ผลกระทบจากโควิด-19 คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ (จีดีพีเป็น 0) นั้น การเร่งตัวของบริษัทอสังหาฯ ในรูปแบบ Zombie Firm (ไม่มีความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย) จะปรับตัวขึ้นสูง อีกทั้งพบการทำสมมุติฐาน ภายใต้ยอดผู้ติดเชื้อราว 2 หมื่นรายต่อวันเท่านั้น ซึ่งอาจไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ที่หากมีการสุ่มตรวจมากขึ้น ก็อาจพบจำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้นอีก ซึ่งมีความน่ากังวลทั้งในแง่กำลังซื้อของผู้บริโภค และในฝั่งผู้ประกอบการอสังหาฯ ว่า จะได้รับผลกระทบในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง นอกเหนือจากการรับแรงกระแทกจากพิษเศรษฐกิจ และข้อจำกัดจากมาตรการล็อกดาวน์ภาคธุรกิจอย่างหนักหน่วงที่เผชิญหน้ามาตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน
ลองไปทำความรู้จักกับวิกฤต Zombie Firm นี้ผ่านมุมมองอสังหาฯ ของประเทศไทยในช่วงนี้กันดีกว่าครับ
Zombie firm คืออะไร
ทุกคนคงจะรู้จักกับ ‘ซอมบี้’ หรือสิ่งมีชีวิตที่ตายไปแล้ว แต่ยังเดินได้ ในภาพยนตร์กันใช่ไหมครับ สำหรับในโลกธุรกิจเองก็มีการหยิบเอาคำว่า ซอมบี้ หรือ มาใช้เรียกบริษัทผีดิบ หรือ zombie firm ถ้าพูดเชิงวิชาการหน่อยก็ต้องบอกว่า zombie firm หมายถึง บริษัทที่ไม่มีความสามารถในการทำกำไรทั้งในปัจจุบันและอนาคตมากเพียงพอ ที่จะชำระหนี้สินที่บริษัทมีได้อีกเป็นเวลานาน แต่ถ้าพูด ให้เข้าใจง่าย ก็คือ บริษัทที่ล้มไปแล้ว แต่ยังทำธุรกิจต่อได้โดยอาศัยความช่วยเหลือทางด้านการเงินจากเจ้าหนี้เท่านั้น
Zombie firm ส่งผลกระทบต่ออสังหาฯ แน่!
สำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในภาคธุรกิจอสังหาฯ ภายใต้คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ (จีดีพีเป็น 0) นั้น การเร่งตัวของบริษัทอสังหาฯ ในรูปแบบ Zombie Firm จะปรับตัวขึ้นสูง หลังจากปัจจุบัน รั้งอันดับ 5 รองจาก สายการบิน, ยานยนต์, สิ่งทอ และโรงแรม และมีทิศทางที่เพิ่มขึ้น จนถึงปี 2565 แสดงว่าธุรกิจยังไม่มีแนวโน้มที่จะดีขึ้นใน 1-2 ปีนี้
นอกจากนี้บริษัทอสังหายังเจอวิกฤตซ่อนวิกฤตจากพิษโควิด-19 ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น เนื่องจาก…
1 . แรงงานหายไปจากมาตรการปิดแคมป์ ซึ่งเป็นซัพพลายเชนที่สำคัญ ทำให้ต้นทุนค่าแรงงานเพิ่มขึ้น
- ราคาเหล็กที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อโครงการคอนโดที่ใช้เหล็กจำนวนมาก จากปัจจัยลบดังกล่าว คาดว่าอสังหาฯ ปีนี้ติดลบ 10% ต่อเนื่องจากปีที่แล้วที่ติดลบ 35%
