ไม่บ่อยครั้งนักที่ “ปรีชา เอกคุณากูล” กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น ผู้บริหารโครงการศูนย์การค้าและอสังหาริมทรัพย์กลุ่มเซ็นทรัลที่มีมูลค่าทรัพย์สินกว่า 1.68 แสนล้านบาทเมื่อสิ้นไตรมาส 2 ที่ผ่านมาออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าว เมื่อ “ซีพีเอ็น” เผชิญศึกครั้งใหญ่ในรอบ 40 ปี กับการถูกปิดล้อม และส่งผลกระทบอย่างหนัก ไม่ใช่เฉพาะแค่องค์กรของเซ็นทรัลเอง แต่ยังรวมถึงคู่ค้าซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลก จึงเดินหน้าออกมาชี้แจงในทุกข้อกังขา
เซ็นทรัล วิลเลจ ได้รับใบอนุญาตถูกต้อง
“ปรีชา” บอกว่า 3 ประเด็นที่เป็นปัญหา คือ ประเด็นที่ 1 พื้นที่โครงการมีการเชื่อมทางเข้าออกอย่างถูกต้อง ไม่มีการรุกลํ้าที่ดินของภาครัฐ ไม่ได้เป็นที่ราชพัสดุ ลำรางสาธารณะและไม่ได้เป็นที่ดินตาบอด ขอยํ้านะครับ ไม่ใช่ที่ราชพัสดุ ลำรางสาธารณะและไม่ใช่ที่ดินตาบอดที่ดินของโครงการเซ็นทรัล วิลเลจผืนนี้ตั้งอยู่บนที่ดินที่ติดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของ ทอท. ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 เดิมเป็นที่ราชพัสดุ ต่อมากรมทางหลวงได้พัฒนาเป็นทางหลวงแผ่นดิน โดยได้ขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวงแผ่นดินแล้ว จึงมีสถานภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ทำให้ไม่มีสถานะเป็นที่ราชพัสดุตามมาตรา 7 (2) พ.ร.บ. ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2562 และเป็นพื้นที่คนละบริเวณกันกับที่ภาครัฐเวนคืนมาเพื่อสร้างสนามบินที่ ทอท. ดูแล
“โครงการได้รับอนุญาตเชื่อมทางอย่างถูกต้องจากกรมทางหลวง ซึ่งเป็นผู้ซึ่งมีอำนาจเต็มในการอนุมัติการเชื่อมทางแต่เพียงผู้เดียว พื้นที่ทางหลวงหมายเลข 370 หมายรวมถึง เขตทาง และไหล่ทาง ซึ่งติดกับที่ดินของเอกชน 2 ข้างถนน ซึ่งที่ดินของโครงการมีแนวเขตแนบสนิทต่อเนื่องกับเขตทางของ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ดังนั้น ที่ดินของโครงการจึงไม่ใช่ที่ดินตาบอด ที่ดินนี้อยู่บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 และมีป้ายเริ่มต้นและสิ้นสุดอย่างชัดเจน”
ผังเมืองไฟเขียว
ประเด็นที่ 2 บริษัทได้ปฏิบัติตามกฎหมายผังเมืองอย่างเคร่งครัด และได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องในการก่อสร้างในพื้นที่สีเขียว บริเวณ ก1-10 ไม่เกินร้อยละ 10 ของที่ดินพื้นที่สีเขียวบริเวณดังกล่าว โดยโครงการได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายผังเมือง และไม่ได้มีการขอปรับผังเมืองแต่อย่างใด
ประเด็นที่ 3 บริษัทได้ขออนุญาตก่อสร้างในบริเวณพื้นที่เขตปลอดภัยในการเดินอากาศ จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยอย่างถูกต้อง ไม่ได้ละเมิดกฎใดๆ ทั้งด้านความสูง และไม่มีกิจกรรมใดๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานสนามบิน หรือรบกวนการบินแต่อย่างใด โดยแบบมีความสูงที่ถือว่าตํ่ากว่ามาตรฐานที่กำหนด ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) จึงไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับการติดธงแดงตามที่มีการกล่าวอ้าง
