แต่ไหนแต่ไร เรามักจะได้ยินเรื่องราวของ ‘แก๊งตกทอง’ อยู่เป็นประจำ นับตั้งแต่โบราณกาลมาจนถึงปัจจุบัน และน่าแปลกทีเดียว ที่แม้จะมีการอธิบายกระบวนการอย่างละเอียดเป็นขั้นเป็นตอน แต่ก็มักจะมีคนตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพเหล่านี้อยู่อย่างสม่ำเสมอ ไม่เปลี่ยนแปลง
Credits: dreamlawyers.com.au
ในแง่นี้ เราจะไม่กล่าวโทษใครว่าความโลภเข้าบังตา หรือมองข้ามความปลอดภัยทางทรัพย์สิน เพราะลงว่าถ้าคนจะตั้งใจจะมาหลอก มันก็ย่อมหาวิธีการได้อยู่วันยังค่ำ และอสังหาริมทรัพย์ ก็เป็นอีกหนึ่งแวดวงที่มีความเสี่ยงต่อเหล่าแก๊งฉ้อโกงนี้มาโดยตลอด เช่นนั้นแล้ว มันอาจจะดี ถ้าเราจะจับสัญญาณความผิดปกติของมิจฉาชีพเหล่านี้ ก่อนที่จะตกเป็นเหยื่อรายต่อไป
//ก่อนการซื้อขาย ดูให้แน่ใจ ว่าลูกค้าที่คิดว่าใช่นั้นไม่ได้ ‘มั่ว’
การซื้อขายบ้านในประเทศไทย โดยมากแล้วมักจะกระทำกันตรงๆ ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายโดยไม่ผ่านนายหน้าอสังหาฯ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะได้พบกับผู้ซื้อ ‘สายมั่ว’ ที่เป็นมิจฉาชีพแฝงตัวมาค่อนข้างสูง และมักจะมีให้เห็นอยู่เสมอๆ ไม่ว่าจะที่ไทย หรือต่างประเทศ ดังนั้น ขอให้จำหลักสำคัญสำหรับการซื้อขายอสังหาฯ เอาไว้ดังต่อไปนี้
Credits: indonesiaexpat.biz
-การพบปะหน้าค่าตาจัดได้ว่าเป็นข้อบังคับพื้นฐานของการซื้อขาย ยิ่งอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องมีการเดินดูให้เห็นจริงด้วยแล้วนั้น เป็นอะไรที่สำคัญมาก
-ประเมินอสังหาฯ ที่คุณมีเอาไว้อยู่เสมอ ว่าต้นทุน บวกกำไรแท้จริงนั้นเป็นเท่าใด และขอให้ยืนพื้นจุดนั้นเอาไว้เป็นหลักสำคัญ เพราะแม้อสังหาริมทรัพย์จะมีแนวโน้มที่ราคาจะขึ้นอยู่ตลอดเวลา แต่มันจะไม่ ‘กระโดด’ พุ่งทะยานแบบผิดปกติจากการเสนอโดยใครก็ไม่รู้แน่ๆ
-ขนาดบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน เลขบัญชีธนาคาร คุณยังต้องเซ็นกำกับทุกครั้งเวลาทำธุรกรรมใดๆ ถ้าหากผู้ซื้อเปิดเผยมันซะสิ้นไส้ จงกาหัวเอาไว้ ว่าอะไรบางอย่างมันเริ่มจะ ‘ไม่ใช่’ แน่ๆ
//นักลงทุน ‘กำมะลอ’
จากตัวอย่างที่แล้ว ถ้าการซื้อขายปกติดูจะวุ่นวายปวดหัวจากกลุ่มมิจฉาชีพหลอกลวงแล้ว คุณอาจจะได้หงายเมื่อเจอกรณีที่ต้องรับมือกับ ‘นักลงทุนกำมะลอ’ ที่ภายนอกดูดี มีความน่าเชื่อถือ แต่กลับพาคุณเข้าสู่วังวนของสัญญาอันซับซ้อนเกินความจำเป็น และผูกคุณเข้ากับเงื่อนไขที่ไม่มีทางออก (จากดอกจันตัวกะจิริด…) ในขณะที่นักลงทุนผู้นั้น สามารถลอยนวลตีกินเปล่าได้สบายๆ โดยไม่เสียอะไรเลย
เพื่อความสบายใจว่าคุณจะไม่ต้องมาพบปะกับนักลงทุนกำมะลอเหล่านี้ (ไม่ว่าตอนนี้ หรือตอนไหน…) จดจำสัญญาณเหล่านี้ให้ขึ้นใจ…
Credits: nigeriarealestatehub.com
-นักลงทุนที่ดี มีวิธีการที่เชื่อถือได้ในการประกาศรับซื้ออสังหาริมทรัพย์ และป้ายโฆษณาตามเสาไฟฟ้า ก็ไม่ใช่อะไรที่น่าเชื่อถือเลยแม้แต่นิดเดียว
-นักลงทุนที่มีความน่าเชื่อถือ มีช่องทางการติดต่อที่มีความเป็นมืออาชีพ ตั้งแต่ E-Mail Address, การพูดคุย จวบจนการจรดปากกาเซ็นสัญญา ซึ่งการมีทนายความที่ไว้ใจได้เป็นคนกลางช่วยรับประกันความปลอดภัยได้ในระดับหนึ่ง
-นักลงทุนที่น่าเชื่อถือ ต้องสามารถตรวจสอบผลงานที่ผ่านมา และมีแหล่งอ้างอิงที่ชัดเจน การบอกเพียงปากเปล่าไม่ได้รับประกันฐานะแต่อย่างใด
-สำคัญที่สุดคือ ใครที่คิดจะลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ต้องมี ‘เงินทุน’ โดยเฉพาะนักลงทุน ที่วนเวียนอยู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ การไม่สามารถตอบรายละเอียดทางการเงินที่ตรวจสอบได้ ถือเป็นสัญญาณอันตรายอย่างหนึ่ง
//จับให้ได้ ถ้านายแน่จริง
ที่กล่าวไปทั้งหมดข้างต้น อาจจะไม่ใช่ทุกสิ่งของวิธีการที่มิจฉาชีพจะใช้สำหรับการหลอกลวงในตลาดอสังหาริมทรัพย์ แต่อย่างน้อยที่สุด การมี ‘ธง’ ปักกำกับเอาไว้ในใจ ก็น่าจะช่วยให้คุณแคล้วคลาดจากเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ที่จะก่อให้เกิดความสูญเสีย ไม่ว่าจะด้วยทรัพย์สิน หรือเวลาก็ตาม …
Credits: news.cyprus-property-buyers.com