ในการทำธุรกรรมซื้อขายบ้านโดยทั่วไปนั้น แม้โดยหลักการพื้นฐานแล้ว จะเป็นสิ่งที่เรียบง่ายในแบบ “ซื้อมา ขายไป” แต่ก็อย่างที่ทราบกันดีว่า มันมีรายละเอียดปลีกย่อยและข้อจุกจิกที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับ ‘อสังหาริมทรัพย์‘ ที่มีโอกาสและความเสี่ยงที่ข้อตกลงใดๆ จะกลายเป็นข้อพิพาทจากเม็ดเงินจำนวนมหาศาลกันได้ง่ายๆ (และตัวอย่างมันก็มีมาให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ จนแทบจะไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอันใดเลยทีเดียว)
และเพื่อป้องกันข้อผิดพลาดไม่ชอบมาพากลที่อาจจะเกิดขึ้น เราก็อยากจะขอแนะนำให้คุณได้ทำความรู้จักกับ ‘หนังสือสัญญาจะซื้อจะขาย‘ ที่เป็นหนึ่งในกระบวนการทางอสังหาริมทรัพย์ที่สำคัญ ที่ควรทำความเข้าใจและนำไปปรับใช้ อย่างน้อยก็เพื่อไม่ให้ทุกสิ่งมันผิดพลาดไปจากที่ควรจะเป็น
อันที่จริงแล้ว ตามหลักการโดยทั่วไปของการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์นั้น ไม่ได้มีข้อกำหนดตายตัวชัดเจนว่าจะต้องมีหนังสือสัญญา หรือข้อร่างเป็นลายลักษณ์อักษร ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถทำความตกลงกันด้วยปากเปล่า พบเจอ ชำระเงิน และส่งมอบอสังหาฯ กันที่เขตได้เลยโดยไม่ต้องมีข้อยุ่งยากแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม การซื้อขายด้วยปากเปล่า ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดพลาด การฉ้อโกง และการหลอกลวงที่จะทำให้เสียทั้งเงิน เวลา กับความรู้สึก ซึ่งเป็นที่มาของ ‘หนังสือสัญญาจะซื้อจะขาย’ ที่ผู้ทำธุรกรรมทั้งสองฟาก จะต้องร่วมลงนามในข้อตกลงที่ได้รับการร่างขึ้นให้ครบถ้วนถูกต้องอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร (และจะมีผลทางกฎหมาย หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดนั้นๆ)
ตัวอย่างแบบฟอร์มหนังสือสัญญาจะซื้อจะขาย ซึ่งอาจจะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างออกไปได้
Credits: bk.ago.go.th
ในหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายนั้น ไม่ได้มีการกำหนดรูปแบบหรือ Format ที่ชัดเจนตายตัวเอาไว้แต่อย่างใด นอกเหนือจากข้อกำหนดที่จะต้องมีไว้ในข้อสัญญาดังต่อไปนี้
–ข้อความที่ระบุว่าเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย มิใช่เพื่อการอื่น
–ข้อความบ่งชัดว่า ผู้ซื้อเป็นใคร พร้อมที่อยู่และภูมิลำเนา
–ข้อความที่บ่งชัดว่า ผู้ขายเป็นใคร ไม่ว่าจะเป็นตัวบุคคล หรือกลุ่มนิติบุคคลก็ตาม
–ข้อความที่ระบุถึงสินทรัพย์อสังหาฯ ที่จะทำการขายที่ชัดเจน ทั้งเลขที่โฉนด ที่ตั้ง รวมไปถึงรูปทรงของอสังหาฯ
–ข้อความที่ระบุถึงราคาของอสังหาฯ นั้นๆ โดยราคาจะเป็นอัตราคงที่ ของวันที่ทำการร่างสัญญา
–ข้อความที่ระบุวันที่จะทำการโอนกรรมสิทธิ์ของอสังหาฯ นั้นๆ หลังจากมีการชำระเงิน
–ข้อบังคับจากกฎหมายแพ่งว่าด้วยการซื้อขาย ที่ผู้ซื้อจะไม่ต้องรับผิดชอบกับความเสียหายอันเกิดจากผู้ขาย
ทั้งนี้ รายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ อาจจะแตกต่างกันไป ขึ้นกับข้อตกลงและการร่างระหว่างผู้ทำธุรกรรมทั้งสองฝ่าย แต่โดยหลักแล้ว หัวข้อที่กล่าวไปมักจะเป็นสิ่งที่มีโดยไม่ขาด เพราะครอบคลุมถึงสิ่งที่จำเป็นสำหรับการซื้อขายไว้แล้วอย่างเสร็จสรรพ
Credits: content.magicbricks.com
ในวาระที่แวดวงอสังหาริมทรัพย์ช่วงส่งท้ายกำลังร้อนแรงทุกหัวโค้ง มันอาจจะดีไม่น้อย ถ้าเราจะทำการเตรียมตัว และรอบคอบกับธุรกรรมใดๆ ที่จะเกิดขึ้นไว้บ้าง เพื่อให้ทุกสิ่งสามารถดำเนินไปได้จนถึงปลายทางอย่างลุล่วง โดยไม่ต้องปวดหัวกับปัญหาอื่นๆ ที่จะตามมาคาราคาซังกันในระหว่างทางนั่นเอง
หมายเหตุ: ท่านสามารถขอแบบฟอร์มหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายอสังหาริมทรัพย์ได้ที่สำนักงานเขตทุกแห่ง หรือดาวน์โหลดตัวอย่างได้ฟรีที่ http://www.thaifranchisecenter.com/download_file/index.php?group=26