รายงาน City Momentum Index (ดัชนีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของเมือง) ฉบับประจำปี 2561 โดยบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล เปิดเผยว่า กรุงเทพฯ ติดอันดับหนึ่งใน 30 เมืองของโลกที่มีศักยภาพการเติบโตอย่างแข็งแกร่งสูงสุดในระยะสั้น โดยอยู่ในอันดับที่ 28 ต่อจากดูไบ (อันดับ 27) และสิงคโปร์ (อันดับ 26) และมีค่าดัชนีสูงกว่าซีแอตเทิลของสหรัฐฯ (อันดับ 29) และบูคาเรสต์ เมืองหลวงของโรมาเนีย (อันดับ 30)
กรุงเทพฯ ติดอันดับหนึ่งใน 30 เมืองของโลกที่มีศักยภาพการเติบโตอย่างแข็งแกร่งสูงสุดในระยะสั้น
รายงานฉบับดังกล่าวของเจแอลแอล วิเคราะห์ปัจจัยหลากหลายด้านที่แสดงถึงศักยภาพในการประสบความสำเร็จของเมืองศูนย์กลางทางธุรกิจ 131 เมืองทั่วโลก ในแง่มุมของความเข้มแข็งทางด้านสังคม-เศรษฐกิจ และการเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์เชิงธุรกิจ ทั้งนี้ การจัดอันดับดัชนีศักยภาพการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง แบ่งออกเป็นสองประเภท คือ ดัชนีระยะสั้นและดัชนีระยะยาว โดยดัชนีระยะยาวหมายถึงเมืองที่มีศักยภาพในการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว
สำหรับดัชนีระยะสั้น พบว่า ในกลุ่มเมืองที่มีดัชนีสูงสุด 30 อันดับแรกของโลก เป็นเมืองของเอเชียแปซิฟิก 25 เมือง รวมถึงเมืองที่มีดัชนีสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ สองเมืองของอินเดีย คือ ไฮเดอราบัด (อันดับ 1) และบังกาลอร์ (อันดับ 2) และนครโฮจิมินห์ของเวียดนาม (อันดับ 3)
เมืองที่มีดัชนีสูงสุดด้านการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในระยะสั้น 30 อันดับแรกของโลก
- ไฮเดราบัด*
- บังกาลอร์*
- นครโฮจิมินห์*
- ปูเน่*
- กัลกัตตา*
- ฮานอย*
- หนานจิง*
- เดลี*
- หางโจว*
- ซีอาน*
- ไนโรบี
- ฉงชิ่ง*
- หวูฮั่น*
- เชนไน*
- เซี่ยงไฮ้*
- กวางโจว*
- เทียนจิน*
- มะนิลา*
- เสินเจิ้น*
- มุมไบ*
- เฉิงตู*
- ปักกิ่ง*
- จาการ์ต้า*
- กัวลาลัมเปอร์*
- ลากอส
- สิงคโปร์*
- ดูไบ
- กรุงเทพฯ*
- ซีแอตเทิล
- บูคาเรสต์
* เมืองของเอเชียแปซิฟิก
ที่มา: City Momentum Index 2018 โดยเจแอลแอล
ปัจจัยที่หนุนการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในระยะสั้น
- จำนวนประชากร
- การเชื่อมโยง (คมนาคม)
- การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์
- ราคาอสังหาริมทรัพย์
- ผลิตผลทางเศรษฐกิจ
- กิจกรรมทางธุรกิจ
- การก่อสร้าง
- ยอดค้าปลีก
สำหรับดัชนีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในระยะสั้น มีเมืองของอินเดียหลายเมืองที่ติด 30 อันดับแรกของโลก เนื่องจากอยู่ในกลุ่มเมืองที่มีการเติบโตของจำนวนประชากรและเศรษฐกิจรวดเร็วมากที่สุดในโลก อีกทั้งยังได้ประโยชน์จากมาตรการของภาครัฐฯ ในการทำให้เป็นแหล่งธุรกิจที่มีความน่าสนใจ และการลงทุนในสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน
ส่วนเวียดนามได้อานิสงค์จากการหลั่งไหลเข้ามาของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เนื่องจากหัวเมืองหลักๆ ของเวียดนาม อาทิ นครโฮจิมินห์ และฮานอย กลายเป็นแหล่งผลิตและกระจายสินค้าไฮเทคที่สำคัญของภูมิภาคและของโลก ส่งผลให้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจและรายได้
เมืองใหญ่ๆ ของจีนมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่อง โดยมีจำนวนมากถึง 11 เมืองที่ติดอยู่ 30 อันดับแรกในรายงานดัชนีฉบับนี้ โดยเฉพาะเมืองที่ถูกใช้เป็นฐานการผลิตสินค้าที่สำคัญของโลก ซึ่งติดอันดับต้นๆ ได้แก่ หนานจิง (อันดับ 7) และหางโจว (อันดับ 9)
