กทพ.-ช.การช่าง” เจรจาลงตัว ยอมลด 50% มูลค่าหนี้ข้อพิพาท 17 เรื่อง จาก 1.37 แสนล้าน เหลือกว่า 5.9 หมื่นล้าน แลกขยายสัมปทาน 30 ปี 3 ทางด่วน
เคลียร์หนี้ จาก 1.37 แสนล้าน เหลือกว่า 5.9 หมื่นล้าน แลกสัมปทาน 30 ปี
เมื่อเร็วๆนี้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผย ว่า คณะกรรมการ (บอร์ด) จัดประชุมนัดพิเศษพิจารณาแนวทางแก้ปัญหาข้อพิพาททางด่วนที่ศาลปกครองให้ กทพ.จ่ายค่าชดเชยทางแข่งขันของทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด ให้กับ บจ.ทางด่วนเหนือ (NECL) บริษัทในเครือ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) และ บมจ.ช.การช่าง เป็นวงเงินรวมดอกเบี้ย 4,318 ล้านบาท ลดหนี้-หดระยะเวลาสัมปทาน
“บอร์ดมีนโยบายจะแก้ปัญหาที่ค้างคาระหว่าง กทพ.กับเอกชนคู่สัญญาให้เบ็ดเสร็จ เช่น การยุติข้อพิพาทการต่อสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ที่กำลังจะสิ้นสุดวันที่ 28 ก.พ. 2563 การปรับค่าผ่านทาง ที่ผ่านมาจึงให้คณะอนุกรรมการเจรจากับ BEM เป็นภาพรวม
ได้ข้อสรุปและบอร์ดเคยอนุมัติไปแล้วเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2561 แต่มีการคัดค้านจากสหภาพ กทพ. และมีการศึกษาพบมีแนวทางใหม่ที่เป็นทางเลือกเพิ่ม บอร์ดให้คณะอนุกรรมการไปเจรจากับ BEM อีกครั้งจนได้ข้อสรุปร่วมกันเมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา ทุกอย่างยังคงเดิม มีปรับลดมูลหนี้และระยะเวลาสัมปทาน”
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า โดย BEM ยอมลดเงินต้นและดอกเบี้ยของข้อพิพาท 17 เรื่อง คิดเป็นมูลค่าฟ้องร้อง 137,517 ล้านบาท แยกเป็นเงินต้น 93,325 ล้านบาท และดอกเบี้ย 44,192 ล้านบาท โดยลดลงไป 50% เหลือมูลค่ากว่า 59,000 ล้านบาท โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยและ IRR ลง
ส่วนสัมปทานได้ปรับลดระยะเวลาลงจาก 37 ปี เหลือ 30 ปี ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายคิดว่าเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมที่สุด ประกอบด้วย 1.ทางด่วนขั้นที่ 2 จากเดิมสิ้นสุดเดือน มี.ค. 2563 เป็นสิ้นสุดเดือน มี.ค. 2593 2.ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วนดี จากเดิมสิ้นสุดเดือน เม.ย. 2570 เป็นเดือน เม.ย. 2600 และ 3.ทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด จากเดิมสิ้นสุดในเดือน ก.ย.2569 เป็นสิ้นสุดเดือน ก.ย. 2599
ขณะที่การปรับค่าผ่านทางจะเป็นแบบคงที่ มีกำหนดปรับทุก 10 ปี อัตรา 10 บาท เท่ากับ BEM จะปรับค่าผ่านทางได้ 3 ครั้ง ในปี 2572 ปี 2582 และปี 2592 จากเดิมปรับตามค่าดัชนีผู้บริโภค (CPI)
โดย กทพ.ได้ส่วนแบ่งรายได้สัดส่วน 60% และ BEM 40% ในส่วนของโครงข่ายทางด่วนขั้นที่ 2 ในเมืองตลอดอายุสัญญา ส่วนทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน C และส่วน D เป็นโครงข่ายนอกเมืองและทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ดทาง BEM จะได้รายได้ทั้งหมด โดยส่วนแบ่งรายได้ทาง BEM จะรับภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ตามส่วนแบ่งรายได้ 40% จากปัจจุบัน กทพ.รับภาระอยู่ 100% คิดเป็นวงเงิน 700 ล้านบาทต่อปี ทุ่ม 3.15 หมื่นล้าน ผุดด่วนชั้นที่ 2
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ BEM จะต้องลงทุน 31,500 ล้านบาท ก่อสร้างและปรับปรุงทางด่วนขั้นที่ 2 เป็นทางด่วน 2 ชั้น (double deck) จากด่านประชาชื่น-อโศก ระยะทาง 17 กม. รูปแบบเป็นทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร
