นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(คณะกรรมการ PPP) เปิดเผย ผลการประชุมคณะกรรมการ PPP ครั้งที่ 4/2561 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2561 ณ กระทรวงการคลัง โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
โดยคณะกรรมการ PPP ได้เห็นชอบ ในหลักการของโครงการทางหลวงสัมปทาน สายนครปฐม – ชะอำ (M8) ของกรมทางหลวง ภายใต้มาตรการ PPP Fast Track มูลค่าเงินลงทุนรวม 79,006 ล้านบาท ในรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐลงทุนค่างาน จัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และร่วมลงทุนในกรอบวงเงินไม่เกินค่างานโยธา จำนวน 55,805 ล้านบาท
และภาคเอกชนลงทุน ค่าก่อสร้างงานโยธา ค่าก่อสร้างงานระบบและ องค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ค่าก่อสร้างที่พัก ริมทาง และค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการ ตลอดจน รับผิดชอบการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) รวมถึงการบริหารจัดการที่พักริมทางตามขอบเขตและเงื่อนไขที่ กรมทางหลวงกำหนด ในระยะเวลาดำเนินโครงการ 30 ปี นับจากเปิดให้บริการ
โครงการดังกล่าวเป็นไปตามแผนแม่บทการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง และแผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงพิเศษ ระหว่างเมืองของกรมทางหลวง เพื่อเป็น ทางหลวงมาตรฐานสูงสู่พื้นที่ภาคใต้ และช่วยแบ่งเบาปริมาณจราจรบนถนนเพชรเกษม หรือทางหลวงหมายเลข 4 ทำให้การเดินทางของประชาชนสะดวกรวดเร็วและปลอดภัย รวมทั้งสร้างความ เชื่อมโยงการเดินทางจากกรุงเทพฯ สู่พื้นที่ภาคใต้
พร้อมกันนี้ คณะกรรมการ PPP เร่งรัดให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงาน เจ้าของโครงการดำเนินโครงการภายใต้มาตรการ PPP Fast Track ให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลา
โดยโครงการรถไฟฟ้า สายสีม่วง ช่วงเตาปูน – วงแหวนกาญจนาภิเษก และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) คาดว่าจะนำเสนอคณะกรรมการ PPP ได้ภายในปี 2561 (ประมาณเงินลงทุนรวม 366,274 ล้านบาท)
รวมถึงติดตามโครงการระบบ ขนส่งมวลชนในหัวเมืองต่างๆ ได้แก่ โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ และโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นไปตาม นโยบายรัฐบาลในการกระจายการลงทุน และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไปสู่ภูมิภาคและบรรเทาปัญหาการจราจรหนาแน่น ของหัวเมืองหลัก
นายประภาสกล่าวว่า ระหว่างวันที่ 17-20 กันยายนนี้ จะเดินทางไปโรดโชว์กองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ (TFF) ณ ฮ่องกง สิงคโปร์ เพื่อเสนอรายละเอียดการจำหน่ายหน่วยลงทุนกองทุน TFF วงเงิน 45,000 ล้านบาท เพื่อชักจูง นักลงทุนในภูมิภาคนี้ หวังให้นักลงทุนต่างชาติมีส่วนร่วม
โดยยังเน้นขายหน่วยลงทุนรายย่อยในประเทศเป็นหลักมากถึง 60% จากนั้นกันสัดส่วนให้นักลงทุนสถาบันและต่างชาติ เพื่อเปิดจำหน่ายสัปดาห์ที่ 2 เดือนตุลาคม ส่วนผลตอบแทนการลงทุนยังรอสำนักงานคณะกรรมการกำกับ หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พิจารณารายละเอียดการลงทุนทั้งหมด ในสิ้นเดือนกันยายนี้
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า