DotProperty.co.th

เก็บเท่าไหร่ กู้แค่ไหน เพื่อบ้านหลังใหม่ในฝัน

คำว่าบ้าน อาจจะมีหลากหลายนิยาม แต่ไม่ว่าจะถูกเข้าใจด้วยแนวคิดแบบใด หนทางในการได้มาซึ่งบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์สำหรับการอยู่อาศัยนั้น ก็มักจะต้องผ่านกระบวนการทางการเงิน ที่ยากจะหาใครที่สามารถซื้อขาดได้ด้วยเงินสดในจังหวะเดียว และลงเอยด้วยการกู้กับทางธนาคารต่างๆ เพื่อชดเชยส่วนต่างที่จำเป็น ซึ่งนั่นเอง แต่จะต้องกู้เป็นสัดส่วนเท่าใด หรือจะต้องเก็บสำรองเงินสดไว้มากน้อยแค่ไหน เหล่านี้ยังคงเป็นข้อกังขาสำหรับผู้ที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจอยู่ไม่น้อย

ในแง่นี้ เราอาจจะต้องทำความเข้าใจกับรูปแบบการปล่อยกู้เพื่ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศกันโดยคร่าวๆ ที่รูปแบบโดยปกติ จะแตะเพดานวงเงินกู้สูงสุดที่ 80% ตามกำหนดของ LTV (Loan to Collateral Value) เช่น มูลค่าสินทรัพย์ที่ 1 ล้านบาท ธนาคารสามารถปล่อยกู้ได้สูงสุดที่ 8 แสนบาท และผ่อนชำระแบบระยะยาวในเวลาที่ไม่เกินอายุผู้ขอกู้ที่ 70 ปี (เช่น ถ้าผู้ขอกู้มีอายุ 35 ปี จะสามารถขอกู้ที่ระยะเวลาสูงสุดที่ 30 ปี)

ที่กล่าวไปข้างต้น เป็นรูปแบบการขอกู้แบบปกติ ซึ่งเงื่อนไขของการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่หลากหลายขึ้นในปัจจุบัน ทำให้การเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์สามารถเป็นไปได้โดยง่าย (ถึงขั้นที่บางครั้ง ไม่จำเป็นต้องวางเงินดาวน์) แต่ทั้งนี้ เราควรนำเรื่องของอัตราดอกเบี้ยมาพิจารณาประกอบกัน เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า มีอัตราที่เพิ่มขึ้นทุกปี แม้ทางธนาคารจะมีรูปแบบของการคงตัวดอกเบี้ยระยะสั้น ก่อนปล่อยลอยตัวตามสภาวะที่เป็นจริงในระยะเวลาที่เหลือ จนถึงการงดเว้นค่าธรรมเนียมเพื่อการจูงใจในเบื้องต้นก็ตาม

เช่นนั้นแล้ว เราควรกำหนดจำนวนเงินกู้/เงินเก็บเป็นเท่าใด? Daniel Cohen ผู้ก่อตั้ง First Home Buyers ประเทศออสเตรเลีย ให้ความเห็นว่า 20% ของมูลค่าขายของสินทรัพย์ คือตัวเลขที่ลงตัวที่สุด เมื่อพิจารณาจากหลายๆ องค์ประกอบ ไม่ว่าจะจำนวนเงินที่ต้องชำระส่วนที่เหลือ อัตราดอกเบี้ย จนถึงการกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมกับทางธนาคาร อีกทั้งยังไม่นานเกินไปจนกระทั่งผู้ซื้อต้องไล่ตามราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ถีบตัวสูงขึ้น ซึ่งแม้ว่าจะมีความแตกต่างในระเบียบและธรรมเนียม แต่โดยทางปฏิบัติแล้วไม่ต่างกัน

           แต่ทั้งนี้ ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนตายตัวในประเด็นดังกล่าว ขึ้นกับความพร้อมและขีดความสามารถในการจ่ายชำระเงินกู้ของผู้ซื้อเป็นหลัก และเหนือสิ่งอื่นใด ก็ขึ้นกับว่าผู้ซื้อ มีความปรารถนาที่จะไปถึงความฝันที่เรียกว่า ‘บ้าน’ มากน้อยเพียงใด

อ้างอิงข้อมูล

-เอกสารชุด ‘สาระน่ารู้เกี่ยวกับสินเชื่อที่อยู่อาศัยปี 2553’ โดย พัลลภ กฤตยานวัช
-‘How much deposit do I need to buy my first home?’ by Caroline James