ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเราได้เผชิญกับวัฏจักรภัยธรรมชาติที่มาทุกปีและรุนแรงมากขึ้นทุกปี อย่างเช่น ฤดูฝนเผชิญกับน้ำท่วม ฤดูร้อนเผชิญกับภัยแล้ง ฤดูหนาวเผชิญกับฝุ่นและไฟป่า หากใครสังเกตได้เหมือนกันย่อมต้องรู้ว่าโลกกำลังบอกเราว่าพวกเราเข้าใกล้วิกฤตสภาพอากาศมากขึ้นทุกทีแล้ว
นี่เป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกที่ไม่อาจแบ่งแยกพื้นที่หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของโลกได้อีกต่อไป ดังนั้นเราจึงได้เห็นหลายประเทศทั่วโลกจับมือกันให้คำมั่นถึงเรื่องการดูแลสภาพอากาศเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์ในการประชุม COP26 หรือการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 จัดขึ้นที่เมือง Glasgow สหราชอาณาจักร ในวันที่ 3-12 พฤศจิกายนนี้
การประชุม COP26 มีจุดประสงค์หลักคือการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นของโลก
เชื่อว่าทุกคนคงรู้จักภาวะโลกร้อนที่เราเคยเรียนรู้กันมาแต่เด้กก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นการใช้คำว่า Climate Change กันแทนเป็นเพราะว่า การที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นนั้นสร้างผลลัพธ์ได้มากกว่าความรู้สึกร้อน แต่เป็นสภาพอากาศที่แปรปรวน พายุที่รุนแรง และหายนะอื่นๆ อีกมากมาย
ในเวลานี้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนยุคอุสาหกรรมมา 1.1 องศาเซลเซียสซึ่งนับเป็นหนึ่งในสามของจุดสูงสุดที่เกินแก้ไขนั่นคือ 3 องศาเซลเซียส
หากอุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นจะเป็นอย่างไร
เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1 องศาเซลเซียส
อย่างที่เราได้เห็นกันว่าพวกเรากำลังเผชิญกับพายุที่รุนแรงทำลายสถิติโลกกันทุกปี ภัยธรรมชาติรุนแรงมากขึ้น เรากำลังเผชิญปัญหาแนวปะการังฟอกขาวเนื่องจากอุณหภูมิของน้ำพุ่งสูงขึ้นและขณะนี้มีการพบว่าหมีขั้วโลกกับหมีกรีซลีสามารถย้ายที่อยู่มาใช้ชีวิตร่วมกันจนเกิดพันธุ์ผสมอย่างหมีพีซลีมาแล้ว เห็นชัดว่าโลกเริ่มมีการแปลงสภาพจากเดิมมากขึ้นเรื่อยๆ
เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2 องศาเซลเซียส
น้ำแข็งขั้วโลกจะละลายมากขึ้นจนเพิ่มระดับน้ำทะเลส่งผลให้บางพื้นที่เกิดน้ำท่วม เราจะสูญเสียแนวปะการังมากขึ้นจากการฟอกขาวและความอุดมสมบูรณ์ภายในมหาสมุทรจะลดลง ขณะเดียวกันบนพื้นโลกจะต้องเผชิญกับภาวะภัยแล้งและคลื่นความร้อนที่ทำให้คนเสียชีวิตได้สูงถึงมากกว่าหมื่นราย
เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3 องศาเซลเซียส
นี่คือจุดที่นักวิทยาศาสตร์คาดว่าเป็นจุดที่เราไม่อาจทำให้อุณหภูมิโลกกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อีก ในตอนนั้นเราจะได้เผชิญกับพายุรุนแรงแบบร้อยปีมีครั้งกันบ่อยมากขึ้นจนเป็นเรื่องปกติ คนที่อาศัยอยู่ในยุโรปอาจได้ความรู้สึกเผมือนอยู่ตะวันออกกลางในช่วงฤดูร้อน และน้ำแข็งขั้วอาจจะไม่เหลืออยู่ในฤดูร้อนด้วยเช่นกัน
ตอนนี้มีการคาดการณ์ว่าหากเรายังไม่มีการปรับเปลี่ยนแนวทางการใช้ชีวิตทั้งแบบส่วนบุคคลและระดับชาติ อุณหภูมิโลกอาจจะพุ่งสูงขึ้นอีกกว่า 2.7 องศาเซลเซียสได้ในปี ค.ศ. 2100
การเปลี่ยนแปลงยิ่งใหญ่ที่มนุษย์ควรทำในตอนนี้
พวกเราเริ่มสร้างมลพิษกันอย่างจริงจังในช่วงยุคอุสาหกรรมนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่เรายังไม่รู้ว่าการใช้พลังงานและทรัพยากรของโลกอย่างไม่ถูกวิธีจะสร้างความเสียหายให้กับโลกได้ ดังนั้นก่อนที่จะสายเกินแก้เรามาดูกันว่า เราควรทำอะไรเพื่อโลกบ้าง
การเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด
การใช้ชีวิตของพวกเราในเวลานี้ไม่มีใครไม่ใช้พลังงานไฟฟ้า แต่กรรมวิธีการผลิตพลังงานเหล่านี้กลับสามารถสร้างมลพิษจนเกิดเป็นภาวะของโลกได้ ดังนั้นในการประชุม COP26 นี้เหล่าผู้นำจึงมีการจับมือร่วมกันยุติการสร้างพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินซึ่งทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกได้มาก แล้วหันมาใช้พลังงานไฟฟ้าจากแผงโซล่า พลังงานจากน้ำและลมแทน
การเรียกคืนธรรมชาติกลับมาสู่เมือง
ในช่วงยุคอุตสาหกรรมเจริญมากขึ้นจำนวนประชากรโลกก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้พวกเราต้องแย่งพื้นที่ของป่า ลดธรรมชาติภายในเมืองลงเพื่อเพิ่มพื้นที่อยู่อาศัยให้เพียงพอกับจำนวนประชากรซึ่งส่งผลให้การสร้างมลพิษหรือก๊าซเรือนกระจกมีมากขึ้นแต่กลับมีธรรมชาติมาลดก๊าซเรือนกระจกและสร้างออกซิเจนทดแทนได้น้อยลง ดังนั้นการอยู่ร่วมกับธรรมชาติจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่มนุษย์ต้องทำให้ได้
ลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง
เมื่อก่อนเราเข้าใจว่าทรัพยากรบนโลกจะมีเพียงต่อความต้องการของเราซึ่งจากการศึกษาของเหล่านักวิทยาศาสตร์นั้นล้วนค้นพบแล้วว่าไม่จริง มีทรัพยากรมากมายที่เรานำมาใช้กันอย่างรวดเร็วจนทำให้ธรรมชาติไม่อาจสร้างคืนได้ทันหรืออาจจะไม่สามารถสร้างได้อีกแล้วเช่นถ่านหิน แร่ธาติบางชนิดเป็นต้น
สิ่งสำคัญในตอนนี้คือการลดการใช้ทรัพยากรโลกลงและสร้างธรรมชาติขึ้นมาทดแทนเพื่อให้กลไกทางะรรมชาติช่วยเราสร้างโลกที่เหมาะกับการอยู่อาศัยขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง หรืออาจจะเรียกว่าเรียกคืนโลกให้เหมาะกับการอยู่อาศัยของมนุษย์อีกครั้ง ไม่อย่างนั้นลูกหลานของพวกเราอาจจะไม่สามารถอาศัยอยู่บนโลกได้อีก
ที่มา https://www.prachachat.net/world-news/news-796033