเคาน์เตอร์ปูนคือแข็งแรง ทนทาน และราคาถูกที่สุดแล้วครับ งบประมาณในการตกแต่งแทนเคาน์เตอร์ไม้ก็แปรสภาพเป็นเพียงค่าแรงก่อฉาบ ค่าปูนทราย ซึ่งเทียบกันแล้วราคาต่างกันมากพอสมควร แต่ข้อเสียคือปรับเปลี่ยนไม่ได้ ทุบทิ้งอย่างเดียวครับ ต้องพิจารณาดี ๆ ครับ
ภาพนี้เป็นภาพการกรีดผนังวางท่อไฟฟ้ารวมถึงตำแหน่งท่อแอร์ แอร์มีส่วนสำคัญมากครับเพราะถ้าวางแผนไว้ตั้งแต่แรก ท่อต่าง ๆ จะถูกซ่อนไว้อย่างดี บ้านหลังนี้จะไม่เห็นท่อแอร์ท่อน้ำทิ้งให้เกะกะสายตาเลยครับ รวมถึงตัวคอมเพรสเซอร์ผมก็ไว้ที่มุมระเบียงชั้น 3 ทั้งหมด ดูแลบำรุงรักษาง่ายครับที่จุดเดียว ไม่ต้องแขวนให้เกะกะผนังอาคารบ้าน ตั้งในพื้นที่อากาศถ่ายเทสะดวกไม่โดนแดดฝนเต็ม ๆ ช่วยรักษาอายุการใช้งานในระยะยาวได้ดีครับ แถมทำให้เครื่องไม่ต้องทำงานหนักจนเกินไปด้วย
รูปภาพที่เริ่มปรับตำแหน่งหน้าต่างใหม่ทั้งหมดและก่อปิดหน้าต่างเดิม
2 รูปนี้คือเริ่มวางโครงสร้างเสาและหลังคาเหล็กส่วนต่อเติมออฟฟิศครับ เดิมทีผมจะต่อเป็นอาคารถาวรชั้นเดียวแบบปูน แต่ด้วยมีงบจำกัดเลยปรับเป็นโครงสร้างเหล็กกล่องทั้งหมดและทำงานได้เร็วขึ้นด้วยครับ
อ่างล้างหน้าภายในห้องน้ำทุกห้อง ผมใช้หล่อปูนขัดมันทุกห้อง แล้วเอากระเบื้องปูพื้นมาตัดวางบนอ่างเป็นที่รับน้ำ ใส่ดีไซน์ลงไปให้สนุกซะหน่อย (ผมชอบเป็นการส่วนตัวนะครับอันนี้) ราคาไม่ต่างจากการซื้ออ่างสำเร็จสักเท่าไร
หลังจากที่ดำเนินการรีโนเวทไป ผมขอลัดไปเป็นภาพก่อนและหลังในมุมต่าง ๆ ในบ้านเลยแล้วกันนะครับ เพราะเนื้อหาส่วนนี้ก็เดินไฟ ก่อฉาบ ซึ่งก็ทั่ว ๆ ไปเป็นภาพซ้ำ ๆ เดิม ๆ เหมือนที่ได้ลงให้ดูข้างบนครับ
รูปบริเวณระเบียงหน้าห้องพักก่อนและหลังปรับปรุง
ระเบียงชั้น 3 ก่อนและหลัง
ระเบียงทางเดินเข้าบ้าน
ระเบียงชั้น 2
ระเบียงชั้น 3 อีกมุมนึงครับ
ทางเดินชั้นล่างบริเวณห้องน้ำ ทางเชื่อมระหว่างส่วนพักอาศัยกับส่วนต่อเติมเป็นออฟฟิศครับ
บริเวณออฟฟิศต่อเติมและเคาน์เตอร์ใช้งานส่วนออฟฟิศ
ห้องทำงานส่วนตัว ส่วนออฟฟิศ เดิมทีเป็นใต้ถุนที่จอดรถด้านหน้า ปรับมาใช้เป็นห้องทำงาน อนาคตห้องนี้อาจปรับเป็นห้องนอนของผู้สูงอายุครับ
