DotProperty.co.th

การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ในชั้นบังคับคดี รู้ถึงขั้นตอนและการเตรียมตัว

ครั้งนี้เราจะมาพูดถึง การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ในชั้นบังคับคดี ว่าคืออะไร มีความสำคัญ ขั้นตอนในการไกล่เกลี่ย และการเตรียมตัว เตรียมเอกสารประกอบการยื่นคำร้องขอไกล่เกลี่ยยังไงบ้าง เพื่อให้คุณผู้อ่านได้เข้าใจ และรู้ถึงปัญหาที่พบบ่อย รวมถึงเตรียมตัวอย่างถูกต้องในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชั้นบังคับคดี

การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ชั้นบังคับคดี

คือ วิธีการระงับหรือยุติข้อพิพาท โดยมีบุคคลที่สาม เรียกว่า “ผู้ไกล่เกลี่ย” ซึ่งคือคนกลาง ที่คู่กรณีตกลงให้ช่วยเหลือในการเสนอแนะหาทางออกให้คู่กรณีสามารถตกลงกันได้ทุกฝ่าย โดยอาจเป็นบุคคลภายนอก หรือเจ้าพนักงาน หากตกลงกันได้ จะเป็นผลให้มีการถอนการยึดทรัพย์ ถอนการอายัดทรัพย์ หรือถอนการบังคับคดี โดยการทำบันทึกข้อตกลง ซึงมีผลผูกพันให้คู่กรณีต้องปฏิบัติตาม

การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท จะช่วยให้คู่กรณีทุกฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกัน โดยผู้ไกล่เกลี่ยจะคอยเป็นผู้กระตุ้น แนะนำ โน้มน้าว แปลความหรือชี้นแนะหนทางที่เป็นไปได้ ในการแก้ปัญหาข้อพิพาทให้กับคู่กรณี โดยผู้ไกล่เกลี่ยไม่มีอำนาจในการกำหนดข้อตกลงให้แก้คู่กรณีเหมือนกับอนุญาโตตุลาการ หรือผู้พิพากษาแต่อย่างใด การจะตกลงหรือไม่ จึงเป็นการตัดสินใจของคู่กรณี

ประเภทของการไกล่เกลี่ยชั้นบังคับคดี

  1. การไกล่เกลี่ยก่อนการบังคับคดี คือ การไกล่เกลี่ยก่อนที่จะมีการบังคับคดียึดทรัพย์ อายัดทรัพย์ลูกหนี้ เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา คู่กรณีสามารถขอให้มีการไกล่เกลี่ยได้โดยไม่ให้ดำเนินการบังคับคดี
  2. การไกล่เกลี่ยภายหลังการบังคับคดีแล้ว คือการไกล่เกลี่ยภายหลังจากที่มีการบังคับคดียึดทรัพย์ อายัดทรัพย์ หรือขายทอดตลาดทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว ซึ่งหากคู่ความสามารถตกลงกันได้ จะมีผลให้มีการถอนการยึดทรัพย์ ถอนกานอายัดทรัพย์หรือถอนการบังคับคดีต่อไป แล้วทำบันทึกข้อตกลงระหว่างกัน เพื่อใช้บังคับตามที่ตกลงกัน หรือหากตกลงกันได้บางส่วน ประเด็นที่ตกลงกันไม่ได้ ก็สามารถดำเนินการบังคับคดีต่อไปได้

เอกสารประกอบการยื่นคำร้องขอไกล่เกลี่ย

  1. คำร้องขอไกล่เกลี่ย
  2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
  3. หนังสือมอบอำนาจ พร้อมสำเนาบัตรประชาชนของผู้มอบและผู้รับมอบอำนาจ(กรณียื่นแทนผู้อื่น)
  4. สำเนาคำพิพากษา หรือหมายบังคับคดี
  5. เอกสารประกอบอื่นๆ เช่น สำเนารายงานการยึดหรืออายัดทรัพย์ ประกาศขับไล่หรือขายทอดตลอด

กระบวนการไกล่เกลี่ยชั้นบังคับคดี

  1. การเข้าสู้กระบวนการไกล่เกลี่ยก่อนการบังคับคดี ภายหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษา คู่กรณีสามารถตกลงให้คนกลางช่วยเหลือในการระงับหรือยุติการยังคดีได้ โดยการยื่นคำร้องแสดงความประสงค์ต่อศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท กรมบังคับคดี หรือที่สำนีกงานบังคับคดีทั่วประเทศ
  2. การเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยภายหลังการบังคับคดีแล้ว คู่กรณีสามารถตกลงให้มีการไกล่เกลี่ยก่อนมีการขายทอดตลาดหรือหลังการอายัดทรัพย์แล้วก็ได้ โดยยื่นคำร้องต่อศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท กรมบังคับคดีทั่วประเทศ เพื่อดำเนินการให้ หากไกล่เกลี่ยสำเร็จ จะนำไปสู่การถอนการยึดทรัพย์ ถอนการอายัดทรัพย์ หรือถอนการบังคับคดีต่อไป