ส่วนเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจหลักของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ติดอยู่ในกลุ่ม 30 อันดับแรกของโลก ได้แก่ มะนิลา จาการ์ต้า กัวลาลัมเปอร์ และกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองที่ยังคงมีการเติบโตตามแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ เมืองเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นประตูสู่ภูมิภาคและมีความสามารถในการดึงดูดนักท่องเที่ยว นวัตกรรม และทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถ การมีศักยภาพการเติบโตสูง ยังทำให้เมืองเหล่านี้ เป็นแหล่งธุรกิจที่มีบริษัทต่างๆ ขยายกิจการ อีกทั้งยังสามารถดึงดูดบริษัทของจีนที่กำลังขยายการลงทุนออกนอกประเทศมากขึ้น นอกจากนี้ เมืองเหล่านี้ยังมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วของภาคอสังหาริมทรัพย์ ตามการสร้าง-ขยายเพิ่มขึ้นของโครงข่ายระบบสาธารณูปโภค
อย่างไรก็ดี การจัดอันดับดัชนีเมืองที่มีศักยภาพการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในระยะยาว พบว่า มีเมืองของเอเชียแปซิฟิกเพียง 5 เมืองเท่านั้นที่ติดอยู่นกลุ่ม 30 อันดับแรกของโลก ได้แก่ โตเกียว โซล ซิดนีย์ เมลเบอร์น และสิงคโปร์ ที่น่าสนใจคือ สิงคโปร์ เป็นเมืองเดียวของเอเชียแปซิฟิกที่ติดอยู่ในกลุ่ม 30 อันดับแรกของเมืองที่มีดัชนีสูงสุด ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เนื่องจากในระยะสั้น เศรษฐกิจและตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสิงคโปร์มีพลวัตสูง ในขณะที่สิงคโปร์ดำเนินมาตรการต่างๆ ในอันที่จะทำให้เมืองมีการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยาว
เมืองที่มีดัชนีศักยภาพการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในระยะยาว 30 อันดับแรกของโลก
- ซานฟรานซิสโก
- ซิลิคอน วัลเลย์
- นิวยอร์ก
- ลอนดอน
- บอสตัน
- ลอสแองเจลีส
- ปารีส
- อัมสเตอร์ดัม
- โตรอนโต้
- ซานดิเอโก
- ชิคาโก
- ซีแอตเทิล
- โตเกียว*
- ซิดนีย์*
- มิวนิค
- เบอร์ลิน
- เมลเบอร์น*
- ออสติน
- แวนคูเวอร์
- เดนเวอร์
- วอชิงตันดีซี
- โคเปนเฮเกน
- สต็อคโฮม
- เอดินเบอร์ก
- ฟิลาเดลเฟีย
- มอนทรีออล
- เฮลซิงกิ
- โซล*
- สิงคโปร์*
- ซูริค
* เมืองของเอเชียแปซิฟิก
ที่มา: City Momentum Index 2018 โดยเจแอลแอล
ปัจจัยที่หนุนการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในระยาว
- กลุ่มบริษัทเทคโนโลยี
- การศึกษา
- สิ่งแวดล้อม
- ความโปร่งใส
- สาธารณูปโภค
- สิทธิบัตรระหว่างประเทศ
เจรามี เคลลีย์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของเจแอลแอลทั่วโลก กล่าวว่า “เมืองต่างๆ ของเอเชียแปซิฟิกยังคงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากการขยายเศรษฐกิจและการเป็นประตูสู่ภูมิภาคที่มีการเติบโตรวดเร็วที่สุดในโลก ทั้งในแง่ของการลงทุนและการค้าโลก การเติบโตที่กำลังดำเนินอยู่อย่างรวดเร็วในขณะนี้มีผลต่อการขยายตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ทั่วทั้งภูมิภาค ดังจะเห็นได้จากกิจกรรมการก่อสร้างที่เกิดขึ้นอย่างคึกคักและการเพิ่มขึ้นของอสังหาริมทรัพย์ที่มีความทันสมัยเพื่อรองรับความต้องการ รวมไปจนถึงปริมาณการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เชิงธุรกิจที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในปี 2560 ที่ผ่านมา”
“อย่างไรก็ดี การเติบโตที่รวดเร็วดังกล่าว ได้นำไปสู่ปัญหาบางประการ อาทิ การมีสาธารณูปโภคไม่เพียงพอรองรับ ราคาที่สูงขึ้นเร็วกว่ากำลังซื้อ รวมจนถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เพื่อให้สามารถรักษาการเติบโตให้ดำเนินต่อไปได้ในระยะยาว เมืองต่างๆ ของเอเชียแปซิฟิกจะต้องพยายามสร้างความยั่งยืน โดยการทำให้เมืองมีความน่าอยู่มากขึ้นและไม่แพงจนเกินไป มีกฎหมายที่โปร่งใส และมีสาธารณูปโภครองรับอย่างเพียงพอ ทั้งในเชิงกายภาพและด้านเทคโนโลยี”
รายงานฉบับเต็มสามารถดาวน์โหลดฟรีได้ที่ โหลดเลย ( http://www.jll.com/research/203/jll-city-momentum-index-2018)