เมื่อวันที่ 2 กันยายน นายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) มอบหมายให้ นายสุธน อาณากุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ชี้แจงประเด็นการปรับขึ้น ค่าโดยสาร BTS ตามที่ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับตัวแทนจากภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ ตัวแทนคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน แถลงข่าวคัดค้านการขึ้นราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิทและสายสีลม ที่จะปรับขึ้นราคาภายในวันที่ 1 ตุลาคมนี้
นายสุธน กล่าวว่า ทางกทม. ขอชี้แจงว่า การขึ้นราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิทและสายสีลม ที่จะปรับขึ้นราคาภายในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ เป็นการปรับราคาค่าโดยสารที่เรียกเก็บสำหรับรถไฟฟ้าบีทีเอสเฉพาะในส่วนของเส้นทางสัมปทานระยะทาง 23.5 กิโลเมตร (กม.) ไม่รวมส่วนต่อขยายที่อยู่ในความรับผิดชอบโดยตรงของกทม. โดยการปรับราคาค่าโดยสารเป็นไปตามสัญญาสัมปทาน ระหว่างกทม. กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งระบุว่าบริษัทฯ อาจปรับค่าโดยสารที่เรียกเก็บเป็นคราวๆ ไป และบริษัทสามารถปรับค่าโดยสารได้ทุก 18 เดือน แต่ต้องไม่เกินเพดานอัตราค่าโดยสารขั้นสูงสุด (เพดานอัตราค่าโดยสารสูงสุดปัจจุบันอยู่ที่ 60.31 บาท) โดยมีการปรับราคาค่าโดยสารครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2556 ซึ่งเป็นเวลากว่า 4 ปี แล้ว
ทั้งนี้ บริษัทจะต้องแจ้งให้กทม.และประชาชนทราบเป็นลายลักษณ์อักษร ล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน ก่อนที่ค่าโดยสารที่เรียกเก็บใหม่นั้นจะบังคับใช้ ซึ่งบริษัทฯ ได้แจ้งมายังกทม.แล้วและจะมีผลในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ อย่างไรก็ตาม กทม.จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครในเดือนกันยายนนี้ เพื่อหาข้อสรุป และนำเรียนพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. ต่อไป ในส่วนของการติดตั้งเครื่องอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการ ซึ่งจะติดตั้งลิฟท์สำหรับผู้พิการที่สถานีรถไฟฟ้า ครบทั้ง 23 สถานี แล้วเสร็จในเดือนตุลาคม
นายสุธน กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่ระบุว่า ภาครัฐควรจะกำหนดในสัญญาสัมปทานว่าหากมีจำนวนผู้โดยสารหรือจำนวนคนที่ใช้เกินกว่าเป้าที่ตั้งแล้วไม่ควรต้องปรับราคาเพิ่มขึ้นอีก เพราะบางสถานียังไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกผู้พิการและผู้สูงอายุ อีกทั้งผลประกอบการรวมถึงจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้ามีแนวโน้มดีขึ้น และปัจจุบันค่ารถไฟฟ้าก็สูงกว่าประเทศอื่นหากเทียบรถไฟฟ้าใต้ดินและเอ็มอาร์ทีของประเทศญี่ปุ่นและสิงคโปร์ นั้น สัญญาสัมปทานไม่ได้มีการระบุรายละเอียดดังกล่าวไว้ เนื่องจากในการดำเนินการรวมทั้งการบริหารจัดการทั้งหมด เริ่มตั้งแต่การก่อสร้าง การจัดการเดินรถ การบริหารงาน และการจัดการอื่นๆ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด ภาครัฐจึงไม่ได้กำหนดรายละเอียดดังกล่าวในสัญญาสัมปทาน
นอกจากนี้ ยังมีข้อแตกต่างของการบริหารจัดการระบบโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งในประเทศญี่ปุ่นและสิงคโปร์ มีการพัฒนาเส้นทางโดยรอบของสถานีในเชิงพาณิชย์จึงสามารถนำรายได้ดังกล่าวมาเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการเดินรถและบริหารงาน ต่างกับประเทศไทยที่มีรายได้จากการจัดเก็บค่าโดยสารและค่าโฆษณาภายในสถานีเป็นหลัก จึงจำเป็นต้องนำรายได้จากการจัดเก็บค่าโดยสารมาเป็นต้นทุนในการบริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ไม่ได้มีการจัดเก็บค่าโดยสารจากผู้พิการแต่อย่างใด
ขอขอบคุณข้อมูลจาก prachachat.net
ต้องการซื้อ-เช่า !!!คอนโดมือสอง บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ที่ดินทั่วไทยมากกว่า 300,000 รายการคลิ๊กที่นี่
ลงประกาศขาย-ให้เช่า ฟรี !!! คอนโดมือสอง บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ที่ดินกับ Dot Property ขายง่าย ขายไว ไม่มีค่าใช้จ่ายลงประกาศเลย