ขั้นตอนในการไกล่เกลี่ยชั้นบังคับคดีมี มีดังนี้

  1. การเตรียมคดี

ผู้ไกล่เกลี่ยจะศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับคดีก่อน อาจจะดูจากพยานหลักฐานที่มี หรือสอบถามคู่กรณี เพื่อทราบถึงปัญหาและความต้องการของแต่ละฝ่าย

  1. เริ่มการประชุมไกล่เกลี่ย

ผู้ไกล่เกลี่ยกล่าวเปิดการไกล่เกลี่ย โดยการแนะนำตัวเองและสร้างบรรยากาศในการเจรจา ตลอดจนชี้แจงถึงบทบาทหน้าที่ของผู้ไกล่เกลี่ย และอธิบายขั้นตอนกระบวนการ รวมถึงกติกามารยาทต่างๆ ในการเจรจาให้คู่กรณีทราบ

  1. การค้นหาความต้องการแท้จริงของคู่กรณี

ผู้ไกล่เกลี่ยต้องค้นหาความต้องการที่แท้จริงของคู่กรณีจากข้อมูลและข้อเท็จจริงที่ได้รับ ซึ่งอาจเป็นการเจรจารวมกันทุกฝ่าย หรือประชุมแบบแยกเจรจาทีละฝ่ายก็ได้

  1. การหาทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง

ผู้ไกล่เกลี่ยมีหน้าที่ลดประเด็นข้อขัดแย้ง และเสนอทางออกในการยุติข้อขัดแย้งให้แก่คู่กรณี

ผลของการไกล่เกลี่ยชั้นบังคับคดี

กรณีไกล่เกลี่ยสำเร็จ

เมื่อคู่กรณีสามารถตกลงกันได้ ก็จะมีผลให้การบังคับคดีเสร็จสิ้นลง อันจะทำให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายได้รับการเยียวยาและเป็นที่พึงพอใจทั้งสองฝ่าย ก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีต่อกัน และในการไกล่เกลี่ยในชั้นบังคับคดีนั้น คู่กรณียังสามารถดำเนินการทำเป็นบันทึกข้อตกลงให้มีผลบังคับระหว่างกันได้ระหว่างกันได้  โดยถือว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่เกิดขึ้นโดยผลของการปฏิบัติตามคำพิพากษา  ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่อาจบอกเลิกหรือปฏิบัติให้เป็นอื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 1950/2551)

กรณีไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จหรือสำเร็จเพียงบางส่วน

ในกรณีที่คู่กรณีตกลงกันไม่ได้  ผลของคำพิพากษาที่มีอยู่ทั้งหมดก็ยังไม่ได้หมดไป ผู้ไกล่เกลี่ยจะเป็น ผู้ทำรายงานการดำเนินกระบวนการไกล่เกลี่ย และส่งไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการบังคับคดีต่อไป สำหรับกรณีที่ตกลงกันได้บางส่วน  ผู้ไกล่เกลี่ยจะเป็นผู้ทำรายงานการดำเนินกระบวนการไกล่เกลี่ย และส่งสำนวนคืนเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อให้ดำเนินการบังคับคดีต่อไปในส่วนที่ตกลงกันไม่ได้

แผนผังขั้นตอนการดำเนินการไกล่เกลี่ย ก่อนการบังคับคดี

แผนผังขั้นตอนการดำเนินการไกล่เกลี่ย กรณีมีการบังคับคดีแล้ว

สามารถติดต่อศูนย์ไกล่เกลี่ยชั้นบังคับคดีได้ที่

ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท กรมบังคับคดี ตั้งอยู่ที่ 189/1 อาคาร 25 ปี ชั้น 2 ถ.บางขุนนนท์ แขวงบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700 โทร 0-2887-5072 หรือ 0-2887-5085 โทรสาร. 0-2881-4816 หรือติดต่อศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทประจำสำนักงานบังคับคดีจังหวัด/สาขาทั่วประเทศ

ลงประกาศฟรี !!! ไม่มีค่าใช้จ่ายลงประกาศเลย คลิ๊ก …

ขายคอนโดมือสอง บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ที่ดิน กับ Dot Property ขายง่าย ขายไว หรือต้องการซื้อ-เช่า !!! คอนโดมือสอง บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ที่ดินทั่วไทยมากกว่า 300,000 รายการคลิ๊กที่นี่