เปิดร่างผังเมืองรวม อีอีซี 8.29 ล้านไร่ ครอบ คลุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน 4 กลุ่ม 11 ประเภท เพิ่มพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม 4.12 แสนไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในระยอง ชลบุรีเป็นชุมชนเมือง ฉะเชิงเทราพื้นที่ส่งเสริมเกษตรกรรม
เจาะผังเมือง อีอีซี ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา กว่า 8.29 ล้านไร่
ภายใต้พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กำหนดให้มีการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ที่จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) เห็นชอบซึ่งจะครบกำหนด ในวันที่ 9 สิงหาคม 2562 นี้
ห้ามตั้งโรงงานริมแม่น้ำ 500 ม.
การจัดทำร่างแผนผังดังกล่าว ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) ยืนยันว่าได้ผ่านการทำรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนรวมกว่า 40 ครั้ง ในพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด โดยให้ความสำคัญกับการดูแลพื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่อนุรักษ์เป็นพิเศษ โดยรูปแบบการใช้ประโยชน์ในที่ดิน จะแบ่งเป็น 4 กลุ่มหลัก 11 ประเภท ครอบคลุมพื้นที่ราว 8.29 ล้านไร่ แบ่งเป็น
1.พื้นที่เมืองและชุมชนราว 1.11 ล้านไร่หรือราว 13.4 % ประกอบด้วยที่ดินประเภทศูนย์กลางด้านพาณิชยกรรม(พ.) ที่ดินประเภทชุมชนเมือง(ม.) ที่ดินประเภทรองรับการพัฒนาเมือง(รม.) และที่ดินประเภทเขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ(ขก.)
2.พัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม พื้นที่ราว 4.12 แสนไร่ หรือราว 4.97% แบ่งเป็นที่ดินประเภทเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ 21 เขต(ขอ.) และที่ดินประเภทรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต (อ.)
3.พัฒนาพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ราว 4.86 ล้านไร่หรือราว 58.63% แบ่งเป็นที่ดินประเภทชุมชนชนบท(ชบ.) ที่ดินประเภทส่งเสริมเกษตรกรรม (สก.) ที่ดินประเภทพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน (ปก.) 4.การอนุรักษ์พื้นที่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พื้นที่ราว 1.66 ล้านไร่ หรือราว 20.12 % แบ่งเป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้(อป.) และที่ดินประเภทที่โล่งเพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม(ล.)
กันพื้นที่อนุรักษ์/เกษตร
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ร่างแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินอีอีซี ใกล้จะแล้วเสร็จเหลือเพียงการปรับปรุงบางส่วนเท่านั้น ซึ่งคาดว่าจะเสนอที่ประชุมกพอ.ได้ราวต้นเดือนสิงหาคมนี้ ก่อนจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไป โดยยืนยันว่าร่างแผนผังฯดังกล่าว ได้ให้ความสำคัญกับพื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่เพื่อการอุนรักษ์ ซึ่งได้กันพื้นที่ป่าไม้ ต้นน้ำ ลำธาร ห้ามตั้งโรงงานในระยะไม่น้อยกว่า 1 กิโลเมตร รวมถึงกันพื้นที่โล่ง เพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมไว้ เช่น บริเวณแหล่งน้ำ ชายทะเล พื้นที่ต้นน้ำ และกำหนดระยะห่างจากริมฝั่งของแม่น้ำ ลำคลอง ไม่น้อยกว่า 500 เมตร ห้ามตั้งโรงงาน ที่สำคัญพื้นที่ส่วนใหญ่ 78% ของพื้นที่ทั้งหมดถูกกำหนดเป็นพื้นที่สีเขียว พื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่อนุรักษ์