ประกอบกับเป็นปีที่ดีมานด์ลดลงมากกว่า 35% เพราะเมื่อไรที่คนตกงานเยอะบ้านจะขายได้น้อย หรือแม่แต่คนที่ยังทำงานอยู่แต่แนวโน้มเศรษฐกิจไม่ดี ไม่กล้าเป็นหนี้ระยะยาว ทำให้ระยะสั้นดีมานด์ลดลง รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่เป็นปัญหาล่าสุดพุ่ง 90% ส่งผลกระทบกับการซื้อบ้านยาก เพราะธนาคารไม่ปล่อยกู้ การปฏิเสธสินเชื่อสูงขึ้นถึง 70% แม้ว่าทิศทางดอกเบี้ยจะอยู่ในภาวะขาลง
แน่นอนว่า ปัญหาเหล่านี้ทำให้ภาคธุรกิจอสังหาฯ ประสบกับปัญหา “ซอมบี้เฟิร์ม” โดยจะมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 26% ในปีนี้ จากค่าเฉลี่ยช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ที่อยู่ที่ระดับ 21% เนื่องจากรายได้ของธุรกิจหดตัวตามกำลังซื้อของครัวเรือน, ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง และปัญหาการว่างงานที่ยังไม่คลี่คลายลง ขณะที่ลูกค้าต่างชาติก็หดหายไปอย่างมาก เพราะไม่สามารถเดินทางเข้าออกประเทศไทยได้อย่างเสรี
ซึ่งนี่อาจเป็นที่มาของภาวะกระจุกตัวของตลาด ที่เพิ่มดีกรีขึ้นในอุตสาหกรรมอสังหาฯ นับหลังจากนี้ จากอดีต การกินรวบของรายใหญ่อยู่ที่สัดส่วน 30% ขณะช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพิ่มมาอยู่ที่ 50-60% คาดการณ์เปิดทางในอนาคต สูงถึง 70-80% คล้ายปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับธุรกิจ ‘ร้านค้าโชว์ห่วย’ ได้
สำหรับโอกาสฟื้นตัวของบริษัท Zombie Company ของไทยถือว่าทำได้น้อยกว่านานาประเทศ โดย EIC ให้ข้อมูลว่า โอกาสที่บริษัทผีดิบในไทยจะฟื้นตัวในช่วงปีแรกอยู่ที่ 17.4% และโอกาสที่จะฟื้นตัวได้ภายใน 4 ปีอยู่ที่ 42.1% ซึ่งถือว่าต่ำกว่าในยุโรป โดย zombie firm ในยุโรปมีโอกาสฟื้นตัวสะสมในช่วง 4 ปีอยู่ที่ 60% พูดง่ายๆ ก็คือ เมื่อบริษัทในไทยกลายเป็นบริษัทผีดิบแล้ว โอกาสที่จะฟื้นกลับมาเป็นบริษัทที่แข็งแรงได้อีกครั้งนั้นน้อยกว่าบริษัทในยุโรปมากอีกด้วย
เรื่องบริษัทผีดิบ หรือ zombie firm นี้ จึงไม่ใช่แค่เรื่องปรากฏการณ์ทางธุรกิจอสังหาฯ เท่านั้น แต่ในมุมหนึ่งจึงยังเป็นปัญหาในเชิงเศรษฐกิจมหภาค ที่ควรต้องถูกจัดการด้วย ดังนั้น ในยามวิกฤตเช่นนี้ ภาครัฐควรลดการออกมาตรการช่วยเหลือแบบเหวี่ยงแห ขาดประสิทธิผลและไม่คุ้มค่า แต่จำเป็นต้องเน้นให้ ‘ตรงจุด’ กับกลุ่มธุรกิจที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ อย่างเช่น ตลาดอสังหาฯ รายย่อยๆ เป็นต้น ซึ่งการช่วยเหลืออย่างตรงจุดนี้จะช่วยยกระดับการแข่งขันในตลาดให้เพิ่มขึ้นและลดอำนาจตลาดของบริษัทที่กระจุกตัวอยู่อีกด้วย
ที่มา: https://www.thansettakij.com/property/491399
https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/DocLib_/Article_12Oct2020-2.pdf
https://www.scbeic.com/th/detail/file/product/7272/fu7ee5tav8/EIC_Note-Zombie-Firm_TH_20201216.pdf