โลกของเรากำลังเต็มไปด้วย “ ผู้สูงอายุ ” นี่คือสถานการณ์ทางสังคมปัจจุบันที่โลกกำลังเผชิญ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทยระบุว่า ประเทศไทยนั้นเริ่มเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” มาตั้งแต่ปี 2548 นั่นคือเรามีจำนวนผู้สูงอายุมากกว่า 10% ของประชากร และมีอัตราเพิ่มจำนวนเร็วกว่า 4% ต่อปี ล่าสุดในปี 2558 จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นมาเป็น 16% ของจำนวนประชากร และมีคาดการณ์ว่าภายในปี 2564 เราจะมีผู้สูงอายุ 20% ของจำนวนประชากร ส่งผลให้ไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์
“บ้านเพื่อผู้สูงอายุ” เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สังคมไทยตระหนักถึง เห็นได้จากการเติบโตของธุรกิจบ้านเพื่อผู้สูงอายุในช่วงระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา ที่ได้มีการลงทุนในโครงการของทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวนมากเกิดขึ้นมา ทั้งนี้ ก็เพราะที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุนั้นจำเป็นต้องมีลักษณะเฉพาะตัว ทั้งเรื่องของโครงสร้างอาคาร, แปลนอาคาร แปลนห้องต่างๆ, สิ่งของจำเป็นที่ต้องมี รวมไปถึงการจัดบ้านสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ การจัดวางพื้นที่ใช้สอยแต่ละส่วนให้เหมาะสมนั้นสำคัญอย่างยิ่งทั้งในแง่ของความสะดวกในการอยู่อาศัย ใช้งานสิ่งต่างๆ และเรื่องของความปลอดภัย ต้องลดความสี่ยงที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อผู้อยู่อาศัยซึ่งเป็นคนสูงวัยให้มากที่สุด
ทางเข้าบ้าน
ควรมีทางลาดเพื่อให้เข็นรถขึ้นลงได้สะดวก มีอัตราส่วนพื้นยกสูงต่อทางลาดไม่เกิน 1:12 คือ ถ้าพื้นสูง 1 เมตร ทางลาดต้องยาว 12 เมตร เพื่อไม่ให้ลาดชันจนเกินไป และควรติดตั้งราวจับที่มีความสูงประมาณ 80-90 เซนติเมตรไว้ด้วย
ประตูและหน้าต่าง
ประตูควรมีความกว้างมากกว่าปกติ คือตั้งแต่ 90 ซ.ม. ขึ้นไปเพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุเข้าออกได้สะดวก หรือในกรณีที่ต้อใช้รถเข็น ไม้ค้ำหรือต้องมีคนประคอง เวลาเดินผ่านประตูจะได้ไม่แน่นจนเกินไป ไม่ควรมีธรณีประตูเพื่อป้องกันการสะดุดล้ม และทางที่ดีคือให้เลือกใช้ประตูบานเลื่อนจะสะดวก ปลอดภัย และประหยัดพื้นที่มากกว่าประตูบานเปิด ส่วนหน้าต่างควรสูงจากพื้นประมาณ 50 ซ.ม. เพื่อให้ผู้สูงอายุที่ทั้งวันจะต้องนั่งหรือนอนเป็นส่วนใหญ่สามารถมองเห็นวิวภายนอกได้
แผ่นปูพื้น
ควรเลือกใช้กระเบื้องชนิดกันลื่น หรือแผ่นพื้นที่มีผิวสัมผัสฝืด ถ้าเป็นบ้านเก่าที่มีการปูพื้นเอาไว้แล้ว อาจฉีดหรือทาน้ำยาลดความมันวาวและความลื่นของแผ่นกระเบื้องแทนก็ได้
หลีกเลี่ยงพื้นต่างระดับ เพราะพื้นต่างระดับนั้นจะทำให้ทั้งการเดินและการใช้รถเข็นลำบาก อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายขึ้น
โต๊ะสำหรับ ผู้สูงอายุ ที่ใช้รถเข็น
ควรลดระดับความสูงของโต๊ะลงมาเพื่อให้พอดีกับระดับของรถเข็น หน้าโต๊ะควรสูงประมาณ 75 ซ.ม. พื้นที่ใต้โต๊ะสูงไม่ต่ำกว่า 60 ซ.ม. และไม่มีลิ้นชัก เพื่อให้สามารถเข็นรถเข้าไปใช้งานได้อย่างสะดวกนั่นเอง
เก้าอี้
ควรมีที่ท้าวแขน เพราะนอกเหนือจากความสะดวกสบายของผู้สูงอายุแล้ว เวลาจะลุกนั่งหรือยืน ผู้สูงอายุจะได้ใช้ที่พักแขนเป็นตัวช่วยพยุงได้ด้วย
ห้องน้ำ
ถือเป็นพื้นที่ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะผู้สูงอายุจะต้องใช้ห้องน้ำบ่อย ควรเลือกใช้กระเบื้องยางกันลื่น และติดตั้งราวจับความสูงประมาณ 80-90 ซ.ม. ตั้งแต่ทางเข้าไปจนถึงโถส้วม และจุดอาบน้ำ โดยตัวราวจับและสกรูยึดผนังจะต้องแข็งแรง และสามารถรับน้ำหนักตัวของผู้สูงอายุในการเหนี่ยวตัวลุกยืนได้ด้วย
ห้องนอน
ควรจัดให้อยู่ติดกับห้องน้ำ ควรเลือกเตียงที่มีระดับความสูงพอดีๆ ไม่สูงหรือต่ำจนเกินไป คือราวๆ 40 ซ.ม. เว้นพื้นที่ว่างรอบเตียงทั้ง 3 ด้านอย่างน้อย 90 ซ.ม. และเลือกใช้ตู้เสื้อผ้าแบบบานเลื่อน
ติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณฉุกเฉิน(Emergency Call Bell)
ควรติดเครื่องส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือเอาไว้ที่บริเวณหัวเตียงในห้องนอน และในห้องน้ำ รวมถึงจุดเสี่ยงต่างๆ ในบริเวณบ้าน และจุดที่ผู้สูงอายุจะต้องมีการใช้งานอยู่บ่อยๆ เช่น ห้องนั่งเล่น หรือห้องครัว เพื่อที่เวลาเกิดเหตุฉุกเฉินแล้วไม่มีคนอยู่ใกล้ๆ ผู้สูงอายุจะได้กดเพื่อขอความช่วยเหลือได้ รวมไปถึงการติดเครื่องตรวจจับควัน เพราะผู้สูงอายุนั้นมีความคล่องตัวน้อย ถ้าหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน อุปกรณ์เหล่านี้จะสามารถช่วยแก้ปัญหาในเบื้องต้นได้ในระดับหนึ่ง
และทั้งหมดนี้ก็คือหลักการจัดบ้านสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งอาจจะดูมีรายละเอียดที่ต้องใส่ใจมากพอสมควร นั่นก็เพราะคนในวัยนี้เป็นช่วงวัยที่ต้องการการดูแลใส่ใจเป็นพิเศษมากกว่าคนในวัยอื่นๆ ทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ แต่ทั้งนี้ก็เพื่อให้คนที่คุณรักได้ใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยและมีความสุขร่วมกับครอบครัวให้มากที่สุด เราเชื่อว่าการลงทุนไปกับสิ่งนี้จะเป็นเรื่องที่คุ้มค่าอย่างแน่นอน