ผุดย่านพาณิชย์ในชุมชน
ทั้งนี้ สาระสำคัญของแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน จะมีการกำหนดไว้ในท้ายประกาศ ที่จะมีการจำแนกเป็นบริเวณและสีต่างๆ โดยพื้นที่ประเภท พ.กำหนดให้เป็นพื้นที่สีแดง บริเวณ พ.-1 ถึง พ.-7 ซึ่งเป็นพื้นที่ชุมชนหนาแน่น เช่น อ.เมืองฉะเชิงเทรา อ.เมืองชลบุรี อ.บางละมุง อ.ศรีราชา พัทยา และรอบสนามบินอู่ตะเภา และ อ.เมืองระยอง เป็นต้น ห้ามตั้งโรงงานอุตสาหกรรม
ส่วนที่ดินประเภทม.กำหนดเป็นสีส้ม จะอยู่บริเวณ ม.-1 ถึง ม.-53 ส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณโดยรอบของชุมชนหนาแน่นในปัจจุบัน ห้ามตั้งโรงงานอุตสาหกรรม และห้ามสร้างอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ยกเว้นตั้งอยู่ริมถนนสาธารณะที่มีขนาดเขตทางไม่น้อยกว่า 16 เมตร และหากประกอบกิจการโรงงานหรือคลังสินค้า ต้องมีระยะห่างจากริมฝั่งแม่น้ำไม่น้อยกว่า 200 เมตร รวมถึงที่ดินประเภท รม.กำหนดเป็นสีส้มอ่อนมีจุดขาว บริเวณรม.-1 ถึง รม.-56 ที่ขยายตัวจากพื้นที่ชุมชนเมืองออกไป
เพิ่มพื้นที่รองรับลงทุน
ส่วนที่ดินประเภทขก.นั้น กำหนดเป็นสีม่วง ปัจจุบันได้ถูกประกาศเป็นเขตส่งเสริมพิเศษ 21 แห่ง บริเวณ ขก.-1 ถึง ขก.5 เนื้อที่ราว 8.6 หมื่นไร่ อยู่ในจ.ระยอง 8 แห่ง ชลบุรี 12 แห่ง และฉะเชิงเทรา 1 แห่ง ขณะที่ที่ดินประเภท อ.กำหนดเป็นสีม่วงอ่อนมีจุดขาว บริเวณ อ.-1 ถึง อ.67 ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในจังหวัดระยอง เช่น ในต.มาบยางพร ต.ตาสิทธิ อ.ปลวกแดง ต.พนานิคม ต.มะขามคู่ อ.นิคมพัฒนา อ.มาบข่า ต.เชิงเนิน ต.มาบตาพุด อ.บ้านฉาง อ.เมืองระยอง ต.แถลง ต.บ้านโป่ง เป็นต้น ส่วนจังหวัดชลบุรี จะอยู่ในพื้นที่เช่น ต.เขาคันทรง อ.ศรีราชา อ.พานทอง ส่วนจ.ฉะเชิงเทรา จะอยู่ในพื้นที่อ.แปลงยาว อ.บ้านโพธิ์ เป็นต้น
ฉะเชิงเทราพื้นที่ผลิตอาหาร
สำหรับพื้นที่ประเภทชบ.กำหนดให้เป็นสีเหลืองอ่อน บริเวณ ชบ.-1 ถึง ชบ.-15 เพื่อเป็นชุมชนและศูนย์กลางให้บริการทางสังคมและการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนในพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม กระจายอยู่ทั้ง 3 จังหวัด ส่วนที่ดินประเภท สก.กำหนดเป็นสีเขียวอ่อน ตั้งแต่ สก.-1 ถึง สก.-8 เพื่อรักษาพื้นที่เกษตรกรรม ที่เป็นแหล่งอาหารของพื้นที่ ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา
อย่างไรก็ตาม ในร่างแผนผังฯดังกล่าว มีข้อยกเว้นว่า เมื่อประกาศมีผลใช้บังคับแล้ว หากกพอ. ได้พิจารณาเห็นชอบแผนงาน โครงการพัฒนาในอีอีซี ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากไม่สอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดินตามร่างแผนผังนี้ ให้สกพอ.เสนอกพอ. พิจารณากำหนดประเภทการใช้ประโยชน์ในที่ดินตามที่ได้กำหนดไว้ในแผนผังฯหรือเงื่อนไขอื่น เพื่อให้แผนงานหรือโครงการสามารถดำเนินการได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
สมาคมสินเชื่อบ้าน ไม่สนผู้กู้ไร้คุณภาพ หนุนใช้มาตรการ LTV ต่อมั่นใจป้องกันหนี้เสีย NPL
อนาคต คอนโดใจกลางเมือง จะไม่มีที่จอดรถ