DotProperty.co.th

กรมบังคับคดี กับ “ การจำหน่ายทรัพย์สิน ” ตอนที่ 1

จากบทความก่อนหน้าของการบังคับคดีแพ่ง เราได้พูดถึงทั้ง “การยึดทรัพย์สิน” และ “การอายัดทรัพย์สิน” กันไปแล้ว ในครั้งนี้เราก็จะมาขอต่อกันเลยกับ “ การจำหน่ายทรัพย์สิน ” ประเภทสุดท้ายของการบังคับคดี ให้คุณผู้อ่านได้เข้าใจถึงกระบวนการและขั้นตอนต่างๆในการดำเนินการ

การจำหน่ายทรัพย์สิน

เป็นขั้นตอนหนึ่งของการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันเป็นวิธีการปฏิบัติหรือดำเนินการบังคับคดี เพื่อให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลเป็นกระบวนพิจารณา ซึ่งดำเนินการภายหลังศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดแล้ว การดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการบังคับคดีส่วนมากมิได้กระทำโดยศาล หากกระทำโดยเจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี อันมีวิธีการเกี่ยวกับการปฏิบัติ ซึ่งบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 วิธีการบังคับคดีเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่ง คดีอาญา คดีแรงงาน คดีเยาวชนหรือครอบครัว ได้แก่ การยึดทรัพย์สิน การอายัดทรัพย์สิน การขายทอดตลาดทรัพย์ การขับไล่ การรื้อถอน หรือการบังคับคดีตามกฎหมายอื่นๆ ตามคำสั่ง เช่น การกักเรือตามพระราชบัญญัติการกักเรือ การบังคับค่าสินใหมทดแทนในคดีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 หรือการบังคับคดีชดใช้ค่าปรับในคดียาเสพติดตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติ พ.ศ. 2550 เป็นต้น

อำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงมีอำนาจในฐานะตัวแทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ในอันที่จะรับชำระหนี้หรือทรัพย์สินของลูกหนี้นำมาวางกับมีอำนาจที่จะยึด อายัด และยึดถือทรัพย์สินของลูกหนี้ไว้ และมีอำนาจที่จะเอาทรัพย์สินเช่นว่านี้ออกขายทอดตลาด ทั้งมีอำนาจที่จะจำหน่ายทรัพย์สินหรือเงินรายได้จากการนั้น การขายทอดตลาดทรัพย์สินจึงเป็นกระบวนการหนึ่งที่ดำเนินการต่อเนื่องจากการยึดทรัพย์ เป็นการจัดการเกี่ยวกับทรัพย์ที่ยึด ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง อาจแบ่งการจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ยึดได้เป็น 2 กรณี คือ

  1. การเอารายได้จากทรัพย์สินแทนการขายทอดตลาด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 336 หมายถึงถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษามีรายได้จากอสังหาริมทรัพย์ เช่น การนำอสังหาริมทรัพย์ออกให้เช่า รายได้จากการประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือกสิกรรม เพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษา เมื่อศาลเห็นสมควร หรือลูกหนี้ร้องขอต่อศาล อาจจะมีคำสั่งตั้งผู้จัดการอสังหาริมทรัพย์หรือผู้จัดการกิจกรรมเหล่านั้นได้ และบังคับให้มอบเงินรายได้ทั้งหมดหรือบางส่วนต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายในเวลาและเงือนไขที่ศาลกำหนดแทนการขายทอดตลาด กรณีเช่นนี้ เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ไม่จำเป็นที่จะต้องขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้
  2. การขายทอดตลาดและการประมูล

2.1 การประมูล กระทำโดยอาศัยอำนาจตามคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาล คดีประเภทนี้ส่วนใหญ่จะเป็นคดีฟ้องแบ่งมรดก หรือการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมของเจ้าของร่วม หรือการแบ่งสินสมรสระหว่างสามีภรรยา เป็นต้น โดยให้ผู้มีสิทธิเข้าประมูลราคากันเอง ศาลจะกำหนดบุคคลผู้มีสิทธิเข้าประมูลไว้ในคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล และในคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล จะกำหนดวิธีการบังคับไว้เป็น 2 นัย คือ ประมูลราคากันเองระหว่างคู่ความ หากไม่สามารถกระทำการได้หรือมีการคัดค้านก็ให้ดำเนินการขายทอดตลาด สำหรับวิธีการประมูลระหว่างคู่ความ เจ้าพนักงานบังคดีต้องนัดผู้มีสิทธิประมูลตรวขสอบกำหนดทรัพย์สินและฟังวันนัดประมูล ผู้ใดประมูลให้ราคาสูงสุด ผู้นั้นเป็นผู้ประมูลได้ ถ้าการประมูลไม่เป็นไปตามที่ตกลงกัน เจ้าพนักงานบังคับคดีจะดำเนินการขายทอดตลาด

2.2 การขายทอดตลาด ในการบังคับคดีเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ดำเนินการซึ่งต่างกับการขายทรัพย์โดยทั่วไป เจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องดำเนินการภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย ทั้งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ระเบียบคำสั่งต่างๆ กล่าวคือ

2.2.1 การขายทอดตลาดเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งการยึดทรัพย์สินให้ผู้มีส่วนได้เสีย เช่นลูกหนี้ผู้ถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้น ผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับลูกหนี้ผู้รับจำนอง รวมถึงนายทะเบียนกรณีทรัพย์นั้นมีทะเบียนแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีจะจัดทำประกาศขายทอดตลาดและแจ้งกำหนดวัน สถานที่ขายทอดตลาดแก่บรรดาบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่ขายทอดตลาดให้ทราบ

