ร.ฟ.ท.เผย ซีพีปะทะบีทีเอส ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติประมูลรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน เปิดซอง 2 (เทคนิค) ให้คะแนน คาดใช้เวลา 3 สัปดาห์ เผยเกณฑ์ซอง 2 ยื่นรายละเอียด 6 หมวด คะแนนแต่ละหมวดไม่น้อยกว่า 75% และรวมทุกหมวดต้องไม่น้อยกว่า 80% จึงจะผ่านการประเมิน
ซีพีปะทะบีทีเอส ใครจะชนะประมูล รถไฟเชื่อม3สนามบิน
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า จากที่ ร.ฟ.ท. เปิดให้เอกชนยื่นเอกสารประกวดราคา โครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กิโลเมตร (กม.) มูลค่า 224,544.36 ล้านบาท เมื่อวันที่ 12 พ.ย. โดยมี 2 กลุ่ม คือ 1.กิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) 2.กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ประเทศไทย), บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD, China Railway Construction Corporation Limited, บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน), บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM
โดยคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้พิจารณาข้อเสนอซองที่ 1 (คุณสมบัติ) ปรากฏว่า ผ่านคุณสมบัติทั้ง 2 ราย ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้แจ้งผลเบื้องต้นไปยังเอกชนทั้ง 2 กลุ่มแล้ว และขณะนี้เป็นขั้นตอนการเปิดข้อเสนอซองที่ 2 (เทคนิค) พิจารณาช่วงวันที่ 20 พ.ย.-11 ธ.ค.2561 หรือประมาณ 3 สัปดาห์ และพิจารณาข้อเสนอซองที่ 3 (การเงิน) วันที่ 12-17 ธ.ค.2561 ซึ่งทุกอย่างยังอยู่ในแผนงาน โดยคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในช่วงวันที่ 18-28 ม.ค.2562 เป้าหมายลงนามสัญญาภายในวันที่ 31 ม.ค.2562
ข้อเสนอหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือก
สำหรับหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกในซองที่ 1 (คุณสมบัติ) จะตรวจสอบความครบถ้วนและความถูกต้อง โดยประเมินแบบผ่าน ไม่ผ่าน โดยหากผ่านซองที่ 1 จะได้รับการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 (เทคนิค) ซึ่งจะเป็นการ ประเมินแบบให้คะแนน แบ่งเป็น 6 หมวด ผู้ยื่นข้อเสนอต้องยื่นครบทุกหมวด หากไม่ยื่นหมวดใดหมวดหนึ่ง ร.ฟ.ท.จะ ถือว่าไม่ผ่านคุณสมบัติ โดยจะต้องได้คะแนนแต่ละหมวดไม่น้อยกว่า 75% และคะแนนรวมทุกหมวดต้องไม่น้อยกว่า 80% จึงจะผ่านการประเมินซองที่ 2 และได้รับการพิจารณาในซองที่ 3 (ด้านการลงทุนและผลตอบแทน) ต่อไป
ส่วนการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 3 ข้อเสนอต้องมีความครบถ้วนและถูกต้องของเอกสารที่กำหนด ซึ่งครม. อนุมัติกรอบวงเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการ มูลค่าปัจจุบันไม่เกิน 119,425,750,000 บาท โดยเงินที่รัฐร่วมลงทุน ในโครงการนี้ จะเท่ากับผลต่างระหว่าง จำนวนเงินที่เอกชนขอรับการสนับสนุนจากรัฐกับจำนวนเงินที่รัฐได้รับจากเอกชน ซึ่งให้เอกชนระบุจำนวนเงินที่ขอรับการสนับสนุนจากรัฐในจำนวนที่เท่ากับทุกปี เป็นเวลา 10 ปี หลังจากเริ่มการให้ บริการโครงการรถไฟ ส่วนจำนวนเงินที่รัฐได้รับจากเอกชน ให้ระบุเป็นจำนวนเงินที่เท่ากับทุกปี เป็นเวลา 10 ปี หลังจาก เริ่มการให้บริการโครงการรถไฟเช่นกัน โดยผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องเสนอวงเงินที่ให้รัฐร่วมลงทุนในโครงการต่ำที่สุด ทั้งนี้ หากข้อเสนอซองที่ 3 สูงกว่าที่มติ ครม. อนุมัติ จะต้องมีการเจรจา กรณีที่ข้อเสนอซองที่ 3 เท่ากัน คณะกรรมการคัดเลือกจะนำผลคะแนนซองที่ 2 มาเปรียบเทียบ และพิจารณาผู้ที่ได้รับคะแนนซองที่ 2 สูงกว่า
ที่มา : ผู้จัดการรายวัน 360 องศา