“นับจากเริ่มพัฒนาโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ เมื่อ 5 ปีก่อนบริษัททำงานด้วยความเป็นมืออาชีพ และยึดหลักธรรมาภิบาลในการทำงานถูกต้องทุกขั้นตอน มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้มาโดยตลอด”
ไม่เกี่ยวดิวตี้ฟรี
ที่ผ่านมาซีพีเอ็นมุ่งหวังสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ประโยชน์ต่อชุมชนโดยรอบ ทุกโครงการทั้ง 34 ศูนย์การค้าใน 17 จังหวัดที่บริษัทตั้งอยู่ สร้างเศรษฐกิจ การจ้างงาน ยกระดับชุมชน กระจายรายได้สู่ชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่และชุมชน การลักชัวรี เอาต์เลต ถือ เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างศักยภาพ และเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันให้กับประทศไทย ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ดำเนินการมาสร้างความเชื่อมั่น ส่งเสริมให้นักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในเมืองไทย
“ปรีชา” ยํ้าว่าจุดเริ่มของโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ เกิดขึ้นเมื่อ 5 ปีก่อน จึงไม่เกี่ยวข้องกับการประมูลดิวตี้ฟรีที่ผ่านมา และบริษัทยังยืนยันว่า สินค้าที่จำหน่ายในดิวตี้ฟรีจะเป็นคอลเลกชัน ใหม่ แตกต่างกับสินค้าที่ขายในเอาต์เลตจะเป็นสินค้าตกรุ่น คอลเลกชันเก่า ราคาถูก
ฟ้องเรียกค่าเสียหาย
“วันนี้ผู้รับเหมา ช่างตกแต่ง ร้านค้าต่างๆ ได้รับผลกระทบ ไม่สะดวกในการดำเนินงาน แต่บริษัทยังยืนยันว่า จะเปิดให้บริการเซ็นทรัล วิลเลจ ในวันที่ 31 สิงหาคมนี้ตามกำหนดเดิม หากทอท. ยังปิดกั้นทางเข้าออก บริษัทก็เตรียมแผนรองรับแล้ว”
โดยขณะนี้ร้านค้าต่างๆ ทยอยเข้าตกแต่งร้านแล้วกว่า 90% โดยเบื้องต้นในมีร้านแบรนด์ เนมและคีออสต่างๆ รวมถึงร้านอาหาร เปิดให้บริการราว 70% ของร้านค้าทั้งหมดที่มีกว่า 150 ร้านค้า และมีพนักงานกว่า 1,000 คน โดยบริษัทตั้งเป้าหมายที่จะมีลูกค้าทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศเข้ามาจับจ่ายซื้อสินค้ากว่า 2 หมื่นคนต่อวัน ส่งผลให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในศูนย์ราว 3 หมื่นล้านบาทต่อปี
“ปรีชา” ยังบอกในตอนท้ายอีกว่า การเข้ามาปิดพื้นที่โดยพลการ ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง บริษัทเองได้ทำการฟ้องร้องเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดีในที่สุดแล้วการทำแบบนี้ไม่เป็นผลดีกับทุกฝ่าย ยืนยันว่าคงต้องหาข้อยุติที่ถูกต้องตามกระบวนการทางกฎหมาย และบริษัทก็เคารพและอยู่ภายใต้กฎหมายทุกประการ โดยบริษัทได้แจ้งความร้องทุกข์ เพราะการปิดกั้นที่สาธารณะ หรือที่สมบัติของบริษัทเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเป็นการบุกรุก ขณะเดียวกันก็พยายามเจรจาหาแนวทางต่างๆ มีปัญหาอะไรก็มาคุยกัน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อบริษัท หรือเซ็นทรัล วิลเลจ เท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อคู่ค้า บริษัทต่างๆ ด้วย
ที่มา หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3501 ระหว่างวันที่ 1 – 4 กันยายน 2562
ทอท. เพิ่มรปภ. คุมเข้ม เซ็นทรัล วิลเลจ ห้ามรถเข้าออก
เพราะอะไร ทอท. จึงขวาง เซ็นทรัลวิลเลจ