2.2.2 ข้อบังคับในการขายทอดตลาด เจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ขายทอดตลาดทรัพย์ จะต้องดำเนินการภายใต้ข้อบังคับบทบัญญัติของกฎหมาย กล่าวคือ

ในการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่มีหลายสิ่งด้วยกัน ให้แยกขายทีละสิ่งต่อเนื่องกันไป แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจจัดทรัพย์สินที่มีราคาเล็กน้อย รวมขายเป็นกองๆ และมีอำนาจจัดทรัพย์สินสองสิ่งหรือมากกว่านั้นขึ้นไป รวมขายไปด้วยกันได้ ในเมื่อเป็นที่คาดหมายได้ว่าเงินที่ได้มาจากการขายได้เพิ่มขึ้นหรือเพียงพอต่อการชำระหนี้ได้ ในการขายทรัพย์สินหลายสิ่งด้วยกัน เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจกำหนดอันดับที่จะขายทรัพย์สินนั้น (ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 333)

ในการขายทอดตลาดสังหาริมทรัพย์ เจ้าพนักงานบังคับคดีอาจกำหนดเงื่อนไขการเข้าสู้ราคา โดยให้ผู้ที่ประสงค์จะเข้าสู้ราคาวางหลักประกันการเข้าสู้ราคาต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นเงินสดหรือเช็คที่ธนาคารสั่งจ่ายตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควรมาวางก่อนการเข้าสู้ราคาได้ เว้นแต่ผู้เข้าสู้ราคานั้นเป็นผู้มีสิทธิหักส่วนได้ใช้แทน เช่น

(1) ผู้มีสิทธิขอหักส่วนได้ใช้แทนราคาซื้อ ประเภทผู้มีชื่อในเอกสารสิทธิร่วมกับลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือผู้มีส่วนได้จากกองมรดกตามคำพิพากษา

(2) ผู้มีสิทธิขอหักส่วนได้ใช้แทนราคาซื้อ ประเภทเจ้าหนี้บุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ขายตามคำชี้ขาดของศาล

(3) คู่สมรสที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้กันส่วนแล้ว

เนื่องจากการขายทอดตลาดทรัพย์ของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นการขายตามบทบัญญัติของกฎหมาย หรือการบังคับขาย ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องในการขายทอดตลาด ไม่ว่าจะเป็นโจทย์ จำเลย ผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วม ผู้รับจำนอง ผู้ร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ รวมถึงผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดทรัพย์ ต้องทราบและยอมเข้าผูกพันตนในกรณีที่มีเหตุตามกฎหมาย เช่น การร้องขัดทรัพย์ การงดการบังคับคดี การร้องคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดี การร้องคัดค้านการกระทำ การอุทธรณ์ ฎีกา ซึ่งเป็นเหตุในการบังคับคดีต้องล่าช้า ซึ่งผู้เกี่ยวข้องไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้

2.2.3 การจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงสิทธิและการส่งมอบทรัพย์

เมื่อการขายทอดตลาดทรัพย์บริบูรณ์ โดยเจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้แล้ว ผู้เสนอราคาสูงสุดต้องชำระเงินค่าซื้อทรัพย์ กรณีถ้าทรัพย์นั้นเป็นสังหาริมทรัพย์ ผู้ซื้อจะต้องชำระราคาให้ครบถ้วนและรับมอบทรัพย์นั้นไป กรณีถ้าทรัพย์เป็นอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพย์ที่ต้องมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงสิทธิ เจ้าพนักงานบังคับคดีอาจมีการผ่อนผันให้ผู้ซื้อวางเงินมัดจำบางส่วนตามที่กำหนดไว้ในประกาศขายและทำสัญญาชำระเงินส่วนที่เหลือภายใน 15 วัน เว้นแต่กรณีที่เป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิ เช่น ผู้รับจำนองที่ศาลมีคำสั่งอณุญาตให้ได้รับชำระหนี้บุริมสิทธิ แล้วผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือคู่สมรสของลูกหนี้ที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้กันส่วนแล้ว เมื่อผู้ซื้อชำระราคาส่วนที่เหลือครบถ้วนแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีจะมีหนังสือถึงนายทะเบียน เพื่อทำการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงสิทธิให้แก่ผู้ซื้อต่อไป สำหรับค่าธรรมเนียม ค่าภาษีอากร ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มต่างๆเจ้าพนักงานบังคับคดีจะกำหนดหน้าที่ผู้ที่ต้องผูกพันรับผิดชอบไว้ในรายละเอียดในประกาศขายทอดตลาด ซึ่งผู้ซื้อจะต้องผูกพันเงื่อนไขต่างๆ ใบประกาศขายทอดตลาดทั้งหมด

2.2.4 การเข้าครอบครองทรัพย์ภายหลังการจดทะเบียนผู้ซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาด เมื่อไปทำการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แล้ว ไม่สามารถไปครอบครองทรัพย์นั้นได้ เนื่องจากมีลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารผู้อยู่อาศัย ไม่ยอมออกจากทรัพย์สินนั้น ผู้ซื้อต้องยื่นคำขอต่อศาลที่ทรัพย์นั้นอยู่ให้ออกหมายบังคับคดีเพื่อตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี ไปดำเนินการขับไล่ลูกหนี้หรือบริวารนั้นได้ โดยให้ถือว่าลูกหนี้หรือบริวารเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา โดยไม่จำเป็นต้องฟ้องให้เป็นคดีใหม่

ลงประกาศฟรี !!! ไม่มีค่าใช้จ่ายลงประกาศเลย คลิ๊ก …

ขายคอนโดมือสอง บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ที่ดิน กับ Dot Property ขายง่าย ขายไว หรือต้องการซื้อ-เช่า !!! คอนโดมือสอง บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ที่ดินทั่วไทยมากกว่า 300,000 รายการคลิ๊กที่นี่