จับตา ราคาที่ดิน 2559 พุ่ง ทำเลไหน? มาแรง!!!

กรมธนารักษ์ลุยปรับราคาประเมินที่ดินใหม่ทั่วไทย 32 ล้านโฉนดโดย ประกาศใช้ 1 ม.ค. 59 นี้ รับนโยบายจัดเก็บภาษีที่ดินฯ เผยราคาที่ดินทั่วประเทศขยับขึ้น 10-15% แนวรถไฟฟ้าในเมืองฮอต“สีลม” ครองแชมป์แพงสุด แตะ 9 แสน ถึง 1 ล้านบาท/ตร.ว. ที่ดินหัวเมืองใหญ่ “ภูเก็ต-เชียงใหม่-โคราช-ขอนแก่น” แข่งกันพุ่งขึ้น พื้นที่เขต ศก.พิเศษรับอานิสงส์เต็ม ๆ

กรมธนารักษ์จะประกาศราคาประเมินที่ดินฉบับใหม่ที่จะใช้ในอีก 4 ปีข้างหน้า รอบบัญชี 2559-2562 แม้รัฐบาลจะชะลอร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. …ออกไป ตามเป้าหมายมีแผนจะประเมินที่ดินเป็นรายแปลงให้ครบ 32 ล้านแปลง จากปัจจุบันทำไปแล้ว 8 ล้านแปลง โดยจะเร่งให้ครบ 100% ภายใน 1 ปี ซึ่งอาจไม่ทัน เพราะงบประมาณปี 2558 ตั้งไว้เพียง 200 ล้านบาท และไปตั้งในปีงบฯ 2559 อีกกว่า 2,000 ล้านบาท แต่ถ้าให้เสร็จปีนี้ต้องขอใช้งบฯกลาง หรือแปลงงบฯรายการอื่นมาใช้ สำหรับราคาประเมินที่ดินรอบนี้

ในส่วนกลางราคาไม่น่าขยับขึ้นมากนัก เนื่องจากประเมินเป็นรายแปลงอยู่แล้ว แต่ต่างจังหวัดจะปรับขึ้นพอสมควร เมื่อมีการประเมินเป็นรายแปลง จากเดิมประเมินรายบล็อก ซึ่งได้ราคาประเมินออกมาค่อนข้างต่ำ และการประเมินเป็นรายแปลงจะได้ราคาใกล้เคียงความจริงมากกว่าด้วย แม้นายกรัฐมนตรีจะให้ชะลอภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกไป ก็ไม่เกี่ยวกับการทำงานของกรมธนารักษ์ เนื่องจากกรมมีหน้าที่ประเมินราคาที่ดินให้สะท้อนความเป็นจริง เพื่อช่วยให้สามารถเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เป็นฐานข้อมูลสำหรับการซื้อขายที่ดิน และให้สถาบันการเงินนำไปใช้ 1 ม.ค. 59 ปรับราคาประเมินใหม่

แหล่งข่าวจากกรมธนารักษ์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่ากรมอยู่ระหว่างเร่งรัดสำรวจราคาที่ดินทั่วประเทศนำมาประเมินราคาใหม่ให้สอดรับกับสถานการณ์และสภาพพื้นที่ในปัจจุบัน โดยบางส่วนจะทยอยแล้วเสร็จและนำเสนอให้คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาราคาได้ตั้งแต่เดือน มิ.ย.นี้เป็นต้นไป

“การประเมินราคาที่ดินใหม่ชะลอไม่ได้ ต้องเร่งประเมินแบบรายแปลงทั่วประเทศ 32 ล้านแปลงให้เสร็จในปีครึ่ง ตามที่รัฐบาลให้โจทย์มา เพราะต้องเตรียมพร้อมในการนำมาประเมินเพื่อเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอนาคต ส่วนภาษีจะบังคับใช้หรือไม่เป็นเรื่องของรัฐบาล”

ทั้งนี้ ในอนาคตจะมีการประเมินมูลค่าทรัพย์สินเป็นรายโฉนดว่า ผู้ถือครองแต่ละคนจะต้องเสียภาษีเท่าใด เจ้าของที่ดินเป็นใครบ้าง โดยนำราคาประเมินที่ดินเป็นรายแปลงมาเป็นฐานคำนวณการเสียภาษี ภายในสิ้นปี 2558 นี้ คาดว่าจะทำราคาประเมินที่ดินรายแปลงได้ 12 ล้านแปลง จากปัจจุบันอยู่ที่ 8 ล้านแปลง ส่วนใหญ่เป็นที่ดินต่างจังหวัด เนื่องจากในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ประเมินเป็นรายแปลงหมดแล้ว อีก 20 ล้านแปลงต้องดำเนินการให้เสร็จในปี 2560

