นางสาวอรอนงค์ อุดมก้านตรง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า จากที่ธนาคารเปิดให้บริการปล่อยสินเชื่อบ้านผ่านช่องทางออนไลน์ 2 ปีที่ผ่านมา ถือว่ามีทิศทางที่เติบโตได้ดี และปีนี้คาดว่าสินเชื่อบ้านที่ปล่อยใหม่ (นิวโลน) ผ่านออนไลน์ จะทำได้ราว 4,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 20% ของพอร์ตสินเชื่อบ้านที่ปล่อยใหม่ทั้งหมด ซึ่งถือว่าลูกค้ามาขอนิวโลนผ่านออนไลน์มีเพิ่มขึ้น เพราะปี 2560 ยังมีสัดส่วนอยู่ไม่ถึง 10% โดยส่วนใหญ่กลุ่มลูกค้าที่มาขอกู้บ้านทางออนไลน์จะเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจ ช่างเลือก ชอบเปรียบเทียบ และหาข้อมูลเกี่ยวกับการขอสินเชื่อบ้านเป็นอย่างดี
“approval rate (อัตราการอนุมัติสินเชื่อ) ผ่านช่องทางออนไลน์อยู่ที่ 80% ซึ่งสูงกว่าช่องทางปกติที่อยู่ 60-70% ที่มีลูกค้าหลากหลายมากกว่า เพราะช่องทางออนไลน์ลูกค้าจะเป็นคนช่างเลือก ระวังการใช้เงิน ทำให้เครดิตทางการเงินดี เพราะมีวินัยทางการเงินที่ดี ทำให้ approval rate สูง และยังไม่เห็น NPL (หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้) เกิดขึ้น”
นางสาวอรอนงค์กล่าว ส่วนปี’62 เทรนด์สินเชื่อกู้บ้านที่ปล่อยใหม่ทางออนไลน์ของธนาคารคาดจะเติบโตขึ้นมามีสัดส่วนอยู่ที่ 40% ของพอร์ต โดยอนาคตจะเห็นการเพิ่มบริการที่เป็นประโยชน์แก่ผู้กู้ ทั้งนี้ ธนาคารตั้งเป้าหมายพอร์ตสินเชื่อบ้านที่ปล่อยใหม่อยู่ที่ 30,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากสิ้นปีนี้ที่คาดพอร์ตปิดอยู่ที่ 22,000 ล้านบาท โดยปีนี้โตสูงถึง 57% จากสิ้นปีที่แล้ว
นางสาวอรอนงค์กล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารกำลังโปรโมตสินเชื่อบ้านทั้งบ้านใหม่ หรือบ้านมือสอง รวมทั้งคอนโดมิเนียม ทาวน์เฮาส์ หรือ ทาวน์โฮม ด้วยดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรก เพียง 2.89% ต่อปีเท่านั้น พร้อมฟรีค่าจดจำนอง 0.5% ของวงเงินอนุมัติ
รวมทั้งยังมีสินเชื่อบ้านแลกเงิน สำหรับผู้มีบ้านปลอดภาระสามารถนำมาเปลี่ยนเป็นทุน รวมถึงผู้ที่มีสินเชื่อบ้านแลกเงินจากธนาคารเดิมสามารถมารีไฟแนนซ์ได้ ดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี 3.99% ต่อปี นอกจากนี้ยังมีสินเชื่อสำหรับผู้ที่มีหลักประกันเป็นอพาร์ตเมนต์ โกดัง โรงงาน ที่สามารถนำมาเปลี่ยนเป็นเงินทุน ดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี 6.66% ต่อปี ด้านสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี 2.85% ต่อปี และ 3.05% ต่อปี ในขณะที่สินเชื่อรีไฟแนนซ์ แบบขอวงเงินเพิ่ม ดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี 3.99% ต่อปี
ธอส. ดันกฎหมายผ่านสนช. เปิดทางให้ทำสินเชื่อผู้สูงวัย
สินเชื่อบ้าน ของแต่ละธนาคาร อัพเดทล่าสุด !!! เดือน ธันวาคม 2561
ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