การรถไฟ เปิดหน้าดินย่านตึกแดง 120 ไร่ ดึงเอกชนร่วมทุนสร้างที่อยู่อาศัย สำนักงาน พื้นที่เชิงพาณิชย์ รับสถานีกลาง บางซื่อ พนักงานกว่า 2 พันครัวเรือน เร่งเคลียร์ที่ดิน 359 ไร่ย่าน กม.11 เปิดประมูล PPP ผุดมิกซ์ยูสกว่า 8 หมื่นล้าน จับตาบีทีเอสปัดฝุ่นโมเดลโมโนเรล คอนโดฯผู้มีรายได้ปานกลางแสนล้าน
การรถไฟ เปิดประมูลที่ดิน 120 ไร่ ย่านตึกแดง
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สินและรักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า การรถไฟฯได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาออกแบบความเป็นไปได้การพัฒนาที่ดินย่าน ตึกแดง ติดถนนเทอดดำริและคลองเปรมประชากร เนื้อที่ 120 ไร่ เพื่อประเมินมูลค่าโครงการ พร้อมจัดทำรายละเอียดการเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนรูปแบบ PPP net cost เนื่องจากโครงการมีมูลค่าการลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาท คาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จภายใน 3-4 เดือนนี้
“โครงการนี้เป็นงานเร่งด่วนที่ต้องมีความชัดเจน เพื่อเป็นการรองรับการย้ายครอบครัวของพนักงานการรถไฟฯ ที่บ้านพักนิคมรถไฟ กม.11 ด้านหลัง เอ็นเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ของ ปตท. ประมาณ 2,000 ครัวเรือน เพราะภายในปี 2562 การรถไฟฯเตรียมจะนำที่ดิน กม.11 พื้นที่ 359 ไร่ เปิดประมูลหาเอกชนร่วมลงทุน PPP พัฒนาเชิงพาณิชย์ สร้างรายได้เข้าองค์กรในระยะยาว”
นายวรวุฒิกล่าวอีกว่า สำหรับโมเดลการพัฒนาในเบื้องต้น คาดว่าจะเป็นอาคารที่พักอาศัยของพนักงานการรถไฟฯ สำนักงานใหญ่การรถไฟฯ พื้นที่เชิงพาณิชย์และส่วนสนับสนุนโครงการ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟบางซื่อ และโครงการพัฒนาสถานีกลางบางซื่อ ในอนาคตจะเป็นศูนย์กลางการเดินทางด้านระบบราง ดังนั้นรูปแบบการพัฒนาจะต้องรองรับกับโครงการต่าง ๆ เหล่านี้ด้วย “โครงการนี้จะคนละส่วนกับที่เรา MOU กับ ปตท.ไปก่อนหน้านี้ ที่ ปตท.พร้อมสนับสนุนเงินกว่า 400 ล้านบาท สร้างที่พักอาศัยสำหรับพนักงานการ รถไฟฯเพื่อเป็นการทดแทนการใช้พื้นที่ย่าน กม.11 ตามที่มีข้อตกลงกันไว้ จากเดิมจะสร้างที่ กม.11 แต่เนื่องจากมองว่า การสร้างบ้านพักรถไฟภายในพื้นที่โครงการที่จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนาเชิงพาณิชย์ในอนาคตมีมูลค่า ผลตอบแทนโครงการลดลง จึงปรับแผนใหม่ไปสร้างบนที่ดินย่านตึกแดงแทน”
นายวรวุฒิยังกล่าวอีกว่า สำหรับที่ดินย่าน กม.11 มีมูลค่าลงทุนโครงการประมาณ 80,882 ล้านบาท พัฒนาเป็นโครงการมิกซ์ยูส มีคอนโดมิเนียมและพื้นที่เชิงพาณิชย์ เช่น สำนักงาน เนื่องจากบริเวณโดยรอบเป็นที่ตั้งของสำนักงาน ปตท. ศูนย์เอ็นเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ ศูนย์ประชุม โรงแรม ที่อยู่อาศัย รีเทล เป็นต้น รายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับรูปแบบ การพัฒนาที่การรถไฟฯศึกษาไว้ จะประกอบด้วย
- อาคารสำนักงานขนาดใหญ่ จำนวน 7-8 อาคาร
- มินิออฟฟิศ จำนวน 2-3 อาคาร
- ศูนย์ประชุมขนาดเทียบเท่าอิมแพ็ค พื้นที่ 1.5 แสนตารางเมตร
- โรงแรมขนาด 4 ดาว จำนวน 250 ห้อง
- คอนโดมิเนียมเกรด A จำนวน 1,000-2,000 ยูนิต ราคา 140,000-150,000 บาท/ตารางเมตร และเกรด B จำนวน 3,000 ยูนิต ราคา 90,000-100,000 บาท/ตารางเมตร โดยสร้างบางส่วนเป็นที่พักอาศัยเพื่อรองรับพนักงานการรถไฟฯประมาณ 2,500 ยูนิต
- ซัพพอร์ตติ้งมอลล์หรือพื้นที่ค้าปลีกประมาณ 1 หมื่นตารางเมตร และมีบางส่วนอยู่ใต้ตึกที่พักอาศัยเป็นสวัสดิการให้พนักงานการรถไฟฯ และ 7.โรงพยาบาลและสนามกีฬา
ส่วนที่ดินย่านตึกแดง ก่อนหน้านี้การรถไฟฯเคยจะร่วมกับการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยรูปแบบแฟลตเพื่อรองรับพนักงานของการรถไฟฯ ประมาณ 10,000 ยูนิต เงินลงทุน 7,000 ล้านบาท โดยให้เช่ายาว 30 ปี
ขณะที่ที่ดินย่าน กม.11 ก่อนหน้านี้ทาง บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ เคยเสนอโมเดลพัฒนาเบื้องต้นให้กับกระทรวงคมนาคมพิจารณา ใช้เงินลงทุนรวมสร้างรถไฟฟ้า โมโนเรล ประมาณ 1 แสนล้านบาท มี 5 ส่วน คือ
- ลงทุน 1 หมื่นล้านบาทสร้างคอนโดฯประมาณ 5,000 ยูนิต รองรับพนักงานการ รถไฟฯ 5,000 ครัวเรือน ออกแบบเป็นห้องชุด พื้นที่ใช้สอย 42 และ 56 ตารางเมตร โดยบริษัทสร้างให้ฟรีเพื่อแลกเปลี่ยนกับการพัฒนาพื้นที่ส่วนที่เหลือ
- พื้นที่ค้าขายสำหรับผู้ประกอบการ ที่ค้าขายบริเวณ กม.11 เดิม
- สวนสาธารณะ
- คอนโดฯให้เช่าสำหรับผู้มีรายได้ปานกลาง
- พื้นที่เชิงพาณิชย์
รัฐเตรียมยึดคืน ที่ดิน ทั่วไทยกว่า 7พันไร่หมื่นล. สร้างทางคู่-ไฮสปีด-ลุยมิกซ์ยูส
รัฐ เพิ่ม โครงการรถไฟฟ้า ส่วนต่อขยายสายสีชมพูเชื่อมเมืองทองธานี และ รัชโยธิน
ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