เรียกว่าเป็นเส้นรถไฟฟ้าที่เชื่อมต่อจากเมืองสู่บริเวณชานเมืองเส้นหนึ่งที่สำคัญมากเลยก็ว่าได้ครับกับ Airport Rail Link แนวรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกมาตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งไม่ได้เป็นแค่ขนส่งมวลชนที่นำพาให้ผู้คนเดินทางได้สะดวกเท่านั้น แต่ยังนำพาความเจริญในด้านทำเลให้ขยายแผ่ออกไปจากบริเวณใจกลางเมืองได้เป็นอย่างมาก แถมยังอยู่ในช่วงของการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนทำให้มี Hub ที่อยู่อาศัยใหม่ที่น่าจับตามองเกิดขึ้นมาอีกหลายแห่ง
8 สถานีฮอตรับอิทธิพลจากย่าน CBD
สำหรับสถานที่น่าจับตามองซึ่งได้รับอิทธิพลจากการขยายตัวของเมืองจากฝั่งธุรกิจ CBD ได้แก่ พื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าพญาไท, ราชปรารภ, มักกะสัน, รามคำแหง, หัวหมาก, บ้านทับช้าง, ลาดกระบัง และสุวรรณภูมิ ในรัศมี 1 กิโลเมตร
ยิ่งพื้นที่รอบสถานีรามคำแหงไปจนถึงสถานีสุวรรณภูมิ พบว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีโครงการที่อยู่อาศัยเกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมรอบสถานีรามคำแหง เนื่องจากราคาคอนโดยังไม่สูงมาก เมื่อเทียบคอนโด ในเขตพื้นที่รอบสถานีพญาไท ราชปรารภ และมักกะสัน ที่มีราคาค่อนข้างสูงและมีจำนวนจำกัด ส่งผลให้ราคาขายคอนโดมิเนียมในย่านดังกล่าว เฉลี่ยสูงกว่า 200,000 บาทต่อตร.ม.
และในอนาคตจะมีรถไฟฟ้าถึง 3 สายที่ตัดผ่านบริเวณรามคำแหง ได้แก่ สายสีส้ม สีเหลือง และสีน้ำตาล จึงจะกลายเป็นจุด Interchange ที่สำคัญของกรุงเทพฯ ใกล้กับย่านธุรกิจที่สำคัญอย่างบริเวณรัชดา-พระรามเก้า และมีอาคารสำนักงานเปิดใหม่เพิ่มขึ้น อีกทั้งมีสถาบันการศึกษาขนาดใหญ่หลายแห่ง และสิ่งอำนวยความสะดวก ทำให้ผู้บริโภคกลุ่มรายได้ปานกลางที่มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง เริ่มมองหาคอนโดมิเนียมที่ตั้งอยู่ทำเลที่มีศักยภาพใกล้เคียงกันมากขึ้น และพื้นที่รอบสถานีรามคำแหงก็เป็นทำเลที่สามารถตอบโจทย์ทุกความต้องการในที่เดียว
เจาะลึกทำเลรามคำแหง พื้นที่ไหนน่าจับจองที่สุด?
สำหรับทำเลที่ได้รับความนิยมสูงสุดรอบสถานีรามคำแหงคือ ย่าน ”พัฒนาการ-เอกมัย” เพราะเป็นทำเลที่รองรับด้วยระบบรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียวเส้นสุขุมวิท และในอนาคตอันใกล้ รถไฟฟ้า Airport Rail Link จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่เชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา ในทำเล EEC ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2566 ที่จะถึงนี้
รวมถึงจะมีโครงการรถไฟฟ้า 3 สายเกิดใหม่ล้อมรอบทำเลพัฒนาการ – เอกมัย ได้แก่
1.รถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี)
2.รถไฟฟ้าสายสีเทา (รามอินทรา – ลำลูกกา)
3.รถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว – สำโรง)
ทั้งหมดนี้ยิ่งช่วยเสริมศักยภาพให้กับพื้นที่ในอนาคต ขณะเดียวกันยังอยู่ใกล้ทางด่วนหลายสาย ทำให้เดินทางได้หลากหลายรูปแบบ
ส่วนในด้านราคาขายต่อ ตร.ม.ของ คอนโดย่านนี้เฉลี่ย 1 แสนบาท ต่อตร.ม. และอัตราการขายในช่วงครึ่งปีหลัง 2563 อยู่ที่ 73% จากยูนิตที่เปิดขายทั้งสิ้น 9,358 ยูนิต อัตราการดูดซับเฉลี่ยอยู่ที่ 9.80 ยูนิตต่อเดือนต่อโครงการ
ในด้านกลุ่มผู้ซื้อเอง ส่วนใหญ่ต้องการซื้อเพื่ออยู่อาศัยเอง หรือซื้อเพื่อลงทุนระยะยาว ทำให้การปล่อยเช่าคอนโดมิเนียมในบริเวณนี้มีแนวโน้มเติบโตเช่นกัน โดยมีอัตราผลตอบแทนจากการปล่อยเช่าประมาณ 5 – 5.5% ต่อปี เพราะเป็นทำเลที่มีการพัฒนาด้านโครงข่ายคมนาคมอย่างต่อเนื่อง เดินทางด้วยรถยนต์สะดวก เชื่อมต่อสู่ถนนสายหลักได้หลายสาย อาทิ เพชรบุรี พระราม 9 สุขุมวิท
นอกจากนี้รามคำแหงยังเป็นแหล่งที่อยู่ของนักศึกษา ซึ่งในแต่ละปีมหาวิทยาลัยรามคำแหงยังมีจำนวนนักศึกษาใหม่เฉลี่ยสูงถึง 35,000 คนต่อปี ถือเป็นอีกจุดดึงดูดที่ไม่ใช่เพียงกลุ่มเรียลดีมานด์ แต่รวมถึงกลุ่มนักลงทุนเพื่อปล่อยเช่า ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนผู้ย้ายเข้าอยู่อาศัยในแต่ละปี ตัวเลขจากสำนักงานเขตบางกะปิพบว่า ในบริเวณรามคำแหง มีผู้ย้ายเข้าอยู่อาศัยไม่น้อยกว่า 3,300 คนต่อปี และมีอัตราการเพิ่มเฉลี่ย 23% ต่อปีในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาอีกด้วย
ที่มา : https://www.reic.or.th/News/RealEstate/454273