เมื่อเร็วๆนี้หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ได้จัดเสวนา “ROAD to Silver Age เจาะขุมทรัพย์หมื่นล้าน” โดย ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลัง ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)ศึกษาแนวทางเกี่ยวกับการบริหารโครงสร้างเตรียม แพกเกจดูแลสังคมผู้สูงอายุ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทย เนื่องจากภายในอีก 2 ปีข้างหน้า ประชากรผู้สูงอายุ จะเพิ่มเป็น 20% ของประชากรทั่งประเทศ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากครอบครัวจำนวนมาก เริ่มมีบุตรยากขึ้น ขณะที่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ส่งผลต่อสุขภาพที่ดีขึ้น
แพกเกจดูแลสังคมผู้สูงอายุ มีผลกับกระทบกับงบประมาณในอนาคตจริงหรือไม่…?
การจัดตั้งกองทุนประกันสังคมของไทย ในช่วงที่ผ่านมา เพื่อเป็นหลักประกันในการดูแลผู้สูงอายุ แต่ถือว่าเป็นกองทุนฯที่จัดขึ้นได้ไม่นาน และก็เริ่มมีการจ่ายผลประโยชน์ก้อนแรกเมื่อปี 2556 และทยอยจ่ายแต่สัดส่วนยังไม่สูง จนส่งผลให้เงินกองทุนประกันสังคมมีมูลค่าสูงจาก 1.8 ล้านล้านบาท เพิ่มเป็น 2 ล้านล้านบาท แต่กระนั้น ภาครัฐ ก็ต้องคาดการณ์เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากในอีก 38 ปีข้างหน้า หรือปี 2600 เงินสำรองของเงินกองทุนประกันสังคมจะหมดลง นั่นหมายความว่า จะเข้าสู่กระบวนการทางภาษี หรือการตั้งงบประมาณแผ่นดิน เพื่อรองรับการจ่ายผลประโยชน์ให้แก่ผู้เอาผลประโยชน์ ดังนั้นเราต้องเตรียมแผนรองรับที่จะเกิดขึ้น “เราต้องมาดูว่า พรรคการเมืองไหน มีเรื่องนโยบายเกี่ยวกับการดูแลสังคมผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม ก็มีประเด็นที่น่าจะพิจารณา ซึ่งแน่นอนภาครัฐหรือที่เกี่ยวข้องอาจจะระมัดระวังในการดำเนินการ แต่อาจจะเป็นแนวทางรองรับผลกระทบจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นั่นหมายถึง เราต้องแก้ไขโครงสร้างทั้งระบบ ที่มี 3 ส่วนที่ต้องมามองและจะเป็นทางเลือก รองรับปัญหาภาคแรงงานที่จะเกิดขึ้น”
ได้แก่ ทางเลือกที่ 1.การขยายเวลาเกษียณอายุ ตรงนี้ หลายฝ่ายค่อนข้าง เห็นด้วย แต่ก็ต้องมาพิจารณาในแต่ละอุตสาหกรรมจะเป็นอย่างไร ทางเลือกที่ 2 การจัดเก็บเงินสมทบประกันสังคม ตรงนี้ อาจจะลำบาก เนื่องจากการสมทบเข้า กองทุนประกันสังคม ทุกๆ รัฐบาลไม่มีใครกล้าขึ้นอัตราสมทบ เพราะความรู้สึก ของผู้จ่ายเงินจะถูกเก็บภาษี ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจ ในขณะที่ต่างประเทศจะมีการเก็บเงินสมทบตัวเลข 2 หลัก ซึ่งในไทยอาจจะลำบาก หากจะดำเนินการจัดเก็บเป็นขั้นบันได จะเป็นทางที่ดี และทางเลือกที่ 3.ขยับเพดานเงินเดือน ซึ่งเป็นส่วนเกี่ยวกับการแก้ปัญหาภาคแรงงาน ซึ่งผู้ใช้แรงงานจะยอมรับ แต่เจ้าของธุรกิจอาจจะไม่ยินดี เพราะจะมีผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินงาน นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สังคมไทยเป็นประเทศอันดับที่ 2 ที่ใช้เวลา 25 ปี เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทั้งนี้ การที่ประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้ง ตนคิดว่า รัฐบาลควรปล่อยให้เอกชนมีบทบาทในการดำเนินธุรกิจเหมือนเช่นสิงคโปร์
ออมสินดิวอสังหาฯ-กคช.ขยายพอร์ต “กู้บ้านแลกเงิน”
นายอิสระ วงศ์รุ่ง รองผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารได้ออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่จะให้ ผู้ที่มีอสังหาริมทรัพย์ ประเภทที่อยู่อาศัยมาใช้เป็นหลักทรัพย์ในการขอสินเชื่อ เพื่อรองรับให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งเราให้กู้สูงสุด 10 บ้านบาท ถึงอายุ 80 ปี (หรือ จะขยายมากว่า 20-30 ล้านบาทก็ได้) เอาหลักทรัพย์ไว้กับธนาคารออมสิน และกรณีผู้สูงอายุคนดังกล่าวเสียชีวิต แต่ยังไม่ครบตามสัญญา ทางลูกหลานยังสามารถมาผ่อนต่อ หรือ จะให้ธนาคารนำทรัพย์ดังกล่าวไปขายต่อได้ “เราคิดว่า ในการบริหารนโยบายใดๆก็ตาม อยากให้ผู้กำกับสถาบันการเงิน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้มีทิศทางทางด้านนโยบายเดียวกัน ในการส่งเสริมผู้สูงอายุ ซึ่งธนาคารของรัฐมีหน้าที่ดูแลประชาชน”
ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามา ควรดูเรื่องผู้สูงอายุอย่างเป็นระบบ การจะทำอะไร ควรวางเป็นแนว รัฐบาลควรคิดเป็นแพกเกจ การบังคับออกมาเลย ให้คิดเป็นแพกเกจเรื่องการเงินด้วย เหมือนเช่นคนพิการที่ให้ภาคเอกชนดู”
ที่มา : ผู้จัดการรายวัน 360 องศา