กระแสข่าวคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 10/2562 ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และ นาย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ได้พิจารณา อนุมัติ แก้ร่างสัญญาไฮสปีด เชื่อม 3สนามบิน (ดอนเมือง –สุวรณภูมิ –อู่ตะเภา) ฉบับ ของกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท กลุ่ม เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร กรณีทำไปจ่ายไปนั้นนายวรวุฒิ มาลา รอง ผู้ว่าการ และรักษาการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยืนยันว่า ที่ประชุม ไม่ แก้สัญญาฉบับ ไฮสปีด ของกลุ่มซีพี “ไม่มีการนำเรื่องนี้มาพูดคุย แต่ที่ประชุม ได้พิจารณาอนุมัติ ระยะเวลาการส่งมอบพื้นที่และ รื้อย้ายสาธารณูปโภค ที่ต้องส่งมอบให้ภาคเอกชนคู่สัญญาเท่านั้น”
อนุทิน ไม่ได้เอาใจ CP ยอมแก้สัญญารถไฟไฮสปีด ทำไปจ่ายไป
นาย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้า มีการปรับเงื่อนไขเล็กน้อย เชื่อว่าเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย
นอกจากนี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กำชับว่าภาครัฐต้องอำนวยความสะดวก เพื่อให้การดำเนินการโครงการนี้เป็นไปด้วยความราบรื่น ไม่มีอุปสรรคใดๆ โดยรัฐต้องออกแรงด้วย ไม่ใช่ปล่อยเอกชนออกแรงอย่างเดียว ตรงนี้น่าจะเป็นความเข้าใจที่ตรงกัน และรับทราบจะมีการลงนามสัญญา ซึ่งร่างสัญญาหลักมีอยู่แล้ว จึงไม่น่ามีอุปสรรคในการลงนามเมื่อถามว่า รายละเอียดในการปรับเงื่อนไขคืออะไร นายอนุทิน กล่าวว่า เป็นการปรับความเข้าใจในเรื่องการส่งมอบพื้นที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ต้องเข้ามาทำการรื้อย้ายสาธารณูปโภค ซึ่งทางรมว.มหาดไทย ได้ไล่ถามทีละหน่วยงาน ทุกคนยืนยันว่าพร้อมและปฏิบัติได้
ขณะที่ร.ฟ.ท. ต้องไปรับภาระการเวนคืนที่ดินบางส่วน และหาที่อยู่ให้กับชาวบ้านตามแนวรถไฟ ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน โดยเลื่อนระยะเวลาจาก 1 ปี 3 เดือน เป็น 2 ปี เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นมากขึ้น ถึงเวลานั้นถ้ามีอุปสรรคก็ต้องว่ากันในเรื่องการขยายเวลาให้กับเอกชน
“เราเข้ามาต้องการสนับสนุนทุกอย่างเพื่อให้เขาทำเสร็จ ผมได้กำชับรมว.คมนาคมตลอดเวลา หากทางเอกชนขอสิ่งใดมาที่เราทำได้ อยู่ในกรอบกฎหมายและทีโออาร์ เราต้องทำทุกอย่าง ถือเป็นภารกิจและหน้าที่” นายอนุทิน กล่าว
รัฐแค่ชดเชยในเรื่องระยะเวลา ไม่ใช่เงิน