ห้องน้ำในส่วนของออฟฟิศ
เคาน์เตอร์หล่อปูน ส่วนของออฟฟิศตกแต่งด้วยวอลเปเปอร์ผนังด้านหน้า ส่วนบาร์ยกระดับใช้เหล็กกลมที่เหลือจากทำราวระเบียงกับไม้ที่รื้อมาจากราวระเบียงบ้านเก่า เริ่มได้ใช้วัสดุเหลือมาใช้แล้ว คราวนี้มาดูส่วนพักอาศัยกันต่อครับ
นี่ครับบริเวณที่ทุบบันไดภายนอกอาคารทิ้งเพื่อทำเป็นทางเข้าของบ้าน ประตูทางเข้าหลักก็ได้เศษกระจกจากที่รื้อมาเอามาใส่เป็นช่องแสงครับ ส่วนชั้นวางรองเท้าก็ให้ช่างทำโครงเหล็กเป็นตู้ยึดติดลอย ปิดท็อปด้วยไม้ที่รื้อมาจากบ้านนี้ครับ ไม้ที่รื้อมาเยอะมากครับยังใช้ไม่หมดแค่นี้นะครับดูกันไปเรื่อย ๆ (ปัจจุบันก็ยังเหลืออยู่ครับว่าจะเอามาใช้ทำอย่างอื่นเพิ่มเติมอยู่)
ใต้ถุนหลังบ้านจากเดิมก็ถูกเทพื้น วางไว้เป็นส่วนนั่งเล่นดูทีวี ส่วนทานอาหาร และห้องครัว ส่วนใหญ่ตรงนี้จะใช้งานบ่อยที่สุดในบ้านเลยครับ
มุมจากเคาน์เตอร์ไปตรงที่นั่งเล่นบริเวณทางเข้าบ้าน
ปูนหล่อเคาน์เตอร์ตั้งใจให้เป็นส่วนเตรียมอาหารและเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกับโต๊ะทานข้าวเลยครับ
ท็อปโต๊ะทานข้าวผมไปเลือกหาตามร้านขายหินแกรนิตทั่วไป พอดีไปเห็นหินชิ้นนี้มาซึ่งทางร้านค้าบอกว่าชำรุดเพราะเนื้อผิวบนเป็นรูพรุน ปกติหินชนิดนี้ขนาดเท่านี้ราคาอยู่ที่ประมาณ 12,000-15,000 บาท (รวมติดตั้ง) ผมได้มาในราคา 7,000 บาทแล้วนำเรซิ่นมาซ่อมผิวหน้าใหม่ ส่วนช่างก็ใช้ผู้รับเหมาของเราติดตั้งให้ ส่วนขาก็ใช้เหล็กกลมที่เหลือจากราวระเบียง จริง ๆ คำนวณพลาดไปหน่อยครับเหลือเกินมา 2-3 เส้นแน่ะ โคมไฟก็ขอซื้อต่อจากร้านน้องที่รู้จักมาอีกที พอดีเขาปรับปรุงร้านกาแฟใหม่ได้มาราคา 2,000 กว่าบาทครับ
มุมพักผ่อน ส่วนนี้เป็นส่วนที่ใช้ช่างเฟอร์นิเจอร์ทำขึ้นมาใหม่คือตู้ล่างทีวี ชั้นวางของ และบานตู้ครัว นอกนั้นก็เป็นเฟอร์นิเจอร์เก่าที่ย้ายเข้ามาทั้งหมดครับ ส่วนต้นไม้ที่เห็นคือต้นปีบที่ยืนต้นตายที่นี่ เลยเอามาทำความสะอาดกับทากัน
