DotProperty.co.th

เพิ่มสภาพคล่องการประมูล บังคับคดีปรับเกณฑ์ขายทอด NPA แสนล้าน

อธิบดีกรมบังคับคดี “รื่นวดี สุวรรณมงคล” เดินหน้า แก้ไขกฎหมายที่ยังเป็นอุปสรรคหลังเข้ารับตำแหน่ง

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล

โดยปลายปีเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในส่วนของกรมบังคับคดีส่งกระทรวงยุติธรรมพิจารณา เน้นการปลดล็อกให้ผู้ประมูลซื้อห้องชุดจากกรมบังคับคดี ที่โอนห้องได้แม้มีค่าส่วนกลางค้าง

ล่าสุดกรมบังคับคดีเปิดห้องประชุมรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมเสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขายทอดตลาด พ.ศ. … พร้อมทั้งยกเลิกกฎกระทรวงปัจจุบันทั้ง 3 ฉบับ โดยแก้ไขที่สามส่วนหลัก คือ การกำหนดราคาเริ่มต้นซึ่งเป็นราคาที่สมควรขาย การวางหลักประกันก่อนเข้าเสนอราคา การขยายระยะเวลาในการชำระราคาส่วนที่เหลือ

เพื่อเพิ่มความคล่องตัวการขายทอดตลาด โดยให้อำนาจอธิบดีกำหนดเกณฑ์ต่าง ๆ เช่น จัดทำประกาศขายทอดตลาด ประกาศหลักเกณฑ์กำหนดราคาขาย การวางเงินประกันสู้ราคา ฯลฯ แต่อยู่ภายใต้ความเห็นชอบ รมต.ยุติธรรม

มีการเปรียบเทียบร่างใหม่กับกฎกระทรวงปัจจุบันแบบละเอียด หากเป็นเรื่องการกำหนดราคาเริ่มต้นประมูล ปัจจุบันมีคณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การตั้งราคาขาย พิจารณาจาก 3 ส่วน คือ
1)ราคาประเมินเจ้าพนักงานบังคับคดี
2)ราคาประเมินสำนักประเมินราคาทรัพย์สิน กรมธนารักษ์ และ
3)ราคาที่กำหนดโดยคณะกรรมการกำหนดราคาทรัพย์

ซึ่งร่างกฎกระทรวงใหม่ เป็นอำนาจอธิบดี ในการกำหนดราคาเริ่มต้นประมูล จะใช้ราคาสูงสุดจากราคาประเมินทั้ง 3 ส่วน และเสนอขายครั้งแรกราคาเริ่มต้น 90% ของราคาทรัพย์ จากเดิมเริ่มต้นที่ 100% หากขายไม่ได้ การประมูลครั้ง ต่อ ๆ ไปจะค่อย ๆ ลดราคา สำหรับราคาเริ่มต้นจะไม่ต่ำกว่า 70% แต่ในประเด็นนี้มีผู้แย้งว่าการใช้ราคาประเมินสูงสุด อาจไม่ใช่ราคาที่เป็นมาตรฐานที่สุด เพราะอาจไม่ได้ประเมินโดยคณะกรรมการกำหนดราคาทรัพย์ และถ้าเป็นไปได้อยากให้ประมูลเริ่มต้นที่ 50% ของราคาทรัพย์ เพื่อความน่าสนใจ

ขณะที่อธิบดีกรมบังคับคดีรับฟังข้อคิดเห็น จะกลับไปทบทวนเกณฑ์การกำหนดราคาทรัพย์ใหม่ แต่ก็แย้ม ๆ ว่าค่อนข้างยากที่จะเริ่มต้นประมูล 50% ของราคาทรัพย์สิน เพราะถึงแม้ขายทรัพย์ได้จะมีปัญหาไม่เพียงพอใช้หนี้ให้กับลูกหนี้

ด้านการวางหลักประกันก่อนเสนอราคานั้น ตามร่างใหม่จะซอยเป็น 9 ระดับ สำหรับทรัพย์ราคาไม่เกิน 1 แสนบาท อาจเริ่มต้นที่ 5% ของราคาทรัพย์ และปรับอัตราเพดานการวางหลักประกันให้ละเอียดขึ้น เช่น ปัจจุบันทรัพย์ราคา 1-5 ล้านบาท วางเงินประกันเท่ากันหมด 2.5 แสนบาท อาจแบ่งเพิ่มช่วง 1-2 ล้านบาท ต้องวางเงินประกันอีกอัตรา

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ก็มีเสียงติงว่า การเงินวางเงินประกันต่ำ ๆ อาจทำให้จำเลยส่งนอมินีมาประมูล เกิดปัญหาว่าเมื่อประมูลได้แต่ไม่ชำระเงิน เพื่อประวิงเวลา
อีกประเด็นที่ได้รับความสนใจคือ การแก้เกณฑ์ขยายเวลาชำระเงิน แยกทรัพย์เป็น 2 กลุ่ม คือ
1) สังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้ให้ชำระเงินเต็มจำนวนทันที แต่กรณีราคาสูงมากอาจอนุโลมไม่เกิน 15 วัน หรือถ้าต้องกู้แบงก์จะให้เวลา 3 เดือน และ
2) อสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้าน คอนโดมิเนียม ฯลฯ ผู้ซื้อจะทำสัญญาซื้อขายตามแบบของกรมบังคับคดี และชำระเงินตามรูปแบบที่กำหนด โดยที่เจ้าพนักงานบังคับคดีอนุญาตให้เลื่อนการชำระเงินส่วนที่เหลือได้ หากอธิบดีกำหนด

ขณะที่บทสรุปการรับฟังความคิดเห็น อธิบดีกรมบังคับคดีสั่งการให้คณะทำงานนำความเห็นที่ได้ไปปรับปรุงร่างกฎกระทรวงใหม่อีกครั้ง เพื่อตกผลึกร่างใหม่ที่ลบจุดอ่อน เตรียมเสนอเจ้ากระทรวงตราชั่งเดือนกุมภาพันธ์นี้

ที่มา : reic