DotProperty.co.th

งานวิจัยถวาย ในหลวง ร.9 นำสังคมพ้นภัย ไขปมเศรษฐกิจ

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง,ในหลวง ร.9,ในหลวง รัชกาลที่9

เพราะ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” และ “ทฤษฎีใหม่” ของ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร” ในหลวง ร.9 ได้พระราชทานแนวพระราชดำริในการจัดการครัวเรือน ชุมชน ให้กับประชาชนคนไทยได้นำไปปรับใช้ เพื่อยกระดับชีวิตที่ดีขึ้น

ถือเป็นรากฐานสำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และประยุกต์ใช้ได้เห็นผลจริง จากชุมชนเล็ก ๆ ที่พึ่งพาตนเองได้ เกิดเป็นความเข้มแข็ง จนสามารถพัฒนาต่อยอด เติบโต ขยายผล สู่การแข่งขันตามแนวเศรษฐกิจยุคใหม่ระดับโลกได้ และเพื่อเป็นการสืบสานแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ร่วมกับ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”, “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” และ “มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” จึงได้มีการเปิดผลการวิจัยแนวทางการขับเคลื่อนแนวพระราชดำริ เพื่อสร้างความอยู่ดีมีสุขแก่ประชาชน ภายใต้ชื่อ “ร่วมวิจัยถวายพระองค์” โดยมี “ดร.นฤมล อรุโณทัย” จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงผลวิจัยเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียงในบริบทของชนพื้นเมือง

กรณีศึกษาชาวเลมอแกน จ.พังงา และชาวกะเหรี่ยงโผล่วจ.กาญจนบุรี”, “รศ.จุฑาทิพย์ ภัทราวาท” มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แถลงผลวิจัยเรื่อง “3 ขั้นตอนเรียนรู้จากสหกรณ์สู่ทฤษฎีใหม่” และ “ผศ.ดร.อรพรรณ คงมาลัย” มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงผลวิจัยเรื่อง “การรวมกลุ่มอย่างเข้มแข็งเพื่อการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างยั่งยืน”

เศรษฐกิจพอเพียงกับชนพื้นเมือง

“ดร.นฤมล” กล่าวว่า แต่เดิมนั้นกลุ่มชนพื้นเมืองชาวเลมอแกน และชาวกะเหรี่ยงโผล่วเคยมีวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี ที่นิยามได้ว่าเป็นเศรษฐกิจพอเพียง เอื้อต่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ดูแลรักษาป่าไม้และทะเล แต่ในปัจจุบันทั้ง 2 ชุมชนกลับหันเข้าสู่เศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาตลาด และระบบของเงินตรา ทำให้สภาพความพอเพียงแปรเปลี่ยนไปเป็นหนี้สิน ตลอดจนการบริโภคที่เน้นกระแสสังคมเป็นหลัก

“จากการศึกษาพบว่า สภาวะเปลี่ยนผ่านของชุมชนเกิดจากปัจจัยเร่งทั้งภายใน ทั้งจากการถูกผลักดันเข้าสู่ระบบตลาด และการขาดโอกาสและทางเลือก ขณะที่ปัจจัยภายนอก คือกระแสการพัฒนาแบบทุนนิยม สังคมบริโภค-วัตถุนิยม ระบบการศึกษาเน้นตลาดแรงงาน การขาดวิสัยทัศน์เรื่องคุณค่าวัฒนธรรมดั้งเดิม ที่สำคัญอคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ว่าล้าหลัง ยากจน”

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ชาวพื้นเมืองละทิ้งวิถีดั้งเดิม ชาวเลมอแกนที่อยู่กับเกาะและสิ่งแวดล้อมชายฝั่ง และชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่อยู่กับป่า เริ่มมีหนี้สินและหันมาหาวิถีบริโภคมากขึ้น แม้ว่าบางชุมชนเริ่มมีกลุ่มเพื่อการบริหารจัดการ และหวนเข้าสู่การพึ่งตนเองได้มากขึ้น แต่เงื่อนไขที่มาจากสังคมใหญ่ และนโยบายรัฐมุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจเข้ามากระทบกับชุมชนอย่างต่อเนื่อง

“ฉะนั้นแล้ว เงื่อนไขความรู้และคุณธรรมนั้นไม่ได้จำกัดวงอยู่ในระดับชุมชนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงนโยบายระยะยาวของรัฐ และการผลิตเชิงพาณิชย์จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน เพื่อให้ชุมชนพื้นเมือง เช่นทั้ง 2 ชุมชนนี้ได้รักษาและฟื้นฟูรากเหง้าทางวัฒนธรรมที่มีฐานคิดแบบเศรษฐกิจพอเพียงเป็นทุนเดิม”

3 ขั้นตอนจากสหกรณ์สู่ทฤษฎีใหม่

“รศ.จุฑาทิพย์” กล่าวว่า การวิจัยเรื่อง 3 ขั้นตอน เรียนรู้จากสหกรณ์สู่ทฤษฎีใหม่ ถือเป็นผลงานวิจัยตามศาสตร์พระราชา โดยทั้ง 3 ขั้นตอนนั้น ถือเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญที่นำมาสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ทำให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดย 3 ขั้นตอนดังกล่าวประกอบด้วย