นายอนุทิน กล่าวว่า การทำสัญญากับรัฐเราจะชดเชยในเรื่องระยะเวลา ไม่ใช่เงิน หากชดเชยด้วยเงิน ทุกสัญญาที่รัฐทำกับเอกชนก็ต้องชดเชยตามไปด้วย ทั้งนี้ การก่อสร้างทุกอย่างต้องมีอุปสรรคอยู่แล้ว หากเอกชนติดอุปสรรคก็ขอขยายสัญญา หรือหากรัฐติดอุปสรรคก็ขอขยายสัญญาได้โดยไม่มีค่าปรับ ถือว่าแฟร์และยุติธรรม เพียงแค่อย่าใช้อคติหรือความลำเอียงในการดำเนินสัญญาก็จะทำให้ไม่มีปัญหา เพราะเชื่อว่าทุกคนต้องการให้ประเทศมีรถไฟเชื่อม 3สนามบิน จะเป็นการสร้างความเข้าใจให้ทั้งโลกว่าโครงการอีอีซีเกิดแน่นอน“ในวันที่25 ต.ค.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะไปเป็นประธานการลงนาม โดยรมว.คมนาคมได้กราบเรียนเชิญเรียบร้อยแล้ว เพราะถือเป็นงานใหญ่ อีอีซีถือเป็นตำนานของพล.อ.ประยุทธ์ สมัยก่อนเรามีอีสเทิร์นซีบอร์ด เป็นของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ วันนี้อีอีซี ก็เป็นผลงาน เป็นสิ่งที่จะต้องกล่าวขานถึงความมุ่งมั่นของพล.อ.ประยุทธ์” นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทิน กล่าวว่า นายกฯ กำชับว่าให้ทำเสร็จเร็วๆ อะไรช่วยเขาได้ก็ช่วย อะไรยืดหยุ่นได้ก็ยืดหยุ่น โดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ก็ได้พูดในที่ประชุมว่า อย่าไปแน่นหรือตึงมาก ผ่อนได้ก็ผ่อนแต่อย่าให้ผิดกฎหมาย และอย่าให้รัฐเสียประโยชน์ ซึ่งทางกระทรวงคมนาคม พร้อมอยู่แล้ว ยิ่งทำเสร็จเร็ว ส่งมอบพื้นที่เร็วก็เป็นผลงานกระทรวงคมนาคม
เมื่อถามว่า นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นห่วงการส่งมอบพื้นที่ เรื่องนี้สามารถคุยหลังเซ็นสัญญาได้หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า การส่งมอบพื้นที่ มีการส่งมอบพื้นที่ที่เป็นนัยยะสำคัญหลักอยู่แล้ว 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ สามารถส่งมอบโดยไม่มีอุปสรรค และในระยะเวลา 2ปีเราก็ไปแก้ไขปัญหาส่วนที่เหลือ กว่าจะได้สร้างจริงๆ ใช้เวลาเป็นปี ขอเรียนนายศุภชัยได้เลยไม่ต้องห่วง สัปดาห์ที่แล้วก็ได้มาพบตนและยืนยันไปว่าอย่าได้กังวล ตราบใดที่ตนยังอยู่ตรงนี้ พร้อมที่จะสนับสนุนให้เอกชนทำงานได้อย่างราบรื่นที่สุด ตนเองก็พอจะมีความรู้เรื่องนี้อยู่บ้าง ไม่ใช่ไม่มี ตนก็โดนอะไรมาก็รู้ และจะนำสิ่งที่โดนมามาช่วยและมานั่งเถียงแทนเขาด้วย
รฟท.ไม่กังวลเซ็นไฮสปีด ยันเดินตามTOR
นายวรวุธ มาลา รักษาการผู้ว่าการการ รถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ตอบคำถามสื่อมวลชนในประเด็น คณะกรรมการ กพอ (EEC) อนุมัติสัญญา Hi-speed ชุด CP “จะแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเอกชน” แก้ไขสัญญา ทำไปจ่ายไป โดยเปิดเผยว่า ไม่มีการอนุมัติสัญญาในแบบดังกล่าว เราทำทุกอย่างตามที่ระบุใน TOR ที่สำคัญการประชุมล่าสุดเราได้ชี้แจงอย่างชัดเจนในส่วนของการส่งพื้นที่และการรื้อถอนสาธารณูปโภค พร้อมกันนี้ผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่ารู้สึกกังวลกับการเซ็นสัญญาในโครงการรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบินหรือไม่ นายวรวุฒิ เผยต่อไปว่า “ไม่รู้สึกกังวลและพร้อมดำเนินการเร่งรัดการคืนพื้นที่เพื่อให้โครงการนี้ลุล่วง ที่สำคัญเน้นย้ำว่า ไม่มีใครจะเซ็นสัญญาแล้วจ้องยกเลิกสัญญาหรอก ขอเวลาให้เราได้ทำงาน และในวันนี้ทุกภาคส่วนก็ร่วมมือกันอย่างเต็มที่
