ท่ามกลางยุคสมัยปัจจุบัน ที่ทุกสิ่งถูกขมวดรวมเข้ามาอยู่ในศูนย์กลางอย่างกรุงเทพมหานคร คุณอาจจะเป็นคนหนึ่ง ที่ต้องลาจากถิ่นฐานของตนเอง เข้ามาแสวงหาโอกาส ไม่ว่าจะทั้งการงาน การศึกษา หรือการใช้ชีวิต แน่นอนว่า ด้วยค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำไมทางเลือกของรายได้นั้น ต้องถูกนำมาคิดคำนวณรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับใครที่มีอสังหาริมทรัพย์ในครอบครอง การตัดสินใจ ‘ขาย’ สินทรัพย์นั้นๆ เพื่อเอาเงินมาบำรุงชีวิตที่คุณต้องใช้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน อาจจะเป็นทางเลือกที่ดูเข้าท่ากว่า
อย่างไรก็ตาม ถ้าสินทรัพย์ที่ว่านั้น อยู่ในสถานที่อันห่างไกลแบบที่เรียกว่า ‘ไกลปืนเที่ยง’ จะทำอย่างไร? เราก็ขอแนะนำเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ถ้าคุณตัดสินใจในแนวทางดังกล่าว เพื่อให้ธุรกรรมต่างๆ นั้นเป็นไปได้อย่างเรียบง่าย และเสร็จสิ้นได้ในเวลาอันรวดเร็ว
-กลับไป ‘เยี่ยมบ้าน’
ก่อนจะดำเนินการประกาศขายอสังหาริมทรัพย์ใดๆ นั้น แน่นอนที่สุดว่า คุณต้องดำเนินการตรวจสอบความเรียบร้อยให้ถี่ถ้วน คุณควรจะหาเวลากลับไปสำรวจอสังหาริมทรัพย์นั้นๆ ดูสักครั้ง ไม่ใช่เพียงการสำรวจทางกายภาพ (เช่น บ้านสกปรกรกร้าง หรือที่ดินกลายเป็นป่าเขา…) หากแต่รวมถึงในแง่กฏหมาย (เช่น ไม่ตกอยู่ภายใต้การครอบครองปรปักษ์ หรือมีภาษีโรงเรือนค้างชำระ) ตรวจสอบเอกสารที่ดินและสำนักทะเบียนให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นมาในระหว่างขั้นตอนธุรกรรมซื้อขาย
-กำหนดแนวทาง
มันไม่ได้มีวิธีการตายตัวสำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์หนึ่งๆ ทั้งหมด มันขึ้นกับว่า สินทรัพย์นั้นของคุณมีลักษณะ คุณสมบัติ และข้อดีโดดเด่นอย่างไร เพราะแม้ว่าการประกาศขายบ้านผ่านเว็บไซต์จะเป็นช่องทางหนึ่งที่ดี (เช่น Dotproperty.co.th) แต่ถ้าคุณคิดว่าการปักป้ายประกาศกันแบบเรียบๆ หรือติดต่อนายหน้าท้องถิ่นจะช่วยให้ทุกสิ่งเสร็จสิ้นได้ดีกว่า มันก็ยากที่จะบอก เพราะอสังหาริมทรัพย์ที่แตกต่าง ในวาระที่แตกต่าง วิธีการที่ใช้ก็ย่อมแตกต่างกัน
-คอยติดตามผล
อสังหาริมทรัพย์ทางไกลคือปัญหาใหญ่สำหรับการติดตามวัดผล (เพราะอย่างที่กล่าวไปก่อนหน้า คุณเองก็แทบจะลืมไปแล้วว่ามีมันอยู่…) แต่นั่นไม่ได้เป็นเหตุผลที่คุณจะปล่อยปละละเลย การประกาศขายแล้วทิ้งไว้เฉยๆ โดยไม่ติดตามผลย่อมไม่ทำให้ไปถึงปลายทางที่ต้องการ และถ้าคุณคิดจะปิดการขายนี้ให้สำเร็จจริงๆ คุณต้องขยันเช็คเป็นระยะๆ (และ/หรือ ให้นายหน้าคอยส่งข่าวมาเป็นระยะๆ)
Credits: Avention.com
-บริการหลังการขาย
เมื่อได้ผู้ซื้อ ทำสัญญา และปิดการขายได้เงินมาตามต้องการแล้ว การบริการหลังการขายเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่นการให้คำแนะนำด้านสถานที่ และข้อมูลของอสังหาริมทรัพย์ในระยะเวลาต่อมาอีกนิด แม้ไม่ได้เป็นข้อบังคับ แต่เป็นสิ่งที่ควรมี เพราะนอกจากจะเป็นการ Aftercheck ว่าทุกสิ่งเป็นไปตามที่ต้องการแล้ว ถ้ามีปัญหาใดๆ เกิดขึ้น คุณจะได้เริ่มแก้ไขมันซะก่อนที่จะขยายตัวกลายเป็นสิ่งตามมากวนใจคุณในภายหลัง
Credits: aslanidisestate.com
การขายอสังหาฯ นั้นไม่ใช่งานง่าย โดยเฉพาะกับอสังหาฯ แบบไกลปืนเที่ยงนั้นก็ยิ่งทวีความยากขึ้นไป แต่ขอให้จำไว้ว่า ผู้ซื้อนั้น มีอยู่ทุกที่ โดยไม่เกี่ยงว่าสินทรัพย์ที่คุณมี จะเป็นสมบัติจากเจ้าคุณปู่กี่ชั่วอายุคน มันขึ้นกับว่าคุณสร้างเงื่อนไขให้สินทรัพย์ของคุณอยู่ในฐานะที่สามารถพบเจอกับพวกเขาได้มากน้อยแค่ไหน และเลือกใช้วิธีการกับอุปกรณ์ได้ถูกประเภทเพียงใด