รัฐจัดงบ 2.14 ล้านล้านบาท ยกแผนแม่บท มอเตอร์เวย์ 20 ปี ตั้งแต่ ปี2560-2579 ระยะทาง 6,612 21 สายทาง และปรับปรุงแนวถนนสายหลักในปัจจุบันที่มีแนวเส้นทางตามแนวเส้นทางของแผนแม่บทและมีศักยภาพเพียงพอที่จะพัฒนาให้เป็นมอเตอร์เวย์ได้ จากการวิเคราะห์พบว่า มี 7 สายทาง 17 ตอน ระยะทางรวม 2,796 กม.
จัดงบ 1.3 ล้านล้าน เตรียมสร้างมอเตอร์เวย์
นายชยธรรม์ พรหมศร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า เป็นการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาถนนสายหลักเดิม ให้สามารถรองรับการขนส่งรูปแบบมอเตอร์เวย์ จะประเมินจากแผนแม่บทเดิมของกรมทางหลวง จำนวน 21 เส้นทาง ระยะทางรวม 6,612 กม. ที่ใช้เงินลงทุนรวม 2.14 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่จะเสียไปกับค่าเวนคืน
สำนักงบประมาณมีข้อดำริว่า งบประมาณของรัฐมีจำกัด จึงอยากให้ สนข.ไปศึกษาดูว่าจะสามารถลดต้นทุนการสร้างมอเตอร์เวย์ตามแผนแม่บทของกรมทางหลวงได้หรือไม่ ทั้ง 21 เส้นทาง 56 ช่วงโครงการ สามารถใช้เขตทางของกรมทางหลวงก่อสร้างได้ 17 เส้นทาง ผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์จะเสร็จช่วงปลายปีนี้ มีโครงการนำร่อง 2 โครงการ คือ สาย M71 ช่วงกรุงเทพฯ-สระแก้ว และช่วงนครสวรรค์-พิษณุโลก
“การศึกษาพบว่าลดต้นทุนค่าก่อสร้างได้ 10-15% และจะช่วยลดการเวนคืนที่ดินได้อย่างน้อย 30-40% อีกทั้งทำให้ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการเวนคืน ส่วนเรื่องการลดปัญหาจราจรและอุบัติเหตุยังยึดตามผลการศึกษาเดิมไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร เพราะว่าดีอยู่แล้ว”
เมื่อศึกษาเสร็จแล้วจะส่งไปให้กระทรวงคมนาคมภายในปีนี้ อาจจะมีการสั่งการให้กรมทางหลวงนำไปประยุกต์ใช้ และจะทำรายงานถึงสำนักงบประมาณ เพื่อรับทราบถึงประสิทธิภาพของผลการศึกษา คาดว่าทั้งหมดจะเสนอได้ภายในปีนี้
นายชยธรรม์กล่าวว่า การศึกษาดังกล่าวจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นในระยะ 3 ปี เช่น สายบางปะอิน-โคราช, บางใหญ่-กาญจนบุรี เป็นต้น จะเกี่ยวข้องกับโครงการที่ยังอยู่ในขั้นตอนทำผลศึกษาต่าง ๆ เพราะเมื่อผลการศึกษาระบุให้มีการแก้ไขจะได้ไม่ส่งผลกระทบกับกรอบเวลาของโครงการ แต่โครงการไหนที่ออกแบบรายละเอียดแล้วก็ไม่เปลี่ยนแปลง
สำหรับ 17 ช่วง ระยะทางรวม 2,795 กม. ได้แก่
1.สาย M2 ช่วงตาก-พิษณุโลก ระยะทาง 123 กม.
2.สาย M2 ช่วงพิษณุโลก-เพชรบูรณ์ ระยะทาง 121 กม.
3.สาย M2 ช่วงเพชรบูรณ์-ขอนแก่น ระยะทาง 189 กม.
4.สาย M5 ช่วงนครสวรรค์-พิษณุโลก ระยะทาง 110 กม.
5.สาย M5 ช่วงพิษณุโลก-อุตรดิตถ์ ระยะทาง 94 กม.
6.สาย M5 ช่วงอุตรดิตถ์-ลำปาง ระยะทาง 140 กม.
7.สาย M6 ช่วงนครราชสีมา-ขอนแก่น ระยะทาง 186 กม.
8.สาย M6 ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 161 กม.
9.สาย M8 ช่วงชะอำ-ชุมพร ระยะทาง 296 กม.
10.สาย M8 ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 172 กม.
11.สาย M8 ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่ ระยะทาง 306 กม.
12.สาย M8 ช่วงหาดใหญ่-สุไหงโก-ลก ระยะทาง 226 กม.
13.สาย M61 ช่วงชลบุรี-ปราจีนบุรี ระยะทาง 117 กม.
14.สาย M61 ช่วงปราจีนบุรี-นครราชสีมา ระยะทาง 172 กม.
15.สาย M71 ช่วงกรุงเทพฯ-สระแก้ว ระยะทาง 156 กม.
16.สาย M72 ช่วงชลบุรี-อ.แกลง ระยะทาง 100 กม.
17.สาย M72 ช่วง อ.แกลง-ตราด ระยะทาง 126 กม.
จากการปรับปรุงใหม่ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนกว่า 1.3 ล้านล้านบาท แยกเป็น ค่าเวนคืน 46,757 ล้านบาท ค่าก่อสร้างกว่า 1.26 ล้านล้านบาท โดยลดค่าก่อสร้างจากแผนแม่บทเดิมลง 69,643 ล้านบาท และค่าเวนคืนได้ 50,371 ล้านบาท สำหรับโครงการนำร่องสายกรุงเทพฯ-สระแก้ว จะปรับปรุงถนนเดิม 161 กม. และสร้างใหม่ 95 กม. จะใช้เงินก่อสร้าง 78,044 ล้านบาท และค่าเวนคืน 15,246 ล้านบาท ส่วนช่วงนครสวรรค์-พิษณุโลก จะปรับปรุงถนนเดิม 138 กม. และสร้างทางใหม่ 20 กม. จะใช้ก่อสร้าง 53,165 ล้านบาท ค่าเวนคืน 1,614 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในแผน 20 ปีของกรมทางหลวง ใน 5 ปีแรก (2561-2565) มี 4 เส้นทางที่กำลังดำเนินการ ได้แก่ สายบางปะอิน-โคราช, พัทยา-มาบตาพุด, บางใหญ่-กาญจนบุรี และกรุงเทพฯ-มหาชัย ถัดไปอีก 5 ปี (2564-2567) มี 5 เส้นทาง เป็นการปรับเลื่อนระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างออกไป ได้แก่ ส่วนต่อขยายโทลล์เวย์ช่วงรังสิต-บางปะอิน, สายศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ, สายนครปฐม-ชะอำ, ช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน, หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ และปีที่ 6-10 มีสายบางปะอิน-นครสวรรค์ และกาญจนบุรี-บ้านพุน้ำร้อน ซึ่งขยับมาจากช่วง 5 ปีแรก
ที่มา prachachat.net
ไม่ให้สร้าง ชาวบ้านขวาง แผน สร้างเขื่อน รับมวลนํ้าเข้ากทม.
เจาะประเด็น เวนคืนสะพาน เกียกกาย เพราะอะไรถึงเป็นฝันร้ายของรัฐบาลแต่เป็นข่าวดีของประชาชน