โต๊ะกลางก็ได้ไม้ที่รื้อมานี่แหละครับมาใช้ทำ ส่วนโซฟาเป็นเตียงไม้บ้านเก่าที่ย้ายมาเอามาทาสีใหม่และใส่พนักพิงไม้ด้านหลังเพิ่มนิดหน่อย ทำเบาะมาวาง บางวันก็หลับตรงนี้เลยครับเพราะนึกว่าเตียง ส่วนไฟตกแต่งที่เห็นเป็นก้าน ๆ ก็ให้ช่างใช้เหล็กกลมทำมาให้
เคาน์เตอร์ครัวหล่อปูนขัดมัน ผนังกระจกที่เห็นก็ใช้กระจกที่รื้อมา ทำความสะอาดแล้วพ่นสีสเปรย์สีขาวมาใช้ตกแต่ง กันคราบน้ำ น้ำมันกระเด็น เช็ดทำความสะอาดง่ายดี ส่วนชั้นวางเครื่องปรุงก็ทำจากไม้ระเบียงเหมือนกันครับ
ห้องน้ำชั้นล่างก็ถือเป็นอีกส่วนนึงที่ใช้งบประมาณเยอะมากถ้ารวมเรื่องงานระบบด้วย ระบบคงตัดงบยาก ห้องน้ำห้องนี้ผมตัดกระเบื้องปูนผนังออก (ถ้ามีส่วนอาบน้ำจะใช้ปูเฉพาะส่วนเปียก) ผนังก็ก่อฉาบแค่ปูนหยาบ ไม่ลงฉาบเรียบแล้วใช้สีทาภายในกึ่งเงา ทาผนังช่วยยึดเกาะปูนและกันเชื้อราได้ดี ห้องนี้ไม่ค่อยมีส่วนเปียกครับ ยกเว้นล้างพื้นห้องน้ำบ้างบางครั้ง ราวแขวนผ้าที่เห็นเหมือนบันได ลูกกรงราวระเบียงที่รื้อออกมาก็เอามาทำที่แขวนผ้า ข้อดีก็เคลื่อนย้ายได้ ไม่ต้องเจาะผนัง ห้องน้ำในบ้านทุกห้องผมเน้นเรื่องบานหน้าต่างเพราะได้แสงธรรมชาติไม่อับ แถมเปิดระบายความอับชื้นได้ดีทีเดียว ประหยัดไฟ ไม่มีกลิ่นอับครับ และไม่ต้องใช้พัดลมดูดอากาศครับ
บริเวณห้องนอน อย่างที่กล่าวครับผมตัดจำนวนไฟออกไป เพราะการนอนไม่จำเป็นต้องใช้แสงเยอะ ถ้าต้องการใช้แสงผมก็เลือกใช้โคมหัวเตียง ส่วนเฟอร์นิเจอร์ในห้องก็ของเก่าครับมาปิดผิวใหม่ก็เหมือนได้ของใหม่
ส่วนตู้เสื้อผ้า ผมตั้งใจทำเป็น walk-in closet แบบเป็นห้องโดยใช้กระจกอะลูมิเนียมกั้นเป็นห้อง (ตอนนี้ยังไม่ได้ติดตั้ง) ส่วนตัวตู้เสื้อผ้าใช้เหล็กขึ้นรูปตามที่เห็นครับ แล้วตัดแผ่นไม้มาวางพาดเป็นชั้นวางของ มีตู้ลิ้นชักเก่าของผมเอาเข้าไปปรับใช้ด้วย ซื้อเหล็กขนาด 1×2 และ 1×1 นิ้ว มาทำในราคาไม่เกิน 4,000 บาท แต่ทำตู้เสื้อผ้าได้ถึง 4 ห้องนอน ค่าแรงช่างก็ไม่ได้สูงมากครับ อย่างที่กล่าวเราตกลงกันไว้ตั้งแต่แรกของการทำงาน แต่ถึงแพงผมก็ยินดีจ่าย เพราะการทำตู้เสื้อผ้าแบบบิวท์อินเฟอร์นิเจอร์ทั้งหมด 4 ห้อง รวมแล้วก็หลักแสนบาทครับ
