วันนี้ (7 ก.พ.) นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯกทม. โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก กรณี กทม.ตัดสินใจเลิก BRT หากหมดสัญญา โดยนายสามารถตั้งคำถามว่า ยกเลิกบีอาร์ที คิดดีแล้วหรือ? มีรายละเอียดดังนี้
พลันที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ประกาศยกเลิกให้บริการรถประจำทางด่วนพิเศษ (Bus Rapid Transit หรือ BRT ) ก็มีเสียงสะท้อนในเครือข่ายสังคมมากมาย ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่จะให้ยกเลิก พร้อมทั้งตำหนิการบริหารจัดการเดินรถของ กทม. มีบ้างที่ตำหนิคนคิดโครงการบีอาร์ทีขึ้นมา ทั้งนี้ มีเสียงสะท้อนมาถึงผมจากนักวิชาการด้านวิศวกรรมขนส่งหลายคนที่ไม่อยากให้ยกเลิกบีอาร์ที
ผมในฐานะผู้ริเริ่มทำโครงการบีอาร์ทีไว้ในปี พ.ศ.2548 เมื่อสมัยดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แต่ไม่ได้ทำจนจบ หลังจากพ้นตำแหน่งรองผู้ว่าฯกทม.แล้ว ผมทราบว่ามีการปรับเปลี่ยนรูปแบบโครงการบางประการ ไม่เป็นไปตามแนวคิดที่ผมได้วางไว้ ทำให้ประสิทธิภาพของบีอาร์ทีลดลงเมื่อเปิดให้บริการในปี พ.ศ.2553
แม้บีอาร์ทีที่ กทม.เปิดให้บริการไม่เป็นไปตามแนวคิดที่ผมวางไว้ทั้งหมดก็ตาม แต่บีอาร์ทีก็มีผู้โดยสารเฉลี่ยในวันทำการในปี พ.ศ.2559 ถึง 23,427 คนต่อวัน จำนวนผู้โดยสารขนาดนี้ถือว่ามากกว่าผู้โดยสารของบีอาร์ทีในต่างประเทศหลายเมือง ที่สำคัญ บีอาร์ทีมีจำนวนผู้โดยสารพอๆ กับรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน ในขณะที่ค่าสร้างบีอาร์ทีถูกกว่าค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงถึงประมาณ 20 เท่า เมื่อดูผลประกอบการ ปรากฏว่าบีอาร์ทีขาดทุนเพียงแค่ประมาณ 500,000 บาทต่อวัน ในขณะที่รถไฟฟ้าสายสีม่วงขาดทุนถึงประมาณ 3.5 ล้านบาทต่อวัน
หาก กทม.อ้างการขาดทุนเป็นเหตุผลสำคัญในการยกเลิกบีอาร์ที ถามว่าเหตุใดการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จึงไม่ยกเลิกการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วง เหตุใดองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จึงไม่ยกเลิกการให้บริการรถเมล์ หรือเหตุใดการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จึงไม่ยกเลิกการให้บริการรถไฟ เนื่องจากหน่วยงานเหล่านี้ต้องแบกภาระการขาดทุนหนักกว่า กทม.หลายเท่า อนึ่ง เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าการให้บริการขนส่งมวลชนโดยภาครัฐ ไม่ว่าที่ไหนก็ขาดทุนกันทั้งนั้น เพราะถือเป็นพันธกิจสาธารณะ หรือพีเอสโอ (Public Service Obligation) ที่รัฐต้องให้บริการแก่ประชาชนโดยไม่หวังผลกำไร แต่เราต้องทำให้ขาดทุนน้อยที่สุด
หาก กทม.อ้างว่าการให้บริการบีอาร์ทีไม่ใช่ภารกิจหลักของ กทม. ถามว่าเหตุใด กทม.จึงคิดโครงการถไฟฟ้าบีทีเอสซึ่งเป็นรถไฟฟ้าโครงการแรกของประเทศไทยขึ้นมา แล้วให้เอกชนคือบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) รับสัมปทานไป รถไฟฟ้าบีทีเอสก็เป็นระบบขนส่งมวลชนเช่นเดียวกับบีอาร์ที เมื่อบีทีเอสเป็นภารกิจหลักของ กทม.ได้ บีอาร์ทีก็จะต้องเป็นภารกิจหลักของ กทม.ได้เช่นเดียวกัน ที่สำคัญ หากการให้บริการระบบขนส่งมวลชนไม่ใช่ภารกิจหลักของ กทม. แล้วทำไมจึงมีแนวคิดที่จะโอน ขสมก.มาอยู่กับ กทม. และหากการแก้ปัญหาจราจรไม่ใช่ภารกิจหลักของ กทม. แล้วทำไมจึงมีแนวคิดที่จะโอนตำรวจจราจรมาสังกัด กทม.
น่าเสียดายที่ กทม.ยกเลิกบีอาร์ทีโดยไม่คำนึงถึงข้อคิดเห็นของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ที่มีหนังสือไปถึง กทม. ลงวันที่ 20 มกราคม 2560 สรุปข้อความสำคัญได้ว่า “การบริหารจัดการจราจรโดยประสานความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรและกรุงเทพมหานครในการกวดขันจับกุมผู้ใช้รถยนต์ที่ฝ่าฝืนเข้าไป/กีดขวางในช่องทางของรถโดยสารบีอาร์ที รวมทั้งการปรับระบบสัญญาณไฟควบคุมการจราจรบริเวณทางแยก จุดตัดตลอดสายทางของช่องทางรถโดยสารบีอาร์ที เพื่อให้รถโดยสารบีอาร์ทีได้รับความสะดวกและสามารถควบคุมเวลาในการเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครควรพิจารณาแนวทางการบริหารโครงการระบบรถโดยสารบีอาร์ทีในรูปแบบที่มีการพัฒนาใหม่ทั้งในเชิงเทคนิคและการเงินที่มีความเหมาะสมกับกรุงเทพมหานคร ทั้งในแนวเส้นทางเดิมและแนวเส้นทางใหม่ที่อาจขยายเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชน” นั่นหมายความ สนข.ไม่ได้ต้องการให้ กทม.ยกเลิกการให้บริการบีอาร์ที แต่ สนข.เสนอแนะให้ กทม.ปรับปรุงการให้บริการให้ดีขึ้น
ขอขอบคุณ มติชนออนไลน์
ต้องการซื้อ-เช่า !!!คอนโดมือสอง บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ที่ดินทั่วไทยมากกว่า 300,000 รายการคลิ๊กที่นี่
ลงประกาศขาย-ให้เช่า ฟรี !!! คอนโดมือสอง บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ที่ดินกับ Dot Property ขายง่าย ขายไว ไม่มีค่าใช้จ่ายลงประกาศเลย