ทำเลรถไฟฟ้ายังแพงสุด แหล่งข่าวกล่าวว่า ภาพรวมราคาประเมินที่ดินทั่วประเทศฉบับใหม่จะปรับสูงขึ้น เมื่อเทียบกับราคาประเมินในรอบบัญชีปัจจุบัน ปี 2555-2558 โดยจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอย่างน้อย 10-15% ขึ้นไป จากรอบบัญชีปัจจุบันซึ่งราคาที่ดินทั่วประเทศปรับเพิ่มขึ้น 21.34% จากรอบบัญชีก่อนหน้านี้ แยกเป็นพื้นที่ กทม.ปรับขึ้น 17.13% และภูมิภาค 21.40%

โดยพื้นที่ราคาประเมินปรับขึ้น อาทิ แนวรถไฟฟ้าทั้งสายเดิน เช่น ย่านสีลม บางแปลงปรับขึ้นถึงตารางวาละ 9 แสนบาท ถึง 1 ล้านบาท จากปัจจุบันราคาประเมินอยู่ที่ 8.5 แสนบาท/ตารางวา

ขณะที่แปลงที่ดินในเส้นทางรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้าง เช่น สายสีเขียว แบริ่ง-สมุทรปราการ สีม่วงช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ ซึ่งเจริญเติบโตมากขึ้นก็ปรับสูงขึ้นเช่นเดียวกัน นอกจากนี้มีสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ ซึ่งราคาซื้อขายในตลาดปรับขึ้นไปล่วงหน้าแล้ว เพราะการจัดทำราคาประเมินกรมจะเก็บราคาซื้อขายย้อนหลัง 2 ปี ที่แจ้งจดทะเบียนกับกรมที่ดินเป็นหลัก โดยเฉลี่ยคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10-20% ขึ้นอยู่กับพื้นที่

สำหรับพื้นที่ใจกลางเมืองส่วนใหญ่ราคาที่ดินชนเพดานแล้ว ขณะที่ที่ดินหลายจังหวัดในพื้นที่ภูมิภาค จุดที่ราคาประเมินการปรับเพิ่มขึ้น เช่น จังหวัดหัวเมืองหลัก เมืองใหญ่ เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น เป็นต้น รวมถึงจังหวัดติดชายแดนที่จะมีการพัฒนาเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ไม่ว่าจะเป็น จ.ตาก มุกดาหาร ตราด สระแก้ว สงขลา หนองคาย

เปิดทำเลแชมป์ที่ดินราคาแพงสุด แหล่งข่าวกล่าวว่า ในส่วนของราคาประเมินที่ดินรอบบัญชี 2555-2558 บริเวณที่ราคาประเมินสูงสุดของประเทศอยู่ใน กทม. ได้แก่

ย่านถนนสีลม (แยกศาลาแดง-แยกนราธิวาส) ราคา 8.5 แสนบาท/ตารางวา

ถนนราชดำริ (แยกราชประสงค์-คลองแสนแสบ) ตารางวาละ 8 แสนบาท

ถนนพระรามที่ 1 (แยกปทุมวัน-แยกราชประสงค์) ตารางวาละ 8 แสนบาท

ถนนเพลินจิต ตลอดสาย ตารางวาละ 8 แสนบาท

ถนนราชดำริ (แยกศาลาแดง-แยกราชประสงค์) ตารางวาละ 7 แสนบาท

ถนนเยาวราช ตารางวาละ 7 แสนบาทตลอดทั้งสาย

ส่วนต่างจังหวัด จุดที่ราคาประเมินที่ดินสูงสุดของแต่ละภาค ดังนี้ ภาคใต้ : อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา บนถนนนิพัทธ์อุทิศ 3 ถนนประชาธิปัตย์ และถนนเสน่หานุสรณ์ ตารางวาละ 4 แสนบาท

ภาคเหนือ : ถนนวิชยานนท์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ตารางวาละ 2.5 แสนบาท

ภาคอีสาน : ถนนศรีจันทร์ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ตารางวาละ 2 แสนบาท

ภาคกลาง : ถนนงามวงศ์วาน อ.เมือง จ.นนทบุรี, ถนนศรีสมุทร ถนนประโคนชัย ถนนด่านเก่า และถนนกายสิทธิ์ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ตารางวาละ 1.5 แสนบาท

ภาคตะวันออก : ถนนเลียบหาดพัทยา อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ตารางวาละ 1.5 แสนบาท

ภาคตะวันตก : ติดชายทะเลหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตารางวาละ 1.5 แสนบาท

เมื่อถามว่าร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯจะออกมาประกาศใช้ได้ทันรัฐบาลนี้หรือไม่ มันมีกติกาอยู่ว่าเงินที่เก็บมาแล้วจะทำอะไรบ้าง มีวิธีเดียวคือต้องเอางบฯกลางเพิ่มเข้าไป ฉะนั้นต้องไปดูข้อกฎหมายว่าสามารถนำมาใช้ได้หรือไม่ แต่จำนวนเงินภาษีก็ไม่ได้มากมายอะไร ชี้ภาษีที่ดินส่งผลดีต่ออสังหาฯ