DotProperty.co.th

แผ่นดินไหวเตือนอะไรภาคอสังหาฯ

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่รุนแรงขนาด 6.3 ริกเตอร์ใน จ.เชียงรายเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านนั้น ได้ส่งผลกระทบและความเสียหายในหลายๆด้าน ที่เห็นได้ชัดคือ บ้านเรือน และ อาคารต่างๆ ซึ่งภาพรวมนั้น มีความเสียหายหนักหลายแห่ง ทั้งอาคารสถานที่ของหน่วยราชการ เอกชน และ ประชาชน แม้แต่ ถนนหนทางบางส่วนก็ได้รับความเสียหายหนัก ซึ่งหากมองกันจริงๆแล้ว อสังหาริมทรัพย์คือส่วนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะอาคาร และ บ้านเรือน ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของอสังหาริมทรัพย์ และ ไม่ใช่แค่ความเสียหาย ที่เกิดจากแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงในครั้งนี้เท่านั้น เพราะในอนาคต เหตุการณ์แผ่นดินไหวอาจเกิดขึ้นได้อีก
ส่วนของความเสียหายที่เกิดขึ้นกับอาคาร บ้านเรือน นั้น ส่วนใหญ่เกิดการแตกร้าว แตก ทรุด ตั้งแต่เสา จนถึงตัวอาคาร โดยเฉพาะบ้านเรือนที่สร้างมานาน หรือ อาคารที่สร้างมานานไม่ได้มีระบบความปลอดภัยป้องกันแผ่นดินไหว อย่างอาคารสมัยใหม่หรืออาคารที่สร้างใหม่ ที่จะมีการป้องกันความเสียหายจากแผ่นดินไหว ซึ่ง ณ.ขณะนี้หลายๆฝ่ายมองแต่ภาพรวมความเสียหายในขณะนี้ แต่ในระยะยาว ยังไม่มีการสรุป หรือ มองเห็นปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดกับภาคอสังหาริมทรัพย์ในอนาคต  คือ ในอนาคตพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้นั้น หากมีการปลูกสร้างอาคาร หรือ ซ่อมแซม ปรับปรุง จะต้องมีการป้องกันความเสียหายจากแผ่นดินไหวอย่างไรบ้าง เช่น การป้องกันจากฐานราก ในอาคารที่สร้างใหม่ หรือ แม้แต่บ้านที่อยู่อาศัย เพราะพื้นที่ในบริเวณนี้และในหลายๆ จังหวัดทางภาคเหนือ มีโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวได้อีก ดังนั้นการออกแบบก่อสร้างอาคารและที่อยู่อาศัยน่าจะมีการป้องกันโดยอาจใช้หลักการเดียวกันกับประเทศญี่ปุ่น เพราะจะมีระบบป้องกันอาคารบ้านเรือนจากแผ่นดินไหวตั้งแต่การก่อสร้าง และ ในอนาคตพื้นที่ในภาคเหนือหลายๆจังหวัดมีแนวโน้มที่จะพัฒนาทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์และอื่นๆ เนื่องจากการเปิด AEC เมื่อการขยายตัวต่างๆยังมีต่อเนื่องแต่ความปลอดภัยจากภัยธรรมชาติที่กำหนดไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ จะรุนแรงแค่ไหน ดังนั้นการป้องกันไว้ก่อนจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด
ซึ่งมีหลายฝ่ายได้ให้ความเห็นและเสนอแนะพร้อมทั้งตรวจสอบอาคารต่างๆ ทั้งที่ได้รับความเสียหาย และ ไม่ได้รับความเสียหาย อย่างสภาวิศวกรรม ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบยังที่เกิดเหตุ ตรวจสอบรอยร้าว แตก ตามอาคารต่างๆและประเมินถึงวิธีการซ่อมแซม และ เพื่อให้แน่ใจว่าอาคารต่างๆเหล่านั้นยังสามารถกลับมาใช้งานได้ โครงสร้างต่างๆยังปลอดภัย ส่วนที่พังเสียหายคงต้องมีการสร้างขึ้นใหม่ก็จะมีคำแนะนำในการวางโครงสร้างเพื่อให้รองรับกับเหตุแผนดินไหวได้ อย่างเช่น ชาวบ้านที่อยู่ใน อ.พาน ซึ่งเป็นศูนย์กลางแผ่นดินไหว ได้กล่าวกับแหล่งข่าวว่า “ที่บ้านไม่ได้รับความเสียหายนั้น เพราะเพิ่งปลูกสร้างใหม่โดยไม่ได้ลงเสาเข็มเหมือนการสร้างบ้านทั่วๆไป แต่มีการเสริมสปริงโดยวิศวกรเป็นผู้แนะนำให้ และ ไม่คิดว่าจะมาเจอเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงขนาดนี้ แต่บ้านไม่ได้รับความเสียหายมีเพียงแค่สิ่งของในบ้านหล่นเท่านั้น และ ตอนที่แผ่นดินไหวหรือมี อาฟเตอร์ช๊อค นั้นก็รับรู้ได้ว่าบ้านสั่นแต่ไม่มีรอยร้าว เหมือนบ้านอื่นๆ ที่อยู่ในละแวกเดียวกัน” จากคำบอกเล่านี้ทำให้มองได้ว่าในอนาคต การสร้างบ้าน อาคาร ในบริเวณภาคเหนือ และ ในหลายๆจังหวัดที่ได้ผลกระทบจากแผ่นดินไหวน่าจะมีการป้องกันล่วงหน้า และ นอกจากนี้เหตุแผ่นดินไหวยังมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นอีก ซึ่งกรมทรัพยากรธรณีได้ตรวจสอบและแจ้งเตือนไว้แล้วว่า ยังจะมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวเกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอน  ซึ่งคงต้องติดตามกันต่อไปเพื่อจะได้ป้องกันหรือหาแนวทางป้องกันในอนาคต