กรุงเทพฯ ติดอันดับที่ 28  ของโลกที่มีศักยภาพสูงสุดในการเติบโต

กรุงเทพฯ

รายงาน City Momentum Index (ดัชนีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของเมือง) ฉบับประจำปี 2561 โดยบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล เปิดเผยว่า กรุงเทพฯ ติดอันดับหนึ่งใน 30 เมืองของโลกที่มีศักยภาพการเติบโตอย่างแข็งแกร่งสูงสุดในระยะสั้น โดยอยู่ในอันดับที่ 28 ต่อจากดูไบ (อันดับ 27) และสิงคโปร์ (อันดับ 26) และมีค่าดัชนีสูงกว่าซีแอตเทิลของสหรัฐฯ (อันดับ 29) และบูคาเรสต์ เมืองหลวงของโรมาเนีย (อันดับ 30)

กรุงเทพฯ ติดอันดับหนึ่งใน 30 เมืองของโลกที่มีศักยภาพการเติบโตอย่างแข็งแกร่งสูงสุดในระยะสั้น

กรุงเทพฯ

รายงานฉบับดังกล่าวของเจแอลแอล วิเคราะห์ปัจจัยหลากหลายด้านที่แสดงถึงศักยภาพในการประสบความสำเร็จของเมืองศูนย์กลางทางธุรกิจ 131 เมืองทั่วโลก ในแง่มุมของความเข้มแข็งทางด้านสังคม-เศรษฐกิจ และการเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์เชิงธุรกิจ ทั้งนี้ การจัดอันดับดัชนีศักยภาพการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง แบ่งออกเป็นสองประเภท คือ ดัชนีระยะสั้นและดัชนีระยะยาว โดยดัชนีระยะยาวหมายถึงเมืองที่มีศักยภาพในการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว

สำหรับดัชนีระยะสั้น พบว่า ในกลุ่มเมืองที่มีดัชนีสูงสุด 30 อันดับแรกของโลก เป็นเมืองของเอเชียแปซิฟิก 25 เมือง รวมถึงเมืองที่มีดัชนีสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ สองเมืองของอินเดีย คือ ไฮเดอราบัด (อันดับ 1) และบังกาลอร์ (อันดับ 2) และนครโฮจิมินห์ของเวียดนาม (อันดับ 3)

เมืองที่มีดัชนีสูงสุดด้านการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในระยะสั้น 30 อันดับแรกของโลก

  1. ไฮเดราบัด*
  2. บังกาลอร์*
  3. นครโฮจิมินห์*
  4. ปูเน่*
  5. กัลกัตตา*
  6. ฮานอย*
  7. หนานจิง*
  8. เดลี*
  9. หางโจว*
  10. ซีอาน*
  11. ไนโรบี
  12. ฉงชิ่ง*
  13. หวูฮั่น*
  14. เชนไน*
  15. เซี่ยงไฮ้*
  16. กวางโจว*
  17. เทียนจิน*
  18. มะนิลา*
  19. เสินเจิ้น*
  20. มุมไบ*
  21. เฉิงตู*
  22. ปักกิ่ง*
  23. จาการ์ต้า*
  24. กัวลาลัมเปอร์*
  25. ลากอส
  26. สิงคโปร์*
  27. ดูไบ
  28. กรุงเทพฯ*
  29. ซีแอตเทิล
  30. บูคาเรสต์

 * เมืองของเอเชียแปซิฟิก 

ที่มา: City Momentum Index 2018 โดยเจแอลแอล

 

ปัจจัยที่หนุนการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในระยะสั้น

  • จำนวนประชากร
  • การเชื่อมโยง (คมนาคม)
  • การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์
  • ราคาอสังหาริมทรัพย์
  • ผลิตผลทางเศรษฐกิจ
  • กิจกรรมทางธุรกิจ
  • การก่อสร้าง
  • ยอดค้าปลีก

สำหรับดัชนีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในระยะสั้น มีเมืองของอินเดียหลายเมืองที่ติด 30 อันดับแรกของโลก เนื่องจากอยู่ในกลุ่มเมืองที่มีการเติบโตของจำนวนประชากรและเศรษฐกิจรวดเร็วมากที่สุดในโลก อีกทั้งยังได้ประโยชน์จากมาตรการของภาครัฐฯ ในการทำให้เป็นแหล่งธุรกิจที่มีความน่าสนใจ และการลงทุนในสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน

ส่วนเวียดนามได้อานิสงค์จากการหลั่งไหลเข้ามาของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เนื่องจากหัวเมืองหลักๆ ของเวียดนาม อาทิ นครโฮจิมินห์ และฮานอย กลายเป็นแหล่งผลิตและกระจายสินค้าไฮเทคที่สำคัญของภูมิภาคและของโลก ส่งผลให้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจและรายได้

เมืองใหญ่ๆ ของจีนมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่อง โดยมีจำนวนมากถึง 11 เมืองที่ติดอยู่ 30 อันดับแรกในรายงานดัชนีฉบับนี้ โดยเฉพาะเมืองที่ถูกใช้เป็นฐานการผลิตสินค้าที่สำคัญของโลก ซึ่งติดอันดับต้นๆ ได้แก่ หนานจิง (อันดับ 7) และหางโจว (อันดับ 9)