ส่งมอบพื้นที่ไฮสปีดไม่เกินม.ค.65
- พื้นที่โครงการฯ พญาไท – สุวรรณภูมิ หรือเส้นทางแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ระยะทาง 28 กม.พร้อมส่งพื้นที่ทันทีในวันที่เอกชนคู่สัญญาชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุนแก่ รฟท. โดยต้องชำระภายใน 2 ปี (ภายในตุลาคม 2564)
- พื้นที่โครงการฯ สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา ระยะทาง 170 กม.พร้อมส่งพื้นที่ภายใน 1 ปี 3 เดือน หรือไม่เกิน 2 ปีหลังจากลงนามสัญญาร่วมทุน (ภายในมกราคม 2564)
- พื้นที่โครงการฯ พญาไท – ดอนเมือง ระยะทาง 22 กม.พร้อมส่งพื้นที่ภายใน 2 ปี 3 เดือน หรือไม่เกิน 4 ปีหลังจากลงนามสัญญาร่วมทุน (ภายในมกราคม 2565)
โดยหากเป็นไปตามแผนโครงการดังกล่าวจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2566 ถึงต้นปี 2567 สอดรับกับการสร้างสนามบินอู่ตะเภาอย่างไรก็ตามหากกรณีส่งคืนพื้นที่ช้าและรื้อย้ายไม่ทันตามกำหนด จะขยายเวลาให้เอกชนทำงาน
นายวรวุธ มาลารองผู้ว่าการ ในฐานะรักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เผยว่า ด้านแผนการรื้อย้ายสาธารณูปโภค หน่วยงานในพื้นที่เขตทางรถไฟ ต้องรับผิดชอบรื้อย้ายโดยเร็ว ซึ่งแผนดังกล่าวจากพญาไท – สุวรรณภูมิ และจากลาดกระบัง – อู่ตะเภา จะเร่งรัดให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี 3 เดือนหรือไม่เกิน 2 ปี หลังจากลงนามสัญญา โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่นี้ได้แก่ กปน. กปภ. กฟผ. กฟน. กฟภ. ปตท. และบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด ต้องรับผิดชอบรื้อย้าย ด้านพื้นที่จากพญาไท – ดอนเมือง จะเร่งรัดดำเนินการรื้อย้ายแล้วเสร็จภายใน 2 ปี 3 เดือน หรือไม่เกิน 4 ปี หลังจากลงนามสัญญา
โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่นี้ได้แก่ กปน. กทม. กฟน. กฟผ. ปตท. บริษัท ขนส่งน้ำมันท่อ จำกัด และ รฟท. ต้องรับผิดชอบรื้อย้าย ทั้งนี้ทุกการรื้อย้ายสาธารณูปโภคจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดของ กบอ. โดย สกพอ. และ รฟท.
“การประชุมเพื่อพิจารณาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะช่วยให้เกิดความชัดเจนในการส่งคืนพื้นที่และรื้อย้ายสาธารณูปโภคที่เป็นอุปสรรคสำคัญในโครงการ ที่สำคัญการประชุมในครั้งนี้ยังเป็นแผนแรกของไทยที่มีรายละเอียดการส่งพื้นที่และการรื้อย้ายที่ชัดเจน และจะเป็นโมเดลให้โครงการในอนาคตนำไปปรับใช้ เราเชื่อมั่นว่าสามารถเซ็นสัญญาร่วมกับเอกชนได้ตามกำหนด” นายคณิต เผยทิ้งท้าย
ที่มา thansettakij