ห้องน้ำในห้องนอนที่ใช้ระเบียงมาต่อเติมครับ เพื่อเพิ่มแสงสว่างและระบายอากาศได้ดีขึ้นแต่ยังคงสไตล์เดิมครับ ส่วนหลังคาด้านบนผมใช้กระจกที่รื้อมา นำมาใช้ทำเป็นสกายไลท์บางส่วน เลือกปูกระเบื้องเฉพาะส่วนเปียกครับ กลางวันแทบไม่จำเป็นต้องใช้ไฟเลย ประหยัดได้ค่อนข้างมากครับในระยะยาว
เหล็กกล่องที่ใช้ทำเสาของส่วนต่อเติมเหลือเศษพอสมควร
ก็เลยให้ช่างช่วยตัดออกมาให้ได้ขนาดตามรูป เจาะรู ใส่เบ้าเกลียวโคมไฟที่หาซื้อตามร้านวัสดุทั่วไป ทากันสนิมแล้วทาสีสักหน่อย
ผมก็ได้ไฟติดผนังรอบบ้านครับ ที่สำคัญไม่ต้องหาซื้อ
ส่วนชิ้นนี้เหล็กตัวซีที่เหลือมาจากทำหลังคาของห้องน้ำส่วนต่อเติมตรงระเบียง
เอามาติดบริเวณทางเข้าหลักของบ้าน ซ่อนไฟหลอด T5 ก็คือหลอดนีออนรุ่นใหม่ที่เป็นเส้นเล็ก ๆ ว่าจะติดเลขที่บ้านด้านล่างที่ไฟส่องครับ
ส่วนไม้ที่รื้อออกมา ไม้ที่เป็นซี่ระแนงเล็ก ๆ ของระเบียงมีจำนวนมากที่สุดครับ ผมใช้เวลาเป็นอาทิตย์เหมือนกันว่าจะเอามาทำอะไร
ก็เลยได้ราวแขวนผ้าไว้ใช้ในห้องน้ำภายในบ้านครับ แต่ก็ยังเหลือจำนวนเยอะอยู่ดี งานนี้เลยยังไม่จบเนื่องจากไม่อยากกองไม้เล็ก ๆ เหล่านี้เก็บไว้นานครับ ก็คิดว่าเรายังขาดอะไรที่ต้องใช้สอยเพิ่มอีกที่ทำจากไม้พวกนี้ได้ พอดีเหลือบไปเห็นเก้าอี้ขาไม้ในไซต์งานที่ช่างนั่งอยู่ ก็เลยคิดว่าลองเอามาทำเก้าอี้ไว้ใช้เอง ประกอบกับจำได้ว่าเคยเก็บข้อมูล การ DIY ของต่างประเทศ ผมชอบดูพวกนี้แล้วแชร์เก็บไว้ในเฟซบุ๊กเผื่อวันนึงอาจได้ใช้ประโยชน์ ตอนนี้ก็ได้เอามาใช้จริง ๆ ครับ มีของต่างประเทศที่เขานำแผ่นเหล็กแบนมาดัดปลายแล้วสวมขาไม้ลงไปเอามาทำเป็นโต๊ะวางของ ผมก็เลยดัดแปลงเอามาทำเป็นเก้าอี้ครับ
ปล้ำอยู่นาน ทำตัวทดลองมาหลายตัว จนได้ออกมาตามภาพที่เห็นครับ (ตอนปรับรูปแบบของเก้าอี้คือตอนที่บ้านรีโนเวทเรียบร้อยแล้วนะครับ พอดีมันอยู่ในการเล่าช่วงนี้พอดี) แล้วก็เอามาใช้เองครับ แต่เอาลงเฟซบุ๊กเล่น ๆ ก็มีคนสั่งผลิตครับ รออะไรอยู่จ้างช่างเหล็กมาทำสิครับ จนสามารถระบายไม้เหล่านี้จนหมด ได้เงินมาก็ไม่มากครับเพราะผมขายถูก ส่วนนึงก็ให้ค่าแรงช่างเป็นรายได้เสริมของเขา สิ่งที่ปลื้มใจก็คือมีคนสนใจในสิ่งที่ผมคิดและทำด้วย