ส่วนเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจหลักของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ติดอยู่ในกลุ่ม 30 อันดับแรกของโลก ได้แก่ มะนิลา จาการ์ต้า กัวลาลัมเปอร์ และกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองที่ยังคงมีการเติบโตตามแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ เมืองเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นประตูสู่ภูมิภาคและมีความสามารถในการดึงดูดนักท่องเที่ยว นวัตกรรม และทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถ การมีศักยภาพการเติบโตสูง ยังทำให้เมืองเหล่านี้ เป็นแหล่งธุรกิจที่มีบริษัทต่างๆ ขยายกิจการ อีกทั้งยังสามารถดึงดูดบริษัทของจีนที่กำลังขยายการลงทุนออกนอกประเทศมากขึ้น นอกจากนี้ เมืองเหล่านี้ยังมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วของภาคอสังหาริมทรัพย์ ตามการสร้าง-ขยายเพิ่มขึ้นของโครงข่ายระบบสาธารณูปโภค

อย่างไรก็ดี การจัดอันดับดัชนีเมืองที่มีศักยภาพการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในระยะยาว พบว่า มีเมืองของเอเชียแปซิฟิกเพียง 5 เมืองเท่านั้นที่ติดอยู่นกลุ่ม 30 อันดับแรกของโลก ได้แก่ โตเกียว โซล ซิดนีย์ เมลเบอร์น และสิงคโปร์ ที่น่าสนใจคือ สิงคโปร์ เป็นเมืองเดียวของเอเชียแปซิฟิกที่ติดอยู่ในกลุ่ม 30 อันดับแรกของเมืองที่มีดัชนีสูงสุด ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เนื่องจากในระยะสั้น เศรษฐกิจและตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสิงคโปร์มีพลวัตสูง ในขณะที่สิงคโปร์ดำเนินมาตรการต่างๆ ในอันที่จะทำให้เมืองมีการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยาว

เมืองที่มีดัชนีศักยภาพการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในระยะยาว 30 อันดับแรกของโลก

กรุงเทพฯ

  1. ซานฟรานซิสโก
  2. ซิลิคอน วัลเลย์
  3. นิวยอร์ก
  4. ลอนดอน
  5. บอสตัน
  6. ลอสแองเจลีส
  7. ปารีส
  8. อัมสเตอร์ดัม
  9. โตรอนโต้
  10. ซานดิเอโก
  11. ชิคาโก
  12. ซีแอตเทิล
  13. โตเกียว*
  14. ซิดนีย์*
  15. มิวนิค
  16. เบอร์ลิน
  17. เมลเบอร์น*
  18. ออสติน
  19. แวนคูเวอร์
  20. เดนเวอร์
  21. วอชิงตันดีซี
  22. โคเปนเฮเกน
  23. สต็อคโฮม
  24. เอดินเบอร์ก
  25. ฟิลาเดลเฟีย
  26. มอนทรีออล
  27. เฮลซิงกิ
  28. โซล*
  29. สิงคโปร์*
  30. ซูริค

* เมืองของเอเชียแปซิฟิก

ที่มา: City Momentum Index 2018 โดยเจแอลแอล

 

 ปัจจัยที่หนุนการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในระยาว

  • กลุ่มบริษัทเทคโนโลยี
  • การศึกษา
  • สิ่งแวดล้อม
  • ความโปร่งใส
  • สาธารณูปโภค
  • สิทธิบัตรระหว่างประเทศ

เจรามี เคลลีย์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของเจแอลแอลทั่วโลก กล่าวว่า “เมืองต่างๆ ของเอเชียแปซิฟิกยังคงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากการขยายเศรษฐกิจและการเป็นประตูสู่ภูมิภาคที่มีการเติบโตรวดเร็วที่สุดในโลก ทั้งในแง่ของการลงทุนและการค้าโลก การเติบโตที่กำลังดำเนินอยู่อย่างรวดเร็วในขณะนี้มีผลต่อการขยายตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ทั่วทั้งภูมิภาค ดังจะเห็นได้จากกิจกรรมการก่อสร้างที่เกิดขึ้นอย่างคึกคักและการเพิ่มขึ้นของอสังหาริมทรัพย์ที่มีความทันสมัยเพื่อรองรับความต้องการ รวมไปจนถึงปริมาณการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เชิงธุรกิจที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในปี 2560 ที่ผ่านมา”

“อย่างไรก็ดี การเติบโตที่รวดเร็วดังกล่าว ได้นำไปสู่ปัญหาบางประการ อาทิ การมีสาธารณูปโภคไม่เพียงพอรองรับ ราคาที่สูงขึ้นเร็วกว่ากำลังซื้อ รวมจนถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เพื่อให้สามารถรักษาการเติบโตให้ดำเนินต่อไปได้ในระยะยาว เมืองต่างๆ ของเอเชียแปซิฟิกจะต้องพยายามสร้างความยั่งยืน โดยการทำให้เมืองมีความน่าอยู่มากขึ้นและไม่แพงจนเกินไป มีกฎหมายที่โปร่งใส และมีสาธารณูปโภครองรับอย่างเพียงพอ ทั้งในเชิงกายภาพและด้านเทคโนโลยี”

รายงานฉบับเต็มสามารถดาวน์โหลดฟรีได้ที่ โหลดเลย ( http://www.jll.com/research/203/jll-city-momentum-index-2018)

 

สนใจข้อมูลข่าวสารอื่นๆเพิ่มเติมจาก Dotproperty คลิ๊ก …