รวมถึงการแก้ปัญหาจุดตัดกระแสจราจร จำนวน 2 บริเวณ คือ ทางแยกต่างระดับมักกะสัน โดยเพิ่มทางเชื่อมอโศก-ดินแดง และทางเชื่อมดินแดง-อโศก และแก้ปัญหาการจราจรที่เป็นคอขวดด้วยการขยายผิวจราจร 2 บริเวณ คือ ทางร่วมระหว่างทางด่วนขั้นที่ 2 มุ่งหน้าทางด่วนขั้นที่ 1 ลงเพลินจิต และทางร่วมบริเวณทางขึ้นด่านคลองประปา 2 มุ่งหน้าทางแยกต่างระดับพญาไท
เพื่อแก้ปัญหาการจราจร โดยผู้ใช้ทางไม่เสียค่าผ่านทางเพิ่ม จะรองรับรถจากวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันตก ทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด และเส้นทางอื่น ๆ ที่อยู่โดยรอบ ทำให้การจราจรช่วงในเมืองมีความแออัดโดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วน โดย BEM จะนำเงินจากกระแสเงินสด 18,000 ล้านบาทและกู้ยืม 13,300 ล้านบาท มาดำเนินการก่อสร้าง ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี จะเปิดบริการในปี 2568
เร่งเสนอคมนาคม-ครม.อนุมัติ
“หากผ่านการอนุมัติจากบอร์ดวันที่ 15 พ.ค.แล้ว จะเสนอไปยังคณะกรรมการมาตรา 43 ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ หรือคณะกรรมการกำกับโครงการ มีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิจารณา จากนั้นเสนอให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติต่อไป”
นายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. กล่าวว่า ได้รับรายงานความคืบหน้าการเจรจากับ BEM แล้วว่าได้ข้อสรุปร่วมกันจะขยายอายุสัมปทานทางด่วนทั้ง 3 โครงการออกไปอีก 30 ปี ลดลงจากเดิมที่กำหนดไว้ 37 ปี ซึ่งบอร์ดจะพิจารณาวันที่ 15 พ.ค. หากไม่มีเปลี่ยนแปลงจะเสนอกระทรวงคมนาคมและ ครม.อนุมัติต่อไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ ครม.
“เชื่อว่าแนวทางนี้เป็นทางออกที่ดี และคงจะทำให้อะไร ๆ ดีขึ้น เพราะได้รับการยอมรับทั้ง 2 ฝ่ายที่เห็นพ้องกันว่าจะเป็นประโยชน์ ซึ่งเรื่องนี้ก็ล่าช้ามานาน ดอกเบี้ยจากการแพ้คดีข้อพิพาทก็เดิน
ทุกวัน วันละ 300,000 บาท ก็อยากจะทำให้แล้วเสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้ ไม่อยากให้คดีทางด่วน กลายเป็นโฮปเวลล์ 2 เมื่อมีโอกาสเจรจาแล้วต้องเจรจา”
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 13 พ.ค. นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานปฏิบัติการ บมจ.ช.การช่าง ได้เข้าพบนายสุรงค์และนายสุทธิศักดิ์ วรรธนวินิจ รองผู้ว่าการฝ่ายกฎหมายและกรรมสิทธิ์ที่ดินและรักษาการผู้ว่าการ กทพ. โดย กทพ.ให้เอกชนรับข้อสังเกตการณ์ในรายละเอียดของกรอบเจรจาไปพิจารณาก่อนจะเสนอให้บอร์ดพิจารณาวันที่ 15 พ.ค. อาทิ ทางแข่งขัน การสงวนสิทธิต่าง ๆ เช่น การใช้ประโยชน์พื้นที่ใต้ทางด่วน ซึ่งตามสัญญาใหม่จะต้องยกเลิกให้หมด
นายพงษ์สฤษดิ์กล่าวสั้น ๆ ว่า รอการพิจารณาจากบอร์ด กทพ. ยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับปริมาณการจราจรบนทางด่วนขั้นที่ 1 ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วนต่อขยายส่วน D และบางปะอิน-ปากเกร็ด มีการคาดการณ์ว่าในปี 2563 จะอยู่ที่ 1.235 ล้านเที่ยวคันต่อวัน ปี 2571 อยู่ที่ 1.395 ล้านเที่ยวคันต่อวัน ปี 2581 อยู่ที่ 1.483 ล้านเที่ยวคันต่อวัน และปี 2591 อยู่ที่ 1.526 ล้านเที่ยวคันต่อวัน