จบเรื่องเก้าอี้ไปครับ กลับมาที่วัสดุอีกกองใหญ่ หินที่เห็นในรูปเป็นหินที่ตอนปรับที่รอบบ้านเพื่อวางเสา เทพื้น ขุดได้ก้อนหินมาเยอะมากครับ พื้นที่ตรงนี้เป็นเนินครับจึงไม่แปลกที่จะเจอหินขนาดต่าง ๆ ตรงผิวดิน ตอนแรกว่าจะเอาไปทิ้ง แต่มานั่งคิดอีกทีช่วยผู้รับเหมาประหยัดค่าน้ำมันรถกับค่าแรงดีกว่า ก็เลยนำมาล้างดินให้สะอาด
หลังจากนั้นก็ให้ช่างเหล็กเอาเหล็กข้ออ้อยที่ใช้ก่อสร้างที่เหลือมากับซื้อเพิ่มมาไม่กี่เส้น มาอ๊อกขึ้นรูปทับรั้วบ้านของเดิมครับ
เสร็จแล้วจึงทาสีเหล็ก แล้วพี่ผู้รับเหมาก็มาช่วยเรียงหินกรอกลงไประหว่างรั้วเก่าให้ พี่ผู้รับเหมาแกขอลงมือเอง เขาบอกว่าสนุกดี ทำรั้วบ้านอื่นมีแต่ก่ออิฐ รั้วเหล็ก งานนี้มันต้องเลือกหินเพื่อเรียงให้แน่นและลงตัวรูปทรงของมัน งานนี้ผมก็ทำด้วยนะครับ หุหุ
จากภาพใกล้เสร็จแล้วครับ โดยรวมบ้านรีโนเวทด้วยการใช้วัสดุเก่าก็มีตามที่เล่ามาให้ฟังครับส่วนอื่น ๆ ก็เอาไปใช้ซ้ำ ๆ เหล็กเหลือก็ทำกันสาดเล็ก ๆ กันฝนสาด กระจกก็เอามาใช้มุงแนวกันสาด
สุดท้ายก็เสร็จสิ้นการรีโนเวท แต่ก็ยังมีส่วนอื่นที่ต้องตกแต่งเพิ่มอีก แต่ในภาพรวมของบ้านทั้งหมดก็สามารถเข้าอยู่ได้แล้ว ที่เหลือก็ค่อย ๆ ทยอยทำเพิ่ม ตามกำลังเงินและเวลาครับ สุดท้ายนี้ที่ผมเขียนครั้งนี้ก็หวังว่าจะเป็นส่วนเล็ก ๆ ส่วนนึงในการแบ่งปันประสบการณ์และแนวทางให้กับผู้ที่มีความสนใจได้พอหอมปากหอมคอ งานรื้อวัสดุเก่ามาใช้ใหม่มีข้อจำกัดค่อนข้างมาก บางท่านก็อาจไม่ชอบสไตล์แบบนี้เพราะมันโชว์ความดิบของวัสดุและไม่ค่อยจะเรียบร้อย 100% สักเท่าไรนัก ก็ลองพิจารณาเลือกใช้ตามเห็นสมควรหรือดูเพื่อความเพลิดเพลินก็ไม่ว่ากันครับ ถ้ามีทำอะไรเพิ่มเติมจะลงให้ชมกันใหม่ ถ้ายังสนใจสไตล์นี้อยู่นะครับ
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก คุณ มัณฑนากรน้อย สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม
สำหรับท่านใดที่สนใจอยากซื้อ ขายบ้าน คอนโด หรือ ทาวน์เฮ้าส์ มือ1 มือ 2 สามารถเข้าดูได้เลยที่ https://www.dotproperty.co.th/