1.ยกระดับสมรรถนะ 3 มิติ แก่ปัจเจกบุคคล เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงในบริบทโลกใหม่ ทั้งเรื่องการปลุกจิตสำนึก การปรับวิธีคิด และการเพิ่มพูนทักษะความรู้

2.ยกระดับขีดความสามารถกลุ่มหรือสหกรณ์ เพื่อเป็นเครื่องมือของประชาชนในการแก้ไขปัญหาอาชีพ และยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ บนหลักการพึ่งพาและร่วมมือกัน

3.การเชื่อมโยงเครือข่าย ภายใต้ห่วงโซ่คุณค่า เพื่อยกระดับมูลค่าเพิ่ม และนำไปสู่การสร้างสรรค์พื้นที่เศรษฐกิจแนวใหม่ ใส่ใจการค้าที่เป็นธรรม ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญ เพราะจะแก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ที่สำคัญสร้างโอกาสการตลาดใหม่

“ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ “สามพรานโมเดล” ที่น้อมนำศาสตร์พระราชามาใช้ในการพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นรูปแบบธุรกิจชุมชนที่มีการเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ทำให้เห็นแนวปฏิบัติที่ดีของภาครัฐ เอกชน ชุมชน และภาควิชาการ ที่เข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนาชุมชนสู่การเป็นสังคมเกษตรอินทรีย์ และทำให้เกิดการค้าที่เป็นธรรม”

อีกทั้ง “คิชฌกูฏโมเดล” ที่เป็นสหกรณ์ที่ก้าวตามทฤษฎีใหม่ 3 ขั้นตอน เป็นต้นแบบธุรกิจสหกรณ์ที่สามารถแก้ปัญหาราคาผลไม้ตกต่ำได้อย่างยั่งยืน

เศรษฐกิจพอเพียงสู่ความยั่งยืน

“ผศ.ดร.อรพรรณ” กล่าวว่า จากการศึกษาแนวพระราชดำริของในหลวง ร.9 และการลงพื้นที่ศึกษาการพัฒนาในชุมชนทั่วประเทศ พบว่า แนวปฏิบัติในการนำเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ไปสู่การพัฒนาพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืนได้นั้น มีลำดับขั้นตอน 3 ขั้น

โดยขั้นที่ 1 ครัวเรือนต้องพึ่งพาตนเองได้มีผลผลิตพอกินตลอดปี มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่รายจ่ายและหนี้สินลดลง จะต้องบริหารจัดการน้ำและป่าไม้ให้ได้ประโยชน์ตลอดปี ทำเกษตรผสมผสานเพื่อให้มีผลผลิตตลอดทั้งปี และการบริหารจัดการที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ขั้นที่ 2 การรวมกลุ่มเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในชุมชนรูปแบบต่างๆ ทั้งกลุ่มอาชีพ วิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์ และจะต้องมีการดูแลความเป็นอยู่ของสมาชิก พัฒนาการผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาด และต้องให้ความรู้ใหม่ ๆ แก่สมาชิกอย่างต่อเนื่อง

ส่วนขั้นที่ 3 เชื่อมโยงกับภายนอก เพื่อนำองค์ความรู้ใหม่ เทคโนโลยีใหม่ และเงินทุนมาต่อยอดให้เกิดความยั่งยืน โดยเฉพาะการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้า การสร้างแบรนด์ที่เป็นเอกลักษณ์ รวมถึงการเชื่อมโยงกับหน่วยงานภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญ แสวงหาความร่วมมือจากองค์กรภายนอกชุมชน

นอกจากนี้ยังมีบันได 7 ขั้นที่จะทำให้เกิดการรวมกลุ่มอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 1.การประเมินความพร้อมของกลุ่ม 2.การสร้างความเข้าใจในสิทธิหน้าที่และประโยชน์ของสมาชิก 3.พัฒนาโมเดลธุรกิจและระบบการจัดการกลุ่มให้ทันสมัย 4.เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต 5.กระตุ้นการมีส่วนร่วมของสมาชิก 6.ส่งเสริมการใช้ฐานข้อมูลและองค์ความรู้ประเมินผลและเพิ่มประสิทธิภาพ และ 7.สร้างทักษะการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานให้ตรงจุดสำคัญและต่อเนื่องต่อไป

อันเป็นงานวิจัยที่สะท้อนให้เห็นแนวทางการขับเคลื่อนแนวพระราชดำริของ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร” เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และสร้างความอยู่ดีมีสุขให้แก่ประชาชนไทยอย่างยั่งยืนต่อไป

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก prachachat.net

ต้องการซื้อ-เช่ !!!คอนโดมือสอง บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ที่ดินทั่วไทยมากกว่า 300,000 รายการคลิ๊กที่นี่

ลงประกาศขาย-ให้เช่า ฟรี !!! คอนโดมือสอง บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ที่ดินกับ Dot Property ขายง่าย ขายไว ไม่มีค่าใช้จ่ายลงประกาศเลย