DotProperty.co.th

เคลียร์ให้ขาด ก่อนประกาศกู้สินเชื่อเพื่ออสังหาฯ

มาช่วงนี้ ใกล้จะผ่านพ้นกันไปอีกหนึ่งปี สำหรับใครที่มีแผนจะซื้อบ้านและที่อยู่อาศัยเพื่อการเริ่มต้น ก็อาจจะนับได้ว่าเป็นโอกาสที่ดีมากๆ เพราะมีตัวช่วยอยู่ไม่น้อย ทั้งนโยบายกระตุ้นธุรกิจอสังหาฯ จากทางภาครัฐ จนถึงโปรโมชัน ลด แลก แจก แถมใหม่ๆ จากเจ้าของโครงการอันหลากหลาย เรียกว่าช็อปปิ้งที่อยู่อาศัยในจังหวะนี้น่าจะเป็นอะไรที่ทำให้รู้สึกสุขีสโมสรกันอยู่ไม่น้อย

แต่ก่อนที่จะข้ามไปสู่กระบวนการเก็บกระเป๋าเข้าอยู่นั้น ก็ต้องผ่านปราการด่านแรกอย่างการยื่นเรื่องผ่านธนาคารพาณิชย์เพื่อ ‘ขอสินเชื่อ’ กันเสียก่อน ซึ่งก็แน่นอนว่าเป็นอะไรที่ต้องคิดหน้าคิดหลังกันให้ถี่ถ้วน (ด้วยจำนวนเงินที่ไม่ใช่น้อยๆ) และเราก็อยากจะให้คุณ ‘เคลียร์’ เงื่อนไขเหล่านี้ให้ขาดก่อนที่จะประกาศเข้าสู่ระบบสินเชื่อ หนี้ก้อนใหญ่ระยะยาวที่จะผลักคุณไปสู่เวทีอีกระดับของความรับผิดชอบที่จะตามมา

//รายได้หรือเงินเดือนคุณ ‘มีพอ’ หรือเปล่า?

Credits: home.howstuffworks.com

ในที่นี้ เราไม่ได้มากีดกั้นหรือแบ่งชนชั้น แต่รายได้ ไม่ว่าจะมาจากทางใด เป็นหลักประกันเบื้องต้นที่ธนาคารพาณิชย์จะพิจารณาการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและอสังหาฯ เพื่อให้แน่ใจถึงศักยภาพในการจ่ายชำระดอกเบี้ยรายเดือน บางแห่งก็มีเงื่อนไขไม่ได้สูงมากนัก (เช่น เงินเดือนขั้นต่ำ 15,000 บาท) แต่บางแห่งก็มีเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ยอัตราเฉพาะสำหรับบางวิชาชีพ (เช่น แพทย์ และสายงานที่เกี่ยวข้อง) สำรวจให้ชัดเจนก่อนยื่นเรื่องขอสินเชื่อ

//คุณพร้อมจะวิ่งไปกับดอกเบี้ยเหล่านี้ ‘นาน’ แค่ไหน

Credits: bigfatpillar.com

แน่นอนว่าถ้าคุณได้รับสินเชื่อจากทางธนาคารแล้ว การผ่อนจ่ายชำระดอกเบี้ยในแต่ละเดือนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งทางธนาคารก็จะมีอัตราดอกเบี้ยในหลายรูปแบบ ทั้งแบบปล่อยลอยตัว และแบบคงตัวตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งก็ขึ้นกับคุณ ในฐานะผู้ขอสินเชื่อ ว่ามีความพร้อมที่จะวิ่งได้ในระยะเวลาที่ไกลมากน้อยเพียงใด มีศักยภาพในการผ่อนจ่ายในระยะเวลาเท่าใด โดยส่วนมาก ผู้ที่มีรายได้ไม่สูงนัก ก็มักจะเลือกแพ็คเกจของการผ่อนชำระที่ 20-30 ปี แต่ธนาคารบางแห่งก็จะมีโปรโมชั่นที่ทำร่วมกับเจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อกระตุ้นยอดขาย อย่าพลาดที่จะหาข้อมูลเพิ่มเติม

//คุณมี ‘หนี้’ ค้างชำระหรือไม่

Credits: blog.myhome.ie

เราหมายถึง ‘หนี้’ ทุกประเภท ตั้งแต่รายละเอียดยิบย่อยซื้อของกินของใช้จนถึงหนี้ผ่อนชำระค้างกับไฟแนนซ์สถาบันต่างๆ เพราะอย่างที่ทุกท่านทราบกันดีว่า เครดิตทางการเงินที่มีปัญหา (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าสาหัสจนถึงขั้นติดบูโร…) จะส่งผลต่อการทำธุรกรรมทางการเงินโดยรวม รวมถึงการขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ที่เป็นหนี้ระยะยาวที่ธนาคารอาจจะต้องพิจารณาผู้มาขอมากเป็นพิเศษสักหน่อย และต้องมีประวัติการชำระหนี้ที่ดีเป็นเวลาอย่างน้อย 12 งวดติดกัน

//พิจารณาทางเลือกเพื่อการขอสินเชื่อเพิ่มเติมหรือยัง?

Credits: realtor.com

การขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย มีข้อดีที่ความยืดหยุ่นในการพิจารณาจากทางธนาคารพาณิชย์ นั่นหมายถึงผู้ขอกู้ สามารถขอความร่วมมือบุคคลใกล้ชิดเช่น คู่สมรส หรือบิดามารดา ให้มาร่วมเป็น ‘ผู้ขอกู้ร่วมได้’ อย่าลืมที่จะพิจารณาทางเลือกเหล่านี้ เพื่อลดความยุ่งยากของกระบวนการต่างๆ

//ประเภทของที่อยู่อาศัย ดูให้แน่ใจ

Credits: saintjohnorange.com

เงื่อนไขสุดท้ายที่ควรจะเคลียร์ให้ขาด ก็คงจะอยู่ที่ประเภทของอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัยที่คุณตัดสินใจจะเข้าไปยื่นขอสินเชื่อนั้นๆ เพราะธนาคารจะทำการประเมินอสังหาริมทรัพย์นั้นๆ เคียงคู่กับฐานรายได้ และขีดความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ยื่นขอสินเชื่อ กล่าวคือ ถ้าสินทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน มีความสัมพันธ์กับปัจจัยที่เหลือ โอกาสที่คุณจะยื่นขอสินเชื่อผ่านก็มีสูง (และเราคิดว่า มันน่าจะเป็นสิ่งแรกๆ ที่คุณควรจะพิจารณา เพราะราคาที่อยู่อาศัยที่สูงมาก ก็อาจจะทำให้คุณมีปัญหาในการผ่อนชำระในภายหลัง)

เราเข้าใจว่าเส้นทางนี้มันลำบาก และคุณก็เหลืออีกเพียงไม่กี่ก้าวก็จะได้ไปถึงฝั่งฝันของการมีบ้านและที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง แต่ก็คงจะเช่นเดียวกับหลายช่วงของชีวิต ที่มันอาจจะเป็นการเริ่มต้น หาใช่ปลายทาง และเราก็อยากจะให้คุณได้สำรวจความพร้อมก่อนจะออกสตาร์ทให้ถี่ถ้วนสักนิด เพื่อที่จะได้ออกเดินไปได้ด้วยความมั่นใจมากยิ่งขึ้น