DotProperty.co.th

อสังหาฯฟื้น แต่ปัจจัยลบต่อคิวสอยร่วง

ธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้สัญญาณดีเริ่มมา อสังหาฯฟื้นตัวได้แน่ๆ คาดผลประกอบการปลายปีชี้วัดใครอยู่ใครเจ๋ง โดยสัญญาณดีเริ่มบ่งชี้ผู้ประกอบการขยับราคาขึ้นทุกประเภท ทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ คอนโด ที่ดินเปล่า โดยเฉพาะทำเลทองทั้งในเมืองและนอกเมือง ซึ่งจาการติดตามการขึ้นราคาและการเติบโตของอสังหาฯอย่างต่อเนื่องนั้นพบว่า นภาพรวม คาดว่าปีนี้น่าจะขยายตัวอยู่ประมาณ 6-8%สำหรับดัชนีราคาที่อยู่อาศัย ณ เดือนมิ.ย.ปีนี้ปรับเพิ่มขึ้น โดยดัชนีราคาบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดินเพิ่มขึ้น 4.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ดัชนีราคาทาวน์เฮาส์พร้อมที่ดินเพิ่มขึ้น 8.3% ดัชนีราคาอาคารชุดเพิ่มขึ้น 9.8% และดัชนีราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 11.1% สะท้อนภาพความต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี หากสินเชื่อรวมโตระดับ6-8% สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ก็น่าจะไม่โตแบบสุดขั้วไปทางใดทางหนึ่งชัดเจน ไม่ต่ำจนน่ากังวล และไม่ได้โตสูงมากเป็นเลข 2 หลัก ซึ่งถ้าถึงขั้นนั้นอาจมองว่าจะเป็นฟองสบู่ได้ แม้ว่าหลายๆคนจะกลัวเรื่องฟองสบู่อย่างที่เคยเกิดมาจากสภาวะเงินเฟ้อจากผลกระทบทางเศรษฐกิจในหลายๆด้าน ซึ่งสังหาริมทรัพย์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา พบว่าปรับดีขึ้นตามความเชื่อมั่นภาคเอกชนที่ฟื้นตัวภายหลังสถานการณ์การเมืองที่คลี่คลายลง โดยความต้องการที่อยู่อาศัยในภาพรวมปรับดีขึ้น สะท้อนจากอัตราการจองซื้อที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ 16% เพิ่มเป็น 28% จากความเชื่อมั่นที่ปรับดีขึ้น ด้านอุปทานหรือปริมาณการเปิดขายที่อยู่อาศัยก็ปรับดีขึ้น เห็นได้จากจำนวนที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่เพิ่มขึ้น จากเดือนก่อน 7,430 หน่วย เพิ่มเป็น 7,911 หน่วยตามการฟื้นตัวของที่อยู่อาศัยแนวราบเช่น บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ และอาคารชุดซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการที่เลื่อนการเปิดขายมาจากช่วงก่อนหน้า ที่กังวลปัจจัยทางเศรษฐกิจและสถานการณ์ทางการเมือง

อย่างไรก็ดี หากสรุปภาพรวมในไตรมาส 2 ปีนี้ จะพบว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์หดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ทั้งด้านความต้องการซื้อที่อยู่อาศัย และการเปิดขายโครงการของผู้ประกอบการ โดยยอดสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่และยอดที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่หดตัว 10.1% และ 16.6%ตามลำดับ เนื่องจากปัญหาการเมืองบั่นทอนภาคเอกชน แม้ว่าตอนนี้จะยังสรุปอะไรไม่ได้มากนักเพราะว่ายังมีปัจจัยหลายๆ อย่างที่ยังมีความผันผวนรออยู่ แม้ว่าการแก้ไขปัญหาจะมีความชัดเจนจาก คสช.มากขึ้นถึงแนวทางการพัฒนาประเทศแบบยั่งยืน และ กระตุ้นภาคเศรษฐกิจให้ดีขึ้น อย่างเช่น การประกาศปรับฐานเงินเดือนข้าราชการ ซึ่งหากบังคับใช้เมื่อไหร่ เชื่อว่าจะส่งผลกระทบในภาพรวม เพราะ กลุ่มรัฐวิสาหกิจก็ต้องมีการเสนอขอปรับเงินเดือน ตามอย่างแน่นอน และ มียื่นข้อไปแล้วหนึ่งแห่งนั่นคือ การบินไทย นอกจากนี้ ภาคเอกชนก็ต้องได้รับผลกระทบ สหภาพแรงงานต้องมีการขอขึ้นค่าแรง และ หากเป็นไปตามกลไกเศรษฐกิจบ้านเราที่เป็นกันมาทุกๆครั้ง คือ สินค้า และ บริการ ทุกอย่างขึ้นราคา เพราะต้นทุนค่าแรงแพงขึ้น ราคาขายก็ต้องขึ้นตาม และ อาจส่งผลต่อค่าครองชีพของคนในประเทศ เพราะประชากรส่วนใหญ่ รายได้น้อย ค่าครองชีพสูง และจะส่งผลกระทบถึงเศรษฐกิจโดยรวม แน่นอนว่ามันเป็นลูกโซ่ที่ส่งผลมายังภาคอสังหาฯด้วยเช่นกัน ดังนั้นสัญญาณที่ดีในตอนนี้อาจส่งผลเป็นตรงกันข้ามในตอนหลังได